07 สิงหาคม 2565

ฝึกอ่านอังกฤษแบบลุงหมอ

 ฝึกอ่านอังกฤษแบบลุงหมอ (ฉบับคนไม่เก่ง, เด็กหลังห้อง, รองแชมป์พรีเมียร์)

มีคำถามว่า อ่านตำราภาษาอังกฤษ อ่านหนังสืออังกฤษอย่างไร แหม จะบอกว่ามีคุณครูมากมาย ผู้รู้มากมายให้คำตอบนี้ไว้แล้ว หาอ่านได้ตามร้านหนังสือและเว็บไซต์ แต่นั่นคือคนที่เขาเก่งนะ และต้องอดทนมาก ๆ สู้มาก ๆ มาแนะนำ วันนี้ผมจะมาคุยให้ฟังบ้าง ว่าเด็กกะโหลกกะลาหลังห้องแบบผม พอจะสื่อสารอังกฤษได้อย่างไร
1.เริ่มด้วยจุดหมายก่อน น่าจะคิดถึงว่าเราอยากรู้อังกฤษไปเพื่ออะไร ตอนนั้นของผมเลยนะคือ อยากอ่านเยอะ ๆ โดยเฉพาะตอนนั้นสารานุกรมอังกฤษมันภาพสวยน่ารู้ แต่อ่านไม่ออกเลย อยากอ่าน อีกอย่างคืออยากฟังข่าวอังกฤษรู้เรื่อง การมีเป้าหมายมันจะทำให้เรามีแรงผลักครับ สมัยนี้เรียก passion และอยากให้ตั้งเป้าไว้สูงหน่อย ไม่ใช่แค่อ่านเอบีซีออก แต่ขออ่านนิยายอังกฤษทั้งเล่มสักเล่มแล้วกันเป็นต้น
2.อย่าเว่อร์เกิน ให้เริ่มแบบเล็ก ๆ ก่อนนะ แนะนำให้เริ่มที่เราคิดว่าทำได้ และหากสำเร็จมันจะใจฟูครับ สมัยผม ผมเริ่มด้วยนิทานอีสปสำหรับเด็ก บทสั้น ๆ จบบทนึงเราก็สำเร็จแล้ว มันเป็นสิ่งที่เรารู้เรื่องแล้วไง เนื้อหาไม่ยาก มาโฟกัสที่ภาษา ได้ศัพท์ไปสองสามคำ อ่านรู้เรื่องสักตอน ค่อย ๆ ทำไป
3.ขยับตามเลเวล พอเราเริ่มเป็นเริ่มอ่านออก เราก็เริ่มอ่านวรรณกรรมเยาวชน ผมบอกหลายครั้งแล้วว่าหนังสืออังกฤษเล่มแรกที่อ่านจบคือ โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์ของโรอัลด์ ดาลห์ ใครเริ่มใหม่ ก็แนะนำวรรณกรรมเยาวชนครับ มีแบ่งเป็นเกรดเป็นเลเวล ค่อย ๆ ขยับไป อย่าเพิ่งโดดไปนิยายคลาสสิก พวกนั้นอ่านยาก
4.ฝึกฟัง สมัยก่อนผมซื้อเทปฝึกพูดอังกฤษมาฝึกด้วยนะ ฝึกฟังฝึกพูดมีคู่มือ เดี๋ยวนี้หาเยอะมากตามยูทูป เริ่มจากระดับประถมก่อน อย่าซ่าส์ แล้วค่อย ๆ ไต่ระดับ พอเริ่มฟังออกบ้าง ผมไปที่การ์ตูนดิสนีย์ครับ ถ้าเด็กฟังได้ ฉันก็ฟังได้ฟระ ส่วนหนังซีรี่ส์ อันนี้ขั้นสูงครับ เพราะภาษาจะเป็นอีกประเภท ต้องแกร่งสักหน่อย อ้อ..พ็อดคาสต์พูดอังกฤษฟรีและดี เยอะมาก ไปกดฝึกได้เลย
5.หนังสือพิมพ์ อันนี้ดีนะ เป็นศัพท์สำนวนจริง ๆ ในปัจจุบัน ผมเริ่มที่ student weekly และ student time โชคดีที่เป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ ได้อ่านบ่อย เชื่อไหมห้องสมุดรับมาแต่แทบไม่มีใครอ่าน ฮา.. พอเริ่มเป็นให้จับบางกอกโพสต์ เนชั่น มาอ่านคู่หนังสือพิมพ์ไทย ได้อ่าน ได้เห็นภาษา ได้ใจความ (เทียบกับภาษาไทยได้ด้วย) ผมมาลืมหูลืมตาอังกฤษได้ด้วยวิธีนี้
6.พจนานุกรม ตอนแรก ๆ ที่ฝึกให้ใช้อังกฤษไทยได้นะ ผมก็ใช้ เปิดให้คล่อง ดูศัพท์ด้วย นามกริยา เหลือบตามองคำบนล่าง เก็บให้ครบ ดู prefix suffix ต่อมาแนะนำอังกฤษ-อังกฤษ ใครจะใช้เจ้าไหนก็แล้วแต่ชอบ ผมใช้ oxford for advance learner คุ้นมือมาก มีคำอธิบายครบ และถ้าใครฝึกใหม่ ๆ ไม่แนะนำใช้แอป มันเร็วแต่มันแคบครับ ไม่เหมาะกับการฝึก
7.เขียน ตอนแรก ๆ ผมเขียนไปหาเพื่อนที่ลงใน student weekly นะครับ ตอบกลับมาบ้าง ไม่ตอบบ้าง แต่รวม ๆ มีเพื่อนถึง 20-30 คนเลย ลองฝึกเขียนดู ใครเรียนในสถาบันใด แนะนำเข้าชมรม เขียนให้คุณครูตรวจ ผมไม่แน่ใจยุคนี้มีแอปสื่อสารฝึกเขียนไหมนะครับ ฝึกทั้งภาษาจริง ๆ เพื่อเขียนอีเมล เขียน proposal เขียนเชิงธุรกิจ และแบบภาษาในโซเชียลมีเดีย แต่ถ้าจะจริงจังต้องมี supervisor ครับ ตอนที่เขียนเปเปอร์ ของผมวงแดงเต็มหน้าครับ 555
8.พูด อันนี้แทบไม่ได้ฝึกครับ อาศัยคุยกับคนไข้ต่างชาติ (เรื่องอื่น ๆ) คนที่วิ่งในสวนเดียวกัน เจอตามร้านหนังสือ สนามกอล์ฟ สำเนียงจึงไท้ไทย แต่ผมว่าเน้นที่ pronunciation ก็พอครับ เสียงถูกรู้เรื่อง ส่วนสำเนียงไม่มีใครเหมือนกัน ไม่ผิดไม่ถูก ฟังบรรยายมาหลายสำเนียงแล้ว ไม่สำคัญเท่าการออกเสียงครับ (ญี่ปุ่นเกาหลีนี่ฟังย้ากยาก) หรือจะไปเรียนพูดก็เข้าทีนะ มีคนคอยปรับแก้ อ้อ..ผมว่าจะเรียนกับชาติไหนก็โอเคนะ ไม่ต้องเฉพาะว่าต้องเป็น native English speaker หรอก ยกเว้นจะไปเล่นหนังฮอลลีวูด
9.ลงเรียน ผมก็ลงเรียนบ้างนะ ตามแต่เวลาโอกาสและทุนทรัพย์ สมัยก่อนตอนเรียนกทม. (นานมากแล้ว) ก็ไปเรียนที่เอยูเอ ไม่รู้ตอนนี้ยังมีไหม ใครจะไปเรียนต่อต่างประเทศ ผมแนะนำไปเรียน ลงทุนสูงแต่คุ้ม สำหรับพวกงูปลากาไก่อย่างผม เรียนคอร์สนั้นนี้ ออนไลน์บ้าง แล้วแต่โอกาสครับ และลองทดสอบ TOEFL, TOEIC, CUTEP ฯลฯ กระตุ้นตัวเองบ้าง
10.ข้อนี้สำคัญสุดคือ อย่าเลิก พยายามฝึกบ่อย ๆ ตลอดชีวิต ตอนนี้ผมก็ฟัง BBC อ่านข่าวเว็บไซต์ รับดูแลคนไข้ต่างชาติ และยังเขียนจดหมายอีเมลติดต่อกับเพื่อน ๆ อยู่นะ (มากสุดคือที่อเมริกา มีสิบสี่คน หนึ่งในนั้นมีอาจารย์ที่เยลด้วย)
อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ข้อความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม