หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ST elevation Myocardial Infarction ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าอายุรแพทย์ไทยทุกคน พร้อมแลดูแลท่านทุกวินาที
วันนี้เรามาฟังเรื่องราวแห่งความพร้อมการรับมือภาวะนี้ เนื่องจากเป็นภาวะเร่งด่วนฉุกเฉิน ผู้ป่วยจะดีขึ้นแย่ลงเรานับเวลาเป็นวินาที ทุกวินาทีคือความเป็นความตาย คือชีวิต เมื่อถึงเวลานั้นเราคงจะสับสน ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ผมจึงคิดว่าถ้าเรารู้และเข้าใจไว้ก่อนมันจะไม่ยากครับ เหมือนคุณซื้อประกันภัยรถและทราบขั้นตอนดีว่าถ้ารถประสบอุบัติเหตุแล้วต้องทำอย่างไร โทรหาใคร ในเรื่อง STEMI ก็เช่นกันมันมีโอกาสเกิดได้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา
ก่อนจะเกิดเหตุ ถ้าท่านใดมีความเสี่ยง หรือมีคนที่รักมีความเสี่ยง ต้องทราบอาการที่จะเกิดขึ้น แน่นหน้าอกเป็นอาการหลัก อาการเฉียบพลัน มักไม่ค่อยเจ็บ อาจจะมีเหงื่อออกใจสั่นมากๆหรือแน่นร้าวไปกราม ไปไหล่ลงมาที่ลิ้นปี อาการชัดๆนี่พบประมาณแค่ 60% เท่านั้น หรืออาจมีอาการอย่างอื่น เป็นลม เหนื่อยมากขึ้น ยิ่งเป็นเบาหวานอาการจะไม่ชัดเจน ถ้ามีอาการแบบนี้ให้รีบไปรพ.ที่ใกล้ที่สุด
ท่านคำนวณล่วงหน้าเลย บ้านอยู่ไหน เรียกรถรพ.มารับ เสียเวลารอมากกว่าไปเองหรือไม่ รถจะติดไหม รพ.ที่ใกล้ที่สุดคือที่ไหน ทำไมต้องเป็นที่ใกล้ที่สุด เพราะตอนนี้ระบบสุขภาพของประเทศได้จัดการเรื่องหลอดเลือดตีบเฉียบพลันได้ดีมาก มีขั้นตอนที่รวดเร็วทั้งวินิจฉัยและส่งต่อ ไปที่ใกล้ที่สุด หรือถ้าอยู่กลางเมือง ไปสืบดูก่อนก็ได้รพ.ไหนมีห้องสวนหัวใจ มองๆเอาไว้
เขียนอาการ เขียนเบอร์โทรรพ. เอาไว้ที่เห็นชัดๆ คิดอะไรไม่ออกโทร 1669 ไม่ต้องรอเผื่อหาย ไม่ต้องรอไปหาหมอหัวใจพรุ่งนี้ เพราะอาจไม่มีพรุ่งนี้สำหรับท่าน
เมื่อไปถึงรพ. ทุกรพ.มักจะมีแนวทางเรื่องหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันอยู่แล้ว ท่านจะได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย วินิจฉัยและรักษาไปพร้อมๆกันอย่างรวดเร็ว มาถึงถามคัดกรอง ตรวร่างกายอย่างเร็ว ทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจอันนี้สำคัญที่สุดเลย เรียกว่า FMC (first medical contact) to ECG ไม่ควรเกิน 10 นาทีครับ ในขณะเดียวกันจะได้รับการเจาะเลือดหาหลักฐานของหัวใจขาดเลือดทันที
ในแง่ ECG ถ้าทางหมอเวรไม่มั่นใจ #ส่งภาพไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเลยครับ การดู ST elevation ดูที่ J point คือจุดที่ เปลี่ยนจาก s wave จะไปเป็น Twave ที่ isoelectric line
ยกมากกว่า 1 mV ในสองlead ติดกัน เว้น v2v3 จะใช้ 1.5 หรือ สองช่องครับ ถ้าไม่แน่ใจอีก ทำซ้ำใน 15-20 นาที ถ้าเป็นจริง คลื่นไฟฟ้าหัวใจจะมีการเปลี่ยนในรูปแบบของมันครับ หรือ พบ LBBB ก็คิดไว้ก่อนว่าใช่
การตรวจเลือดจะทำพร้อมๆกับ ECG ปัจจุบันเราใช้ค่า hsTnI (high sensitivity troponin I) ที่อาจจะได้ค่าจากการตรวจเลือดมาตรฐาน หรือจากการเจาะปลายนิ้วก็ได้ ให้เร็วที่สุดและแม่นยำที่สุดครับ เวลาคือชีวิต ปัจจุบันแนวทางทั้งในยุโรปและอเมริกา ตั้งต้นการวินิจฉัยที่ ผลการตรวจเลือดพบหลักฐานของหัวใจขาดเลือด เป็นหลักแล้วนะครับ รพ.ไหนไม่มี หรือยังช้าอยู่ ต้องปรับปรุงแล้ว
จะเห็นจากเริ่มอาการ มารพ. วัดค่าต่างๆ ซักประวัติตรวจร่างกาย ทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเจาะเลือดตรวจ ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีเท่านั้น อย่าลืมนะครับ โรคนี้นับเวลาเป็นวินาที ไม่สำคัญว่ารพ.ไหน มีหมอเฉพาะทางหรือไม่ ทุกคนทุกหมอ มีเวลาเท่ากันครับ การจัดการและการเตรียมตัวจึงสำคัญมาก ยิ่งเร็วยิ่งรอด ยิ่งช้ายิ่งยาก
หลังจากสามารถวินิจฉัยได้เร็ว แยกโรคอื่นๆได้แล้ว ก็จะถึงขั้นตอนของการรักษาเพื่อเปิดหลอดเลือดที่ตีบให้ขยายออก โรคนี้เกิดจากการอุดตันเฉียบพลันการรักษาที่ดีคือเอาลิ่มเลือดที่อุดให้ออกเร็วที่สุด เพื่อรักษากล้ามเนื้อที่เหลือให้มากที่สุด ปัจจุบันก็มีสองวิธี วิธีแรกดีสุด ช่วยได้ดีโอกาสเกิดตีบซ้ำน้อย เห็นหลอดเลือดชัด คือการสวนหัวใจและทำหัตถการทางหลอดเลือด เรียกภาษาชาวบ้านคือฉีดสีดูหลอดเลือด ใส่บอลลูนและขดลวด ทุกการศึกษาบอกเหมือนกันว่าดีกว่าวิธีอื่นๆ (ทุกวันนี้เราใส่ขดลวดเกือบทุกรายแล้ว) ถ้าที่รพ.นั่นๆมีห้อง cath lab ก็ตามทีมแล้วรีบทำเลย หรือถ้าส่งไปรพ.ที่สามารถสวนหัวใจได้อย่างรวดเร็วก็ให้ติดต่อประสานงานแล้วรีบไปเลยครับ
แต่ห้อง cath lab ไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อ ที่จะมีทั่วหัวระแหงหรือบางที่มีห้อง แต่กว่าจะตามหมอและทีมมาทำได้ใช้เวลานาน ระยะเวลาที่ต้องส่งไปหรือระยะเวลาที่รอทีม ถ้านานเกินไปก็ไม่ดีครับ จึงมีวิธีเปิดหลอดเลือดอีกวิธีคือให้ยาละลายลิ่มเลือด วิธีนี้สู้ฉีดสีไม่ได้แน่ๆ อาจจะสูสีถ้ามาถึงรพ.เร็วมากๆ แต่อย่างไรก็ไม่เห็นสภาพหลอดเลือดอยู่ดี ข้อดีกว่าคือ ให้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ปลอดภัยระดับหนึ่ง อย่าลืมว่าการรักษาโรคนี้ขึ้นกับ..เวลา
ยาละลายลิ่มเลือดสามารถให้และเฝ้าติดตามผลได้เลย ปัจจุบันแนะนำ tPA มากกว่า streptokinase แต่ถ้าไม่มีก็ใช้ streptokinase ได้นะครับ เมื่อให้แล้วถ้าไม่สำเร็จก็ไปสวนหัวใจ และถ้าสำเร็จก็แนะนำไปสวนหัวใจอยู่ดี...อ้าว...แต่ว่าถ้าสำเร็จหมายถึงเราช่วยหัวใจได้ทันไงครับ สวนหัวใจเพื่อดูหลอดเลือดและเก็บตกเก็บงาน และเรามีเวลามากขึ้น ปกติแนวทางแนะนำให้ส่งไปฉีดสีดูหลังจากให้ยาไปแล้ว 3-24 ชั่วโมง จะเห็นว่าเราซื้อเวลาได้..สำคัญมากนะครับ..เพราะโรคนี้ขึ้นกับเวลา
ก่อนที่ท่านหรือคนที่ท่านรักจะได้รับยาหรือส่งตัว คุณหมอจะแนะนำข้อดี ข้อเสีย ความเสี่ยงของการให้ยาเสมอ เป็นมาตรการปกติของการรักษา ถ้าท่านไม่สบายใจหมอจะยังไม่รักษา เพราะอาจเกิดข้อผิดพลาด ซึ่งเกิดขึ้นได้ แต่จะกลายเป็นข้อพิพาทได้ครับ ขอให้อย่าลืมอย่างหนึ่ง คือ มาตรการพวกนี้ทางรพ.เขาคิดมาล่วงหน้าทั้งการรักษาและการจัดการความเสี่ยงในเวลาที่จำกัด แต่ในขณะที่เราตัดสินใจล่าช้า รอญาติ อยากไปรพ.ใหญ่ๆ เวลาที่เดินต่อไปเรื่อยๆ กล้ามเนื้อหัวใจจะตายไปเรื่อยๆ ช่วยยากขึ้นเรื่อยๆ ผลเสียมากขึ้นเรื่อยๆ
กังวลเรื่องเงิน..ลืมเรื่องนี้ไปก่อนครับ ชีวิตสำคัญกว่า ..ทางรัฐก็เห็นประเด็นนี้เช่นกัน ท่านสามารถเข้ารับการบริการได้ทุกที่ เป็นการรักษาภาวะฉุกเฉินเร่งด่วนที่ทางรัฐได้มีเงินเตรียมไว้แล้ว ในโรงพยาบาลทุกที่ได้มีมาตรการเรื่องการเบิกจ่ายเรียบร้อยครับ หลายๆท่านกังวลถ้ารพ.ใกล้บ้านเป็นรพ.เอกชน จะแพงไหม ไม่มีประกันชีวิตด้วย ไม่ต้องกังวลครับ เข้าไปได้เลยให้เร็วที่สุด ในค่าใช้จ่ายส่วนฉุกเฉินที่จะทำให้ท่าน..รอด..อย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ..ทางรัฐให้เบิกจ่ายได้ครับ (ส่วนค่าฟุ่มเฟีอยต่างๆไม่นับนะครับ)
ดังนั้นไม่อยากให้กังวลเรื่องใดๆเมื่อเกิดภาวะนี้ ให้รีบเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ ทันที ทุกเวลา เพื่อรักษาชีวิตครับ อัตราการเสียชีวิตลดลงจาก 10-20% ลดลงมาที่ 5-10% เลยนะครับ
จากส่วนตัวและคุณหมอทุกท่านที่จัดการเรื่องนี้จะทราบดี เราเตรียมทุกอย่างไว้แล้ว ขอให้ท่านเข้าใจ และ ..เร็ว..ไปกับเรา เพื่อชีวิตของท่านครับ
AHA/ACC 2013
ESC 2012
Thai Guideline
STEMI ของ อ.วิวรรณ ทังสุบุตร ใน update internal medicine 2559 ศิริราช
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
-
Onycholysis แผ่นเล็บหลุดลอกจากผิวใต้เล็บ โดยลักษณะลอกจากปลายเล็บเข้าหาโคนเล็บ สภาพเล็บเปราะบาง ไม่สมบูรณ์ พอเล็บไม่สมบูรณ์ การตรวจออกซิเจน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น