21 กันยายน 2561

การใช้ยาระบายอย่างพร่ำเพรื่อ ก็มีผลเสีย

การใช้ยาระบายอย่างพร่ำเพรื่อ ก็มีผลเสีย

  ยาระบายมีหลายชนิดหลายแบบ ต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับสาเหตุและสภาพโรคท้องผูก แต่ทว่ายาระบายก็เป็นเพียงการรักษาตามอาการและปลายเหตุ ทุกครั้งที่พบปัญหาท้องผูกต้องหาสาเหตุและรักษาสาเหตุด้วยเสมอ
  การใช้ยาระบาย หรือยาอื่น ๆ ที่อาจมีส่วนผสมที่ทำให้ถ่ายเหลว เป็นสาเหตุอันหนึ่งของการถ่ายเรื้อรัง ที่ต้องพึงนึกไว้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่สามารถหาซื้อยาต่าง ๆ ได้ง่าย หรือบางคนก็ใช้ยาระบายผิดวัตถุประสงค์โดยเฉพาะใช้เพื่อลดน้ำหนัก

  การใช้ยาระบายอย่างพร่ำเพรื่อมีผลเสียที่ชัดเจนต่อระบบน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ส่วนนี้จะทำให้น้ำหนักลดลง (เพราะเสียน้ำเป็นหลัก) อาหารและกากอาหารที่เคลื่อนที่เร็ว ๆ ผ่านลำไส้ไม่ได้ส่งผลต่อการดูดซึมอาหารมากนัก และกว่าจะน้ำหนักลดเพราะดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง ผู้ที่ใช้ยาระบายคงขาดน้ำจนแย่มากไปก่อนได้

  กลุ่มที่ใช้ยาระบายมาก ๆ เช่น กลุ่มผู้มีความผิดปกติทางการกิน กลัวอ้วน อันนี้เป็นโรคทางจิตเวชครับ หรือในผู้สูงวัยที่ใช้ยาหลายชนิดที่ส่งผลลดการเคลื่อนที่ลำไส้ หรือผู้ที่เป็นโรคทางระบบประสาท

  บ่อยครั้งหากผู้ป่วยที่ใช้ยาระบายพร่ำเพรื่อ จะได้รับการส่งตรวจคัดกรองหามะเร็งลำไส้ บางคนส่องกล้องลำไส้จะพบสีของเยื่อบุลำไส้เป็นจุดสีดำ เหมือนผิวของเสือดาว เรียกว่า Melanosis coli เกิดจากเซลล์มาโครฟาจที่คอยจับกินเชื้อโรคใต้เยื่อบุลำไส้ จับกินยาระบายในกลุ่ม antraquinone ยากลุ่มนี้จะเพิ่มการบีบตัวลำไส้ ที่นิยมใช้คือ มะขามแขก และยาระบายจากมะขามแขก (senna) หรือยาระบาย bisacodyl
  ไม่ได้เป็นรอยโรคอันตราย และหายได้เมื่อหยุดใช้ยาระบายนะครับ

  อีกภาวะหนึ่งที่ไม่ได้พบนานมากแล้ว เริ่มกลับมาพบอีกครั้งเพราะการใช้ยาระบายพร่ำเพรื่อนี้ คือ ภาวะ Catharic Colon เราเรียกภาวะนี้จากการตรวจภาพถ่ายรังสีและสวนแป้งทางทวารหนัก จากเดิมที่ลำไส้ใหญ่จะมีลักษณะเป็นกระเปาะ และมีการบีบตัว เราพบว่าลักษณะของกระเปาะหายไปและการบีบตัวลดลง  เมื่อการบีบตัวลดลงอาการท้องผูกก็มากขึ้น ผู้ป่วยก็ยิ่งใช้ยาระบายหนักขึ้น วนรอบแบบนี้ไปตลอด สาเหตุเชื่อว่ามีการทำลายกล้ามเนื้อเรียบ และระบบประสาทของลำไส้ หากมีอาการมาก ๆ ต้องผ่าตัดลำไส้ส่วนนั้นทิ้งและตัดต่อใหม่ครับ

คิดก่อนใช้ ภัยไม่เกิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม