06 กันยายน 2561

ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ สามลักษณะ

เวลาที่เราเห็นผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ เราอาจจะคิดว่าผู้ป่วยเหล่านั้นหายใจไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงผู้ป่วยอาจจะกำลังคุมเครื่องอยู่ก็ได้
ในกรณีให้เครื่องเป็นตัวกำหนด มักจะใช้ในกรณีผู้ป่วยหายใจไม่ได้ คือไม่ได้ปริมาณที่เหมาะสม หรือไม่สามารถกำหนดการหายใจด้วยตัวเอง กรณีนี้เครื่องจะกำหนดอัตราการหายใจ ปริมาณลมเข้าปอด ให้กับผู้ป่วยตามที่คุณหมอตั้งเครื่อง แต่ผู้ป่วยจะได้จริงเท่าไรขึ้นกับสภาพปอดด้วย และหากผู้ป่วยกระตุ้นการหายใจได้เอง ต้องกระตุ้นได้ถึงระดับที่กำหนดเครื่องจะใส่ลมเข้าไปช่วย แต่การันตีขั้นต่ำไม่น้อยไปกว่าที่กำหนด
เช่น ผู้ป่วยดมยาสลบ ผู้ป่วยที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาคลายกล้ามเนื้อในการควบคุมการหายใจให้เป็นไปตามกำหนด บางกรณีผู้ป่วยหายใจเร็วและหอบแต่ไม่มีประสิทธิภาพการหายใจ เราก็ให้แบบนี้
กรณีต่อมาคือผู้ป่วยกำหนด เครื่องมีหน้าที่ช่วยเท่านั้น ผู้ป่วยจะกระตุ้นให้เครื่องทำงานโดยเริ่มการหายใจเมื่อเครื่องรับรู้ถึงการกระตุ้นจากผู้ป่วย เครื่องจะเพิ่มลมให้ในปริมาณที่หมอกำหนดไว้ ถ้าเราต้องการให้ผู้ป่วยหายใจเองมากๆ ก็กำหนดให้เครื่องช่วยน้อย ๆ หลายท่านกังวลว่าหากคนไข้ไม่กระตุ้นเครื่อง หรือแม้แต่ช่วยก็ยังไม่พอ คนไข้จะเหนื่อยไหม ไหวไหม ไม่ต้องกังวลนะครับ เพราะมีระบบ back up ระบบการช่วยสำรองหากหายใจไม่พอ
เรามักจะให้ในกรณีผู้ป่วยหายใจพอได้แล้ว ตื่นดีรู้ตัวดี แค่ช่วยให้สบายขึ้นเล็กน้อย หรือปรับลดจากการควบคุมเต็มที่มาเป็นผู้ป่วยควบคุมเอง
กรณีตรงกลาง คือ ผู้ป่วยออกแรงเองบ้างเครื่องคอยช่วยเหลือบ้าง หมอจะตั้งค่าการหายใจทั้งปริมาณและอัตราการหายใจขั้นต่ำเอาไว้ หากผู้ป่วยสามารถกระตุ้นเอง ให้เครื่องช่วยได้เองมากกว่าอัตราขั้นต่ำ เครื่องก็จะไม่ได้ช่วยไม่ไปบังคับ แต่ถ้าต่ำกว่าที่กำหนดเครื่องจึงจะช่วย
แบบนี้มีใช้น้อยลงนะครับ เพราะจะทำให้การถอดเครื่องช่วยหายใจช้าลง มันต้องลดลงทีละตัวทีละค่า สู้ให้ลองหายใจเองไม่ได้
นั่นคือ สามแบบหลัก ๆ ของเครื่องช่วยหายใจ ปัจจุบันการพัฒนาด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมเครื่องกลก้าวไปไกลมากจนกระทั่งมีโปรแกรมต่างๆ ออกมาใช้มาก เช่นเวลาจะลดการช่วยเหลือจะมีการปรับ หากหายใจได้น้อยลมเข้ามาก หายใจได้มากลมเข้าน้อย หายใจน้อยครั้งเครื่องช่วยเพิ่ม หายใจเร็วเครื่องก็ลดการช่วย เพิ่มแรงดันสูงเป็นพัก ๆ สลับแรงดันต่ำ แบบนี้เป็นต้น
ดังนั้น
การที่ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ ไม่ได้หมายถึงอาการตรีฑูตใกล้เสียชีวิต
การที่ผู้ป่วยใส่เครื่อง ปัจจุบันเราใส่เร็วเพื่อไม่ให้สายเกินแก้
การที่ผู้ป่วยใส่เครื่อง หมายถึงเรากำลังช่วยเหลือบำบัด
วัตถุประสงค์สูงสุดและต้องทำอย่างรวดเร็วด้วย
คือ ถอดเครื่องช่วยหายใจได้อย่างปลอดภัย
คือ ไม่ต้องกลับมาใส่เครื่องช่วยหายใจอีก
คือ ป้องกันอันตรายและผลแทรกซ้อนจากการใส่เครื่อง
การใส่เครื่อง ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม