17 มิถุนายน 2565

genioglossus กล้ามเนื้อสำคัญสำหรับโรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ

 genioglossus กล้ามเนื้อสำคัญสำหรับโรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ

กลไกการเกิดโรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ (obstructive sleep apnea : OSA) มีหลายประการทั้งสมองสั่งการผิดปกติ ไขมันรอบคอเยอะ คางสั้น อดีนอยด์โต วันนี้เรามารู้จักกล้ามเนื้อและกลไกสำคัญที่ไม่ให้ทางเดินหายใจอุดกั้น และหากบกพร่องจะเป็นสาเหตุของ OSA

เวลาเราหลับ สมองจะลดการตื่นตัว ลดการสั่งการ (ทำให้เราไม่ละเมอฟาดแขนฟาดขาใส่สามี) แต่จะยังมีกล้ามเนื้อและการทำงานบางส่วนที่จะยังทำงาน (กล้ามเนื้อทำงานจะหดเกร็ง) นั่นคือกลุ่มกล้ามเนื้อที่ใช้ปกป้องร่างกาย และในที่นี้คือ กล้ามเนื้อที่ต้องหดเกร็งเพื่อทำให้ทางเดินหายใจโล่งนั่นเอง (airway muscle dilators)

มีกล้ามเนื้อหลายมัด มัดหลักคือ genioglossus มัดรองคือ levator palatini, tensor palatini,geniohyoid,stylopharyngeus ทั้งหมดนี้รวมกันคอยปกปักษ์รักษาทางเดินหายใจขณะหลับ กล้ามเนื้อเหล่านี้ควบคุมด้วยเส้นประสาทสมองที่มีกำเนิดมาจากก้านสมอง (ยกเว้น geniohyoid มาจากเส้นประสาทไขสันหลังส่วนคอเส้นที่หนึ่ง) ทำให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาที่ก้านสมอง โดยเฉพาะอัมพาต จะมีอาการทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ

(แถมด้วยการควบคุมการหายใจก็บกพร่องด้วย ทำให้เวลาหลับอาจหยุดหายใจที่เรียกว่า Ondine's curse https://m.facebook.com/…/a.1454099784906…/1927639694218721/… )

เมื่อเราหลับและทางเดินหายใจเราแคบกว่าปรกติ ไม่ว่าจากโครงสร้างช่องคอ จากเนื้อเยื่อไขมัน หรือจากการควบคุมของสมอง กล้ามเนื้อกลุ่ม airway muscle dilators จะต้องทำงานหนักมากและมีอาการอ่อนล้าหมดแรง อุดกั้นเป็นพัก ๆ ทำให้มีอาการหลักคือ สะดุ้งตื่นกลางคืน ก่อนสะดุ้งจะมีเสียงคร่อก ๆ ของการหายใจแรงขึ้นเพื่อต้านการตีบของทางเดินหายใจ

กล้ามเนื้อ genioglossus เป็นกล้ามเนื้อใหญ่ของลิ้น จุดกำเนิดตรงกึ่งกลางของกระดูกคาง (mandible) แผ่ออกขยายกว้าง สานรวมกันเป็นลิ้นของเรา เราเรียกชื่อกล้ามเนื้อตามจุดกำเนิดและจุดเกาะกล้ามเนือ ถ้าไม่มีชื่อที่สื่อความหมายอื่น หรือมีชื่อเดิมมานาน อย่างชื่อ genioglossus มาจากจุดกำเนิดคือคาง (genion ในภาษาละติน) และรวมเป็นลิ้น (glossa) และมีบางส่วนไปเกาะกับกระดูก hyoid แต่เรียกตามจุดเกาะส่วนใหญ่ของกล้ามเนื้อที่สานเป็นลิ้น

หน้าที่ของกล้ามเนื้อจะดึงจุดเกาะเข้าหาจุดกำเนิด อย่างกล้ามเนื้อ genioglossus จะดึงลิ้นมาทางคาง ในการบอกตำแหน่งทางการแพทย์ คางจะอยู่ด้านหน้ากว่าลิ้น (anterior) เมื่อดึงลิ้นมาทางด้านหน้า ลิ้นจะตกไปด้านหลัง (posterior) ลดลง หรือช่องว่างของทางเดินอากาศจะกว้างและโล่งนั่นเอง

ถ้ากล้ามเนื้อนี้อ่อนแรงหรือบกพร่อง ลิ้นจะตกไปอุดด้านหลังครับ กล้ามเนื้อมัดนี้ได้รับคำสั่งทำงานจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 hypoglossal nerve จึงมีการรักษาโรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับแบบหนึ่ง คือ การกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 ครับ แต่การรักษานี้ไม่มีการศึกษาที่ดีเท่าการใช้เครื่องเป่าลมดันเข้าทางเดินหายใจ หรือ เครื่อง PAP ที่เป็นมาตรฐานการรักษาโรค OSA ในปัจจุบัน

ถ้าว่างก็อ่านเรื่องของลิ้น และปริศนาการตายของชิวหา ได้ที่นี่ครับ

https://www.facebook.com/…/a.14547420781…/1987189344930422/…

รู้ไว้ใช่ว่า ชิวหาพาเพลิน ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม