เรื่องของขาบวม มาต่อกันอีกสักหน่อยเรื่อง บวมมากหรือบวมน้อย
ถ้าถามว่าส่วนมากเราประเมินจากอะไร คำตอบก็จากสายตานั่นแหละครับ แต่มันก็มีข้อจำกัดจริงไหม ไม่ว่าจะเป็นความแปรปรวนของแต่ละสายตา มาตรฐานแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน มันจะใช้ได้ดีถ้าเป็นคนตรวจคนเดียวกัน แล้วถ้าเราจะประเมินแบบมีดูมีความน่าเชื่อสักหน่อย ทำอย่างไร
อย่างแรก วัดเส้นรอบวงครับ วัดเส้นรอบวงน่อง ในตำแหน่งต่ำกว่าปุ่มกระดูกใต้เข่าลงไป 10 เซนติเมตร ใช้เปรียบเทียบได้ดี ง่ายด้วย
อย่างที่สอง ประเมินเนื้อเยื่อ เนื่องจากการบวมที่เห็นเป็นการบวมบริเวณเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน พื้นที่นอกเซลล์และไม่ได้อยู่ในหลอดเลือด เรียกว่า interstitial space มันเป็นที่อยู่ของเส้นใย เนื้อเยื่อใต้ผิว เวลาบวมจะสังเกตเห็นความตึง และรอยย่นรอยพับของผิวหนังจะลดลง (เราจะเห็นว่าผิวใส นั่นแหละ) รอยปูดรอยนูนของหลอดเลือด เส้นเอ็น จะไม่ชัด จะจมอยู่ในเนื้อเยื่อ และในทางตรงกันข้าม ถ้าอาการบวมลดลง ผิวจะเหี่ยวลง ร่องรอยย่นจะชัด หลอดเลือดจะชัดขึ้นเช่นกัน
อย่างที่สาม ใช้การกด ทางการแพทย์อาจจะประเมินอาการกดบุ๋มได้ 4 ระดับนะครับ โดยใช้นิ้วกดลงไปตรง ๆ ดูระดับความลึกที่กดได้ หรือ ระยะเวลาที่เด้งคืน
ระดับหนึ่ง กดได้ลึกประมาณ 2 มิลลิเมตร เด้งคืนทันที
ระดับสอง อันนี้จะลึกขึ้นที่ 4 มิลลิเมตร ใช้เวลา 3-4 วินาทีก็คืนสภาพ
ระดับสาม กดได้ลึกขึ้นถึง 6 มิลลิเมตร ใช้เวลา 10-12 วินาทีถึงเด้งกลับ
ระดับสี่ กดได้ลึกตั้งแต่ 8 มิลลิเมตร และใช้เวลานานกว่า 20 วินาทีถึงเด้งคืน
ส่วนการประเมินด้วยอัลตร้าซาวนด์ ก็แม่นยำเพิ่มขึ้น วัดระยะทางได้ดี อาจจะไม่เปลี่ยนแปลงการวินิจฉัย การรักษา หรือการจัดแบ่งความรุนแรงไปมากกว่าการตรวจร่างกายที่ครบถ้วนและถูกวิธีครับ
ส่วนคุณภรรยาถ้าจะลองไปตรวจสามีที่บ้าน ถ้ากดแข้งแล้วเด้งกลับทันที และเด้งไปโดนปาก ก้านคอ สีข้าง สะโพก อันนี้ไม่เรียกว่าบวมนะครับ เรียกว่า “เจตนา”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น