26 พฤษภาคม 2567

คำแนะนำการรักษาไขมันในเลือดสูงปี 2567 แบบฉบับที่เราทุกคนควรรู้

 คำแนะนำการรักษาไขมันในเลือดสูงปี 2567 แบบฉบับที่เราทุกคนควรรู้

สรุปสั้น ๆ จากแนวทางการรักษาไขมันในเลือดสูงเดิมคือ การรักษาไขมันในเลือดจะคัดเลือกผู้ที่จำเป็นต้องกินยาตามความเสี่ยงการเกิดโรค ถ้าเสี่ยงมากพอจะใช้ยาไขมันเพื่อลดความเสี่ยง โดยใช้เลือกใช้ขนาดยาตามเกณฑ์ตัวเลข LDL ที่ต้องการจะลดลง และแนะนำให้กินไปตลอดถ้าไม่มีผลแทรกซ้อน
ความเป็นจริงแนวทางแบบนี้ออกมาเกิน 10 ปีแล้วในเรื่องรักษาตามความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกา เอเชีย ออสเตรเลีย ในระยะแรก ๆ ก็ยังมีคนไม่เข้าใจและมีคนคัดค้าน เวลาผ่านมากกว่า 10 ปี การรักษาเริ่มไปในแนวทางนี้ และเราสามารถลดอัตราการตายและอัตราการเกิดโรคหัวใจได้มากมาย
ในปี 2567 นี้ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมแพทย์ต่าง ๆ ได้ทบทวนและออกแนวทางออกมาใหม่ คุณหมอและผู้สนใจสามารถสั่งซื้อฉบับเต็มได้ทางหน้าเว็บไซต์ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ในราคาพร้อมส่ง 180 บาท (ราคาสมาชิก) ผมสรุปเนื้อหาที่ประชาชนทั่วไปควรทราบ จะได้เข้าใจแนวทางของคุณหมอเขาไปในทางเดียวกันครับ
1.สำหรับบุคคลทั่วไปที่ยังไม่มีโรคหลอดเลือด หากต้องการตรวจเลือดเพื่อประเมินภาวะความเสี่ยงจากไขมันในเลือด แนะนำงดอาหาร 10 ชั่วโมงในการตรวจครั่งแรกเท่านั้น แล้วไปตรวจไขมันในเลือดทั้ง cholesterol, triglyceride, HDL, LDL นอกเหนือจากนั้นก็ไม่ต้องงดอาหาร (อีกสองกรณีที่ต้องงดอาหารก่อนตรวจคือ สงสัยไขมันสูงจากพันธุกรรมและหากค่า Triglyceride เกิน 400)
2.ถ้า LDL เกิน 190 mg/dL ให้เริ่มยาขนาดสูงได้เลย แต่ถ้ากรณี LDL < 190 ให้ใช้สูตรคำนวณ thai CV risk score ที่ดาวน์โหลดแอปได้ฟรี หากความเสี่ยงเกิน 10% แนะนำกินยา แต่ถ้าความเสี่ยงน้อยกว่า 10% ให้ไปหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดอื่น ๆ ถ้ามีข้อบ่งชี้โรคหลอดเลือดจึงกินยา แต่ถ้าความเสี่ยงน้อยกว่า 10% ยังไม่ต้องกินยา
3.ไม่ว่าความเสี่ยงจะเป็นเท่าไร การควบคุมน้ำหนัก การลดอาหารไขมัน การลดไขมันอิ่มตัว และการออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่ต้องทำเสมอและตลอดไป หากลดไขมันในอาหารได้แล้ว ต่อไปคือพยายามแทนไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ด้วยไขมันไม่อิ่มตัวเช่น น้ำมันพืช
4.สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่เป็นเบาหวาน แนะนำกินยาลดไขมันทุกราย ยกเว้นกรณีเป็นเบาหวานและอายุน้อยกว่า 40 ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น กรณีนี้เท่านั้นที่ไม่ต้องกินยา เว้นแต่คุมแล้ว ไขมัน LDL เกิน 100 ให้กินยา
สำหรับผู้ป่วยโรคไตเสื่อมที่ยังไม่เป็นโรคหลอดเลือด ไตเสื่อมระยะสามขึ้นไปที่อายุมากกว่า 50 ปี ก็แนะนำกินยา กรณีที่ไม่ใช้ยาคือ กรณีไตวายต้องฟอกเลือดและไม่เคยได้ยามาก่อนเลย
5.คนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบ อันนี้ต้องกินยาเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำไปตลอด ปรับยาให้ได้เป้า LDL ที่ไม่เกิน 70 หรือหากเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันจะดึง LDL ลงถึง 55 โดยไม่ให้เกิดอันตรายจากการให้ยา ส่วนมากจะต้องได้ยาขนาดสูงหรือยาหลายชนิด
6.ยาไขมันหลักที่ใช้ลดความเสี่ยง คือ ยากลุ่ม statin จะปรับยาจนได้ระดับ LDL ที่ต้องการและใช้ยาขนาดนั้นไปตลอดหากไม่มีผลข้างเคียงหรือต้องปรับยาจากภาวะใด
หากปรับยาแล้วแต่ยังไม่ได้เป้า จะเพิ่มยาตัวที่สองคือ ezetimibe และหากยังไม่ได้เป้าอีก จะเพิ่มยาตัวที่สามคือยาฉีด PCSK9i ส่วนยาอื่น ๆ จะเป็นกรณีพิเศษแล้วแต่คุณหมอจะพิจารณา
7.ยากลุ่มอื่น ไม่ว่าจะเป็น fibrate, niacin, cholestyramine จะใช้ในกรณีเฉพาะ ไม่ใช่ยาหลักในการลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
ยกเว้นบางกรณีเฉพาะเท่านั้น คือ น้ำมันปลาโอเมก้าสามชนิด pure EPA ในขนาดสูง 4 กรัมต่อวัน ในกรณีเป็นเบาหวานและใช้ยา statin แล้วแต่ยังมีค่า triglyceride สูง
8.ยา statin ขนาดสูงคือ atorvastatin 40-80 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ rosuvastatin 20 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วน statin ขนาดปานกลางคือ simvastatin 20-40, atorvastatin 10-20, rosuvastatin 5-10, pitavastatin 1-4 นอกเหนือจากนี้เป็น statin ในขนาดต่ำ
9. ยาที่เราใช้มากสุดคือคือ simvastatin ต้องระมัดระวังกับการใช้ยาต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องปรึกษาเภสัชหรือปรับขนาดยาเสมอ
ยา diltiazem, verapramil, amlodipine, amiodarone, ranalazine, gemfibrozil, ยาต้านไวรัส protease inhibitor, ยาฆ่าเชื้อรา azole …. ระวังผลข้างเคียงจาก simvastatin
10. ปกติจะมีการตรวจติดตามค่าไขมัน (ไม่ต้องงดอาหาร) ทุก 3-12 เดือนเพื่อตรวจสอบขนาดยา ความสม่ำเสมอการกินยา แต่ถ้าได้ขนาดการรักษามักจะไม่ลดขนาดยา ยกเว้นมีผลข้างเคียง
ซึ่งผลข้างเคียงสำคัญที่ต้องหยุดยาคือ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อร่วมกับค่า creatine phosphate kinase เกิน 10 เท่าของค่าปกติ ซึ่งต้องไปใช้ยาอื่น กรณีนอกเหนือจากนี้ควรหาเหตุก่อนว่าเกิดจากยา statin จริงหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า เราให้ยาเพราะคนไข้ได้ประโยชน์จากยาแน่ การจะหยุดยาหรือปรับยาโดยไม่จำเป็นจะต้องคิดถึงประโยชน์ที่หายไปเสมอ
น่าจะครบถ้วนและเข้าใจง่าย สำหรับประชาชนทั่วไป ในกรณีที่ข้อสงสัยผมแนะนำปรึกษาคุณหมอที่ให้ยา จนหมดข้อสงสัยก่อนการกินยา อย่าให้ค้างคาใจว่าเราจำเป็นหรือไม่ อย่าให้ค้างคาใจว่ากินยาไปเพื่ออะไร
ปล. คำแนะนำ คือ คำแนะนำจากผลการวิจัยเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือ
ส่วนการตัดสินใจใช้ยาและติดตามผล คือ ศิลปะการเลือกยาให้เหมาะสมให้เข้ากับผู้ป่วยแต่ละคนครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม