ยาสูดพ่น สามชนิด ในโรคหืดที่รุนแรง
30 มิถุนายน 2565
ยาสูดพ่น สามชนิด ในโรคหืดที่รุนแรง
28 มิถุนายน 2565
ลดนิโคตินในบุหรี่
ลดนิโคตินในบุหรี่
รายงานข่าวจากวอชิงตันโพสต์ ระบุว่าท่านประธานาธิบดีไบเดนของอเมริกา มีนโยบายให้องค์การอาหารและยาสหรัฐ (กำกับดูแลเรื่องยาสูบ) กำหนดลดปริมาณนิโคตินในบุหรี่ เพื่อลดการติดบุหรี่ และสุดท้ายเพื่อลดโรคและอัตราการเสียชีวิตจากบุหรี่กว่า 480,000 คนต่อปี
บุหรี่หนึ่งมวน มีปริมาณนิโคติน (ก่อนเผา) ประมาณ 10-12 มิลลิกรัม หลายชนิดก็สูงถึง 20 หลายชนิดที่เราเรียกว่า lite จะมีนิโคตินลดลง ไม่เกิน 10 มิลลิกรัม คิดเหมา ๆ คิดกลม ๆ ที่สิบมิลลิกรัม แต่เมื่อเผาไหม้และสูบ ผู้ที่สูบบุหรี่จะได้นิโคตินที่ 1-2 มิลลิกรัมต่อมวน หรือ 20 มิลลิกรัมต่อซอง
ปริมาณนี้สูงกว่าปริมาณต่ำสุดที่ทำให้ติดนิโคติน !!
เราลองไปดูปริมาณนิโคตินในยาสูบอื่น ๆ บ้าง
ซิการ์ อันนี้เท่า ๆ กับบุหรี่ อยู่ที่ประมาณ 15 มิลลิกรัมต่อมวน ไอ้ที่มากกว่าคือ ควันและสารพิษอื่น ๆ
สูบยาใส่ไปป์ อันนี้ประมาณ 30 มิลลิกรัมต่อการสูบหนึ่งครั้ง บรรจุเต็มไปป์ ได้สารเผาไหม้เต็มพิกัด
ยาสูบแบบเคี้ยว เป็นผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยงจากการเผาไหม้แบบหนึ่ง กระป๋องเล็กมีนิโคติน 150 มิลลิกรัม
ยาสูบมวน อันนี้ระบุยาก เพราะชนิดยาสูบ และปริมาณการมวนไม่เท่ากัน แต่ก็คิดประมาณบุหรี่
บุหรี่ไฟฟ้า แล้วแต่น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าว่ามีนิโคตินเท่าไร
ก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษาติดตามว่าถ้าเปลี่ยนเป็นบุหรี่ชนิดไลท์ แล้วปริมาณการสูบจะลดลง ติดน้อยลงไหม ข้อมูลออกมาว่า ส่วนใหญ่สูบมากขึ้นเพราะนิโคตินมัน 'ไม่ถึง' จึงต้องสูบมากขึ้นเพื่อให้ปริมาณนิโคตินเท่าๆ เดิม …. อย่าลืมว่าสมบัติสำคัญของสารเสพติดคือ ต้องการปริมาณเท่าเดิมหรือมากขึ้น เพื่อส่งผลต่อร่างกายในระดับสุขใจตามเดิม
แต่เมื่อสูบมากขึ้นเพื่อให้ได้นิโคตินอย่างที่ต้องการ แต่ปริมาณสารพิษอื่น ๆ และควันจากการเผาไหม้มันไม่ลดลง แถมมากขึ้นอีก สารพิษพวกนี้ทำให้เกิดมะเร็ง โรคหลอดเลือดต่าง ๆ ก็น่าคิดว่าจะอันตรายมากขึ้นอีก
แต่ไม่ได้หมายความว่าบุหรี่แบบไลท์จะไม่ดี เพราะในอดีต การศึกษาที่เปรียบเทียบกับบุหรี่ปรกติ คือนำคนที่เคยใช้บุหรี่ปกติมาก่อนแล้ว มาเลือกใช้ไลท์ เขาจึงต้องสูบมากขึ้น ถ้าเราเลือกกลุ่มที่ไม่เคยสูบมาก่อน แล้ววัดผลระหว่างไลท์กับปกติ อาจจะบอกผลได้ดีกว่านี้
ดังนั้นมาตรการการใช้ไลท์ ที่จะได้ผลคือ ปริมาณการสูบ ไม่ว่าเป็น cigarette per day (CPD) หรือ packyears จะต้องลดลงด้วย และหากจะวัดผลทดสอบต้องวัดว่าสารโคตินิน (urine cotinine) ในปัสสาวะ ต้องลดลง
เอาล่ะแต่เมื่อเป็นนโยบายของท่านประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็น่าจะมีผลพอควร เราคงต้องดูกันต่อ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางอเมริกาโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐ ได้ยับยั้งบุหรี่รสเมนทอลไปแล้ว (เชื่อว่าทำให้ติดมากกว่าปกติ) และได้ระงับการอนุญาตเพื่อขายบุหรี่ไฟฟ้าชนิด JUUL ที่ใช้กันมากในหมู่วัยรุ่น JUUL คือ บุหรี่ไฟฟ้าพร้อมใช้ รูปแบบคล้ายแฮนดี้ไดรฟ์ มีปริมาณนิโคตินคงที่ รสชาติคงที่ พกง่าย ชาร์จง่าย
น่าจะบอกว่าคุณไบเดน คงต้องการลดการสูบยาในระดับหนึ่ง เพราะงบประมาณด้านการรักษาโรคจากบุหรี่ (tobacco-related disease) มันสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ
ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ ปริมาณการสูบต่อประชากร และโรคจากบุหรี่ต่อประชากร ที่ไบเดนหวาดหวั่น ที่ว่าสูงนั้น และต้องหามาตรการมาจัดการนั้น หากหันมาดูประเทศในแถบเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า สูงกว่าอเมริกามากทีเดียว !!!
26 มิถุนายน 2565
นี่เราจะเลิกทำงานตอนอายุเท่าไร
นี่เราจะเลิกทำงานตอนอายุเท่าไร
ไม่นานมานี้เราได้เห็นท่านผู้ว่ากทม. คนใหม่ มีสโลแกน ทำงาน-ทำงาน-ทำงาน ยังกระฉับกระเฉงว่องไวและไฟแรงแม้ในวัยห้าสิบกว่า ไม่นานมานี้มีข่าวลงเว็บไซต์ medscape ว่าหมอควรจะเลิกงานอายุเท่าไร เพราะแม้อาชีพหมอจะเป็นอาชีพที่สั่งสมประสบการณ์ เรียกว่าอายุมากขึ้นยิ่งเก๋า แต่อายุมันก็ไม่เคยปรานีใคร
▪▪ หมอใหม่ วัยรุ่น ถึงเริ่มกลางคน : มีความสดใส ไฟแรง ลุยได้ทุกอย่าง (หลายอย่างก็ไม่ควรลุยก็มี) วิชาการใหม่ ความรู้สด ทำงานหนักได้ไม่ท้อ สมัยผมหนุ่ม ๆ อยู่เวรสองวันติดได้เลยนะ ตอนนี้ตรวจทั้งวันแล้วแทบสลบ มันก็ดีนะครับ ช่วยผลักดันวงการ ทั้งการรักษา งานสอน งานวิจัย
ส่วนใหญ่ยังไม่มีภาระมากนัก ทุ่มเทได้เต็มร้อย ทั้งแรง และเวลา
แต่ว่าประสบการณ์ยังน้อย ยังมองตำรากับชีวิตจริงไม่ขาด ยังขาดมิติของความเป็นมนุษย์ สังคม วิถีชาวบ้าน การเงิน จึงมีโอกาสผิดพลาดสูง หลายเคสที่ร้องเรียนก็มาจากตรงนี้ คือ ความเข้าใจระหว่างหมอกับคนไข้ หรือการสื่อสาร
สมัยก่อนผมก็เป็นนะ เอะอะอะไรก็ไกด์ไลน์ การศึกษาล่าสุด อะไรคำแนะนำ 1A รู้อยู่ว่ามันดีและหลักฐานเยี่ยมในแง่การแพทย์ แต่พอเรานิ่งขึ้น เห็นอะไรมากขึ้น เห็นจุดอ่อนของระบบและความรู้ เราจะรู้ว่าดีที่สุดทางการแพทย์ กับดีที่สุดของคนไข้ มันคนละอย่างกัน คำแนะนำ 2C ก็ไม่แย่นะ เขาอยู่ได้ เราอยู่ได้ โลกสงบสุข
▪▪ หมออายุพอควร จนถึงอายุวัยเกษียณ : เก๋า ลูกล่อลูกชนเพียบ เห็นอะไรมาเยอะ มีประสบการณ์การรักษา บางอย่างก็รอ ใช้เวลารักษา (หลายอย่างก็ไม่ควรรอนะ) เวลามีความรู้ใหม่ ๆ จะเลือกใช้ได้ดีขึ้น ตรวจคนไข้เร็วขึ้น บางทีคนไข้เดินเข้ามา มีท่าทางบางอย่าง สีผิว สีผม ดูการหายใจ ฟังเสียงพูด ถามประวัติสองสามอย่าง ได้การวินิจฉัยแล้ว แยกโรคพร้อม วางแผนการตรวจการรักษาการพยากรณ์ การติดตาม ภายในสามถึงห้านาทีได้เลย หรือเป็นอาจารย์แพทย์ก็จะมีเทคนิคแพรวพราว สามารถสร้างสรรค์งานวิจัยได้ดีมาก
มีวิธีพูด วิธีรับมือ รู้ว่าอะไรควรรอ อะไรไม่ควรลุย
แต่หมอกลุ่มนี้จะมีอะไรหลายอย่างให้เป็นภาระ ครอบครัว หนี้สิน งานบริหาร อาจทุ่มเทเวลาได้ไม่เต็มที่
ข้อเสียคือ แรงกายลดลง หมอสูงวัยหลายท่าน ผ่าตัดไม่ไหว หมอสูงวัยหลายท่าน อยู่เวรข้ามคืนไม่ได้แล้ว อันนี้คือสังขาร หรือแม้แต่แรงสมองที่จะไปอบรมความรู้ต่าง ๆ ก็น้อยลง ล้าลง หรือมีงานอื่น ๆ มาคั่น ความฉับไวในการคิดอ่านย่อมสู้หมอหนุ่มสาวไม่ได้แน่ ๆ
ความอดทนมากขึ้น แต่ความใจสู้และลุยจะลดลง แต่เลือกการรักษาให้เหมาะกับแต่ละคน แต่ละสถานการณ์ได้ดีขึ้น ตอนนี้ผมแทบจะกลายเป็นฮิปโปเครตีสอยู่แล้ว คือ ให้ร่างกายรักษาตัวเอง เราแค่คอยตบ ๆ ตะล่อม ๆ ให้สวย ๆ ก็พอ แต่อะไรที่ดีตามหลักวิชาการ ตามแนวทางเราก็ทำเต็มที่นะ
ไม่มีคำตอบว่าอายุเท่าไรถึงเกษียณ ผมคิดว่าอาชีพหมอ น่าจะทำได้ในสาขาตัวเอง จนกว่าจะไม่ไหว ไม่ว่าแรงกายหรือแรงสมอง งานนั้นไม่จำเป็นต้องตรวจรักษา อาจเป็นให้คำแนะนำ สอนหนังสือ การเมือง วางแผน ขึ้นกับเราจะปรับตัวให้เข้ากับ 'วัย' และ 'รูปแบบงาน' ได้มากเพียงไร
ตอนนี้ผมยังมี passion เต็มเปี่ยม แรงสมองยังเต็ม 100% แต่ก็ยังไม่หยุดพัฒนาความรู้และทักษะ ทั่ง hard skill และ soft skill ส่วนแรงกายเริ่มลดลง สายตาแย่ลง วันก่อนทำเอคโค่ ถอดแว่นใส่แว่นห้าหกรอบ ฮ่า ๆ ๆ , ปวดนิ้วมากขึ้น , ganglion cyst เริ่มแสดงผลของมัน
คุณล่ะ ถ้าเป็นหมอ จะเกษียณตัวเองเมื่อไร ถ้าเป็นคนไข้ จะเลือกหมอใหม่หรือหมอเก่า ??
25 มิถุนายน 2565
กาแฟ กี่แก้วดี
กาแฟ กี่แก้วดี
ใครติดตามข่าวเรื่องกาแฟกับผลของสุขภาพในแง่ต่าง ๆ จะพบว่าบางการศึกษาก็บอกว่าเกิดประโยชน์ หลายการศึกษาก็บอกว่ามีโทษ บางการศึกษาระบุปริมาณที่จำกัดต่อวัน ทำไมผลจึงออกมาหลากหลาย ไม่ใช่ว่ากาแฟหรือคาเฟอีนมันมีฤทธิ์แตกต่างกันนะครับ
แต่ขึ้นกับรูปแบบการศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา สมมติฐาน ความโน้มเอียงของแต่ละการศึกษา ทำให้ผลออกมาต่างกัน เรียกว่ามีความหลากหลายสูงมาก อีกหนึ่งประการคือการศึกษาเชิงคลินิกทั้งหมดยังไม่มีการแยกกลุ่มที่ตอบสนองหรือมีการเมตาบอลิซึมสารคาเฟอีนที่แตกต่างกัน ตามลักษณะทางพันธุกรรม
แล้วประชาชนอย่างเรา จะเชื่ออันไหน ทำอย่างไรดี ในเวลาที่ผลการศึกษาออกมาหลายทางแบบนี้
ถ้าว่ากันตามข้อมูลเชิงสรีรวิทยาและชีวเคมี ปริมาณคาเฟอีนที่ "คนแข็งแรงดีทั่วไป" กินแล้วยังปลอดภัยคือ ไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน (ตามองค์การอาหารและยาสหรัฐ) นับรวมคาเฟอีนธรรมชาติและสังเคราะห์ และถ้าดื่มคาเฟอีนรวดเดียว 1500 มิลลิกรัมจะเป็นอันตรายได้ แต่ถ้าใครมีโรคประจำตัวหรือใครที่กินคาเฟอีนแล้วไวกว่าคนทั่วไป แนะนำให้ลดการกินลง ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนครับ ใช้ความรู้สึกเอา
400 มิลลิกรัมต่อวัน มันเยอะขนาดไหน แต่ไม่ได้หมายความว่าดื่มขนาดเท่านี้แล้วจะเต็มขนาดนะครับ เพราะเราไม่ได้ดื่มพร้อมกัน ระดับคาเฟอีนในร่างกายจะลดลงตามเวลา ทั้งจำกัดและขับออก ประมาณสี่ห้าชั่วโมงก็ขับออกแล้วล่ะครับ
กาแฟสด กาแฟดำ หนึ่งแก้ว 240 ซีซี มีคาเฟอีน 80-100 มิลลิกรัม ดื่ม 4-6 แก้วต่อวันเลยนะครับ ไม่เกินหรอก ขนาดผมไปดื่มจีบบาริสต้าบ่อย ๆ ยังไม่เกิน
ชา จะชาเขียว ชาขาว ชาโอจันทร์ ขนาด 240 ซีซี จะมีคาเฟอีน 30-50 มิลลิกรัม ดื่มแปดแก้วต่อวันได้สบาย ๆ
น้ำอัดลมที่มีคาเฟอีน เช่นโคล่า ขนาดหนึ่งกระป๋องจะมีคาเฟอีนประมาณ 30-40 มิลลิกรัม โอกาสจะดื่มน้ำอัดลมจนคาเฟอีนเกินขนาดมีน้อยมากครับ
ที่ต้องคำนวณสักหน่อย เพราะคาเฟอีนแต่ละยี่ห้อไม่เท่ากัน คือ เครื่องดื่มให้กำลังงานที่มีคาเฟอีน และกาแฟพร้อมดื่มบรรจุกระป๋อง แต่บริษัทเขาถูกบังคับให้ระบุปริมาณคาเฟอีนต่อภาชนะบรรจุ โดยทั่วไป 240 ซีซี มีหลากหลายตั้งแต่ 40-200 มิลลิกรัมครับ
อย่าลืมเครื่องดื่มที่ระบุ decaffeine ไม่ได้หมายถึงไม่มีนะครับ แต่มีน้อย 2-15 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ถือว่าช่างมันได้ เพราะปริมาณน้อยมาก ใครจะมาดื่มกาแฟดีแคฟทั้งวันทั้งคืน
ทุกวันนี้ผมดื่มกาแฟขนาดมาตรฐาน (แคปซูล) ไม่เคยดื่มดีแคฟ เพราะต้องการคาเฟอีน คือ ติดยานั่นแหละ ดื่ม 2 แก้วต่อวัน บางวันแถมกาแฟผงพร้อมดื่ม (ไม่ใช่น้ำตาลและครีม) อีกหนึ่งแก้ว คิด ๆ แล้วประมาณ 200-240 มิลลิกรัมต่อวัน ยังไม่มีใจสั่นนะครับ และหลับได้ตามปรกติ เพื่อน ๆ หลายคนบอกว่า "มรึงติดกาแฟ" แต่ผมไม่เคยยอมรับสักที
เวลาสั่งกาแฟ จะมีสูตรครับ แบบนี้
"น้องคนสวย พี่ขอกาแฟอเมริกาโน่ร้อน ไม่เติมน้ำตาล แต่ขอใส่ใจ และเติมความรู้สึกดี ๆ สักแก้วนะครับ"
24 มิถุนายน 2565
เรื่องโรคหืดก่อนผ่าตัด
คำถามเดียวกัน คำตอบต่างกัน
มีผู้ป่วยสองราย ปรึกษาเรื่องโรคหืดก่อนผ่าตัด การผ่าตัดนั้นไม่ใช่การผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ ไม่ใช่การผ่าตัดรีบด่วน
ผู้ป่วยสองรายเป็นสุภาพสตรี อายุประมาณ 50 ปี ประวัติเป็นโรคหืดมาเป็นสิบปี
รายแรก อาการไม่กำเริบมาห้าปีแล้ว ใช้ยาสูด salmeterol/fluticasone มาตลอด ช่วงโควิดไม่ได้ไปติดตามพบแพทย์ แต่ยังสูดพ่นยาตลอด ตรวจร่างกายปกติ
ไม่ต้องเตรียมตัวใดมากมายก่อนผ่าตัด ให้สูดยาต่อเนื่อง การผ่าตัดไม่มีปัญหา สามวันกลับบ้านได้
รายที่สอง มีอาการไอบ่อย ๆ ไม่หอบถึงขั้นไปพ่นยาที่รพ. ใช้แต่ยาพ่นเวลามีอาการเหนื่อย ไอ มาพบแพทย์ติดตามอาการนาน ๆ ครั้ง ซื้อยาพ่นใช้เอง (albuterol) ตรวจร่างกายพบหลอดลมตีบ
ต้องประเมินโรคกำเริบ วัดแรงลม พ่นยาก่อนผ่าตัด สอนการหายใจและสูดยาเตรียมหลังผ่าตัด ประเมินไอซียูเผื่อกำเริบ ประเมินร่วมกับทีมวิสัญญีก่อนผ่าตัด หลังผ่าตัด โรคหืดกำเริบ อยู่รพ.นานขึ้นกว่าเดิม
โรคหืด (asthma) เป็นโรคที่หากโรคไม่กำเริบ จะไม่มีอาการใด ๆ ตรวจสมรรถภาพปอดก็เหมือนคนปกติ ทำให้บางครั้งเราเผลอ ไม่ควบคุม หยุดยาเอง ที่น่ากลัวคือ หยุดสเตียรอยด์เอง แล้วเจออีกครั้งคือ ตีบถาวรไปแล้ว
หรือในรายที่อาการกำเริบไม่มาก บางทีพ่นยาเองก็สงบ ทำให้ไม่ไปประเมินอาการเพื่อปรับยา (หากควบคุมอาการดีไม่ควรกำเริบ) และหลายรายไม่สูดยาสเตียรอยด์ต่อเนื่อง
ตอนไม่ป่วย ไม่ต้องผ่าตัด อาจไม่เห็นความแตกต่าง แต่เมื่อต้องผ่าตัด หรือต้องรักษาใด ๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับหืด จะมีผลต่อเนื่องและยุ่งยาก หากควบคุมไม่ดี
ยามศึก..เรารบ
ยามสงบ .. ลองไปปลุก ยามอาจจะหลับ
23 มิถุนายน 2565
บุ้งขน ขนบุ้ง
บุ้งขน ขนบุ้ง
วันก่อนลุงหมอเกือบสิ้นชีพ เหตุเพราะเจอบุ้งขนหนึ่งตัว อวบอ้วน ขนฟู ที่กางเกงกีฬาพอดี ที่รู้เพราะพับกางเกงแล้วมือไปสัมผัสบางอย่าง เจ็บ ๆ คัน ๆ มันคือบุ้งขนนั่นเอง
ทำไมถึงเจ็บแสบคัน เพราะขนบุ้ง คือ ท่อต่อตรงจากต่อมพิษ มีพิษอยู่เพื่อป้องกันตัว ถ้าโดนเข้าไปจะมีปฏิกิริยาเหมือนยุงกัด ผึ้งต่อย คือมีปฏิกิริยาตรงผิวหนังที่ถูกพิษ ส่วนอื่น ๆ จะมีอาการน้อย ส่วนปฏิกิริยาแพ้รุนแรงทั้งตัวพบน้อยมาก เรียกชื่อปฏิกิริยาจากพิษบุ้งขนนี้ว่า "Lepidopterism"
อาการก็มีผื่นตามจุดที่โดนขนบุ้ง ถ้ารุนแรงจะผื่นทั่วตัว หน้าบวม ความดันโลหิตตก มีหลอดลมตีบแคบได้ หากอาการรุนแรงต้องรีบพาส่งโรงพยาบาล รักษาแบบ anaphylaxis
แต่ถ้าอาการไม่รุนแรงให้ทำดังนี้
▪ คีบบุ้งออกไปก่อน อย่าใช้มือหยิบ หลังจากนั้นคีบขนบุ้งที่มองเห็นออกไป ที่เหลือที่มองไม่เห็นอาจใช้เทปกาวแปะผิวหนังแล้วลอกออก ทำซ้ำหลายครั้งเพื่อดึงเข็มพิษออกให้มากที่สุด
▪ หลังจากนั้นล้างบริเวณที่ถูกบุ้งด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ต่อด้วยล้างน้ำผสมเบ๊กกิ้งโซดา เสร็จแล้วประคบเย็น
▪ ถ้ายังมีอาการคันมาก หรือผื่นมาก ใช้ยากินต้านฮิสตามีนเช่น cetirizine, loratadine, hydroxyzine, chlorpheniramine ช่วยลดอาการได้
▪ ส่วนยาทาเฉพาะที่ทั้งสเตียรอยด์หรือยาต้านฮิสตามีน ประโยชน์ไม่ชัดเจน ถ้าอาการผื่นคันไม่ดีขึ้นค่อยทายา
▪ สังเกตอาการต่อสัก 24 ชั่วโมง ถ้าไม่อันตรายมากขึ้นก็น่าจะปลอดภัย
ดีนะที่เจอก่อนใส่กางเกง ไม่งั้นตอนคีบบุ้งขนออกมา จะแยกยากว่า อันไหนบุ้ง อันไหน……
22 มิถุนายน 2565
Sydenham's Chorea หรือ St.Vitus Dance
chorea
ไม่แนะนำการใช้อาหารเสริมเบต้าแคโรทีน และอาหารเสริมวิตามินอี เพื่อการป้องกันโรคหัวใจหรือโรคมะเร็ง
เช้านี้ JAMA พาดหัวแรงทีเดียว สะเทือนหลายคน
รายงานว่า USPSTF (US preventive services task force) ประกาศคำแนะนำว่า
▪ ไม่แนะนำการใช้อาหารเสริมเบต้าแคโรทีน และอาหารเสริมวิตามินอี เพื่อการป้องกันโรคหัวใจหรือโรคมะเร็ง
▪ เพราะหลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอที่จะบอกประโยชน์มากไปกว่าอันตราย และประโยชน์ที่ได้ก็น้อยมาก
▪ และมีหลักฐานว่าอาจเกิดอันตราย และ ไม่คุ้มทุนในการให้ยาตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข
ในวารสารตัวเต็มฟาดแรงกว่าอีก บอกว่านอกจากสิ้นเปลืองแล้ว อาจต้องระวังอันตรายจากการใช้อาหารเสริมสองชนิดทั้งเม็ดแยกและเม็ดรวม แถมกล่าวถึงว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินมหาศาลในธุรกิจอาหารเสริมด้วย
ยังสนับสนุนการได้วิตามินและเกลือแร่ จากอาหารมื้อปรกติ ผักผลไม้ มากกว่าอาหารเสริม เพราะได้สารอาหารหลากหลายและส่งผลเสริมซึ่งกันและกัน การใช้ยาเม็ดวิตามินและเกลือแร่ ใช้เมื่อมีข่อบ่งชี้และต้องระวังอันตรายจากการใช้ยาด้วย
ตามไปอ่านได้ที่นี่
O’Connor EA, Evans CV, Ivlev I, et al. Vitamin and Mineral Supplements for the Primary Prevention of Cardiovascular Disease and Cancer: Updated Evidence Report and Systematic Review for the US Preventive Services Task Force. JAMA. 2022;327(23):2334–2347. doi:10.1001/jama.2021.15650
US Preventive Services Task Force. Vitamin, Mineral, and Multivitamin Supplementation to Prevent Cardiovascular Disease and Cancer: US Preventive Services Task Force Recommendation Statement. JAMA. 2022;327(23):2326–2333. doi:10.1001/jama.2022.8970
21 มิถุนายน 2565
เจาะของเหลวในเยื่อหุ้มปอด
เจาะของเหลวในเยื่อหุ้มปอด สั้น ๆ ก่อนนอน
ข้อสำคัญ อย่าลืมเทียบค่าน้ำเยื่อหุ้มปอดกับน้ำเลือด
แยก exudate ออกจาก transudate
Light's criteria
1. LDH pl / LDH Sr > 0.6
2. Protein pl / Protein Sr > 0.5
3. LDH pl > 2/3 of Upper Limit LDH sr
แยก exudate ออกจาก transudate
Heffner criteria
1. Protein pl > 2.9 g/dL
2. Cholesterol pl > 45 mg/dL
3. LDH pl > 45% of upper limit LDH sr
Chylothorax พบ Triglyceride pl > 110 mg/dL หรือเจอ chylomicron
Hemothorax พบ Hematocrit pl / Hematocrit sr > 0.5
Empyema พบ low pH ใน pleural gas หรือ low glucose
20 มิถุนายน 2565
ตับอักเสบปริศนา การติดเชื้อ adenovirus
ความคืบหน้า ? ตับอักเสบปริศนา
ข่าวรายงานจาก ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐและยุโรป สรุปข้อมูลล่าสุดของตับอักเสบในเด็กในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา พบมีรายงานทั่วโลกประมาณ 450 คน เสียชีวิต 11 คน และต้องเข้ารับการปลูกถ่ายตับ 11 รายในอังกฤษ 14 รายในอเมริกา
ความก้าวหน้าล่าสุดคือ พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีหลักฐานของการติดเชื้อ adenovirus ในช่วงที่เกิดตับอักเสบ
แต่ยังบอกไม่ได้ว่า อะดีโนไวรัสนี้ทำให้เกิดโรค หรือแค่ตรวจเจอร่วมกัน เพราะอะดีโนไวรัสนี้ เป็นไวรัสที่พบบ่อยที่ทำให้เป็นหวัด และถ่ายเหลว (ที่เราชอบเรียกกันว่า ไวรัสลงกระเพาะ)
และยังไม่พบความสัมพันธ์กับโรคโควิด-19 หรือการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่ประการใด
ยังคงต้องรอผลการศึกษาต่อไป แต่ตอนนี้สถานการณ์ก็ยังไม่ได้ระบาดรุนแรงครับ
เป็นความคืบหน้าที่ไม่ค่อยคืบหน้าเท่าไรนัก ตอนแรกคิดว่าจะพบไวรัสตับอักเสบ G เสียอีก ฮ่า ๆ
ไว้มีอะไรคืบหน้า จะคาบข่าวมาบอกนะ..จะบอกให้
บุหรี่ไฟฟ้า กับ ผลการศึกษาที่ระบุถึงผลกระทบในหลอดลม
บุหรี่ไฟฟ้า กับ ผลการศึกษาที่ระบุถึงผลกระทบในหลอดลม
มีการศึกษาออกมาถึงผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าอันหนึ่ง น่าสนใจเลยมาเล่าให้ฟังครับ เป็นงานวิจัยจาก national institute of health ทำการศึกษาผลเชิงลึกของผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า 4 คนว่ามีผลอะไรเกิดขึ้น และเมื่อเลิกบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเกิดอะไร
แค่ 4 คน น่าสนใจตรงไหน : จริงอยู่ว่าแค่ 4 คน แต่เป็นการศึกษาเชิงลึกเพื่อพิสูจน์พยาธิสภาพแบบต่าง ๆ ทั้งวัดสมรรถภาพปอด ทั้งเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดความละเอียดสูง ทั้งการส่องกล้องหลอดลมและตัดชิ้นเนื้อ ทั้งการสร้างภาพหลอดลมขนาดเล็กจากวิธี EB-OCT จากกล้องหลอดลม สามารถลงเชิงลึกเลยว่าเกิดอะไรในหลอดลมและเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าไหม
แล้วที่เคยเก็บข้อมูลเป็นหมื่นเป็นแสนคนว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อหลอดลม ไม่พอหรือ … การศึกษาที่ผ่านมาเป็นการเปรียบเทียบในระดับใหญ่ คือ อาการที่เกิดในระดับประชากร แต่ยังไม่มีการพิสูจน์ลงลึกแบบนี้
ผู้ป่วยสี่คนที่ว่า เคยสูบบุหรี่มาก่อน และหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าด้วยเหตุผลต้องการเลิกบุหรี่แบบเดิม มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ 3-8 ปี อุปกรณ์และพฤติการณ์ใช้บุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่เหมือนกัน หลากหลายพอควร ในสี่คนนี้หนึ่งคนเป็นโรคหืดผสมถุงลมโป่งพอง หนึ่งคนเป็นโรคเอสแอลอี ที่อาจมีความผิดปกติที่ปอดได้
คำถามสำคัญคือ แบบนี้จะแยกได้อย่างไรว่าความผิดปกติที่ว่า มันเกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าหรือบุหรี่เดิม หรือโรคเดิม คำตอบคือ ด้วยการตรวจเชิงลึกแบบนี้แหละจะแยกออก เพราะแต่ละโรคจะมีลักษณะการตรวจพบที่ต่างกัน ยิ่งมีการตรวจหลายมิติ โอกาสจะซ้ำซ้อนกันยิ่งน้อยลง
ผลการตรวจพบที่สำคัญคือ พบความผิดปกติแบบ constrictive bronchilolitis รูปแบบที่พบเฉพาะการอักเสบระคายเคืองจากสารอันตรายทางเดินหายใจ และ มีเสมหะที่มี MUC5AC overexpression คือเสมหะชนิดนี้เราจะพบถ้าสูบบุหรี่และระคายเคือง แต่เมื่อหยุดบุหรี่ไปแล้ว จะเจอเสมหะแบบคนปรกติไม่ใช่แบบนี้ แต่ในสี่รายนั้น พบเสมหะแบบที่มี MUC5AC overexpression ก็แสดงว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดการระคายเคืองและตอบสนองคล้ายการสูบบุหรี่เผาไหม้แบบเดิม
แสดงว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดการอักเสบแบบสารพิษทางเดินหายใจ (chronic constrictive bronchiolitis) และเกิดพยาธิสภาพในปอดจริง ๆ หลังจากนั้นทั้งสี่รายที่เข้าศึกษา ได้หยุดใช้บุหรี่ไฟฟ้า นักวิจัยได้ทำการตรวจติดตามหลังหยุดบุหรี่ไฟฟ้า พบว่าความผิดปกติทั้งจากการวัดสมรรถภาพปอด ภาพถ่ายและการส่องกล้องหลอดลม ดีขึ้นกว่าเดิมหลังหยุดบุหรี่ไฟฟ้า
หลายปีก่อน เคยมีการสรุปบุหรี่ไฟฟ้าว่า less toxic, but still toxic ตอนนี้ข้อมูลของข้อควรระวังการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเริ่มมากขึ้น และยังยืนยัน still toxic ดังนั้นผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังควรเข้าสู่กระบวนการเลิกบุหรี่เช่นกันครับ
19 มิถุนายน 2565
ร้านขนมแซฟฟร่อน
บ่าย ๆ วันอาทิตย์แบบนี้ วัยรุ่นเก้าศูนย์แบบผม ขอชวนทุกคนมาอิ่มเอมความหลังสักเล็กน้อยครับ
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
เล่าเรื่องเชื้อดื้อยา มนุษย์เราได้มีการพัฒนายาฆ่าเชื้อแบคทีเรียมาตั้งแต่ยุคของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง จนถึงปัจจุบันก็ยังต้องพัฒนาต่อไป เพร...
-
คำถามจากทางบ้าน : น้ำอสุจิมีมดตอม แบบนี้ เป็นเบาหวานไหม อย่างแรกคนที่ถามคำถามนี้เป็นสุภาพสตรี ต้องนับถือในความช่างสังเกตสิ่งรอบตัวจริง ๆ ค...