01 กันยายน 2560

น้ำในหู

น้ำในหูมาจากไหน มันคือน้ำเข้าหูหรือเปล่า ??
หูเป็นอวัยวะที่มีวิวัฒนาการมานานมาก ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตที่มีกระดูกสันหลังแรกคือ ปลา อวัยวะนั้นคือ เส้นข้างลำตัว (lateral lines) ที่เป็นท่อเล็กๆข้างในบรรจุของเหลว ที่เคลื่อนที่ไปมาตามจังหวะการเคลื่อนที่ของปลาเพื่อรับรู้ ตำแหน่งของทิศทางตัวเองเทียบกับสิ่งแวดล้อม และรับรู้คลื่นที่เข้ามากระทบเป็นการรับรู้ทิศทางของน้ำรอบตัวเทียบกับตัวเอง
กลับมาที่คนเรา อวัยวะนั้นก็ขยับมาเป็น หู และอวัยวะรับสัมผัสคือ vestibular organ และ ที่รับรู้คลื่นก็คือรับรู้เสียงนั่นเองเรียกว่า cochlear organ
โดยทั้งสองประสาทสัมผัสนี้รับเข้ามาแปลผลโดยเส้นประสาทสมองคู่ที่แปด ที่ชื่อว่า vestibulo-cochlear nerve
ลึกลงใปในกระโหลกในหูชั้นในของเรา กระดูกเราจัดเรียงตัวเป็นอวัยวะรับสัมผัสทิศทาง เป็นท่อกลวงโค้งครึ่งวงกลมในทิศทางตั้งฉากกันทั้งสามท่อ เพื่อรับรู้ทิศทางการเคลื่อนที่ของร่างกายทั้งสามมิติ ปลายท่อทั้งหมดต่อรวมกันที่กระเปาะ เพื่อรับรู้การเคลื่อนที่อีกเช่นกัน ทั้งทิศทาง ความเร็วและความเร่ง ของร่างกายเราเอง
และใกล้ๆกัน กระดูกเราก็จัดเรืยงตัวเป็นท่อกลวงม้วนเป็นรูปก้นหอย เพื่อรับรู้และแปลผลเสียง ที่เป็นคลื่นส่งมาจากหูชั้นกลาง (แต่วันนี้เราไม่ได้มากล่าวถึงอวัวยะก้นหอยนี้)
..ท่อ...เมื่อมีท่อก็มีไว้บรรจุน้ำ ของเหลวที่เรียกว่า endolymph น้ำในหู...
เมื่อร่างกายเคลื่อนที่ น้ำหนืดๆในท่อหูชั้นในก็เคลื่อนที่เช่นกัน มันไม่ได้ไหลลื่นเหมือนกับน้ำ เพราะมีสารละลายแคลเซียมละลายอยู่ เพิ่มความหนืด (เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่ว ของน้ำในหูได้นั่นเอง) ทำไมมันต้องหนืด....
เพราะในท่อนั้นมีเซลขนเล็กๆเรียงราย ปลายเส้นขนมีความสามารถในการผลิตกระแสประสาทได้จากไฟฟ้าเคมีระหว่างน้ำในหู กับเซลประสาทเส้นขนเล็กๆนั้น เมื่อน้ำหนืดๆเคลื่อนที่ ก็จะมีการสั่นไหวของเซลขนนั้นตามแบบต่างๆของการเคลื่อนที่ ส่งสัญญาณให้สมอง เพื่อแปลว่าเราเคลื่อนที่ไปทางใด เร็วเพียงใด
และสมองเอาข้อมูลมาปรับแต่งการเคลื่อนไหวให้ราบรื่นได้ ด้วยประสาทรับรู้ตำแหน่งทั้งสาม
สมองจะรับข้อมูลการเคลื่อนที่ทั้งจากหูชั้นใน จากดวงตา และจากรับสัมผัสตำแหน่งที่เท้า เอามาประมวลผลร่วมกัน ดังนั้น หากเกิดความเสียหายของสมอง หรือเส้นประสาท การเคลื่อนที่ก็จะบกพร่อง ตะกุกตะกัก
หรือการรับสัญญาณที่ต่างกัน ทำให้สมองสับสน วิงเวียน เช่นเรายืนหันหน้าไปทางท้ายรถขณะรถกำลังวิ่งไปด้านหน้า สัญญาณการเคลื่อนที่กับภาพที่เห็นขัดแย้งกัน ทำให้วิงเวียนได้
หรือสัญญาณจากสองข้าง ไม่สอดรับประสานกัน เช่น ตาบอดข้างเดียว หรือสัญญาณจากหูสองข้างไม่ประสานกันเพราะ "น้ำในหูไม่เท่ากัน"
แต่ร่างกายสามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ เช่น ชาวประมงเขาก็ไม่ค่อยวิงเวียนแล้ว เพราะร่างกาย ปรับตัวกับกระแสประสาทที่ขัดแย้งกันได้ และอาจต้องรักษาโรคร่วมเช่น หูชั้นในอักเสบ หรือยาที่ทำให้วิงเวียน โรคนี้จึงไม่ใช่โรคที่รุนแรงนักครับ และอาจใช้ยาแก้วิงเวียนลด บรรเทาอาการได้
หวังว่าคงเข้าใจกลไก ของการควบคุมการเคลื่อนที่ของ หูชั้นในและน้ำในหู นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม