การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (endoscopic retrograde cholangio-pancreatography : ERCP)
ระบบทางเดินน้ำดีและตับอ่อนนั้น มีทางเชื่อมต่อกับลำไส้เล็กส่วนต้น ลักษณะเป็นท่อเชื่อมกัน ดังนั้นการตรวจด้วยการส่องกล้องต่อขึ้นไปจากการตรวจลำไส้เล็กส่วนต้นจึงสามารถต่อยอดได้ ทำให้สามารถมองเห็นรูเปิดต่อเชื่อมนั้นว่าตีบตัน มีแผลหรือไม่ ใส่สายเข้าไปฉีดสีหรือ ไปล้วงเอานิ่ว หรือ ใส่ขดลวดไปค้ำยันทางเดินน้ำดี เป็นหนึ่งในการตรวจและรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดครับ
ลักษณะการตรวจ ต้องไปทำในห้องที่มีเครื่องเอกซเรย์ด้วยเนื่องจากต้องใช้การเอกซเรย์ดูตำแหน่งและใช้การฉีดสารทึบรังสี อันนี้ก็จะต่างจากการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนทั่วๆไป ก็จะเริ่มต้นเหมือนการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนครับ แต่กล้องก็จะเป็นออกแบบมาพิเศษให้สามารถมองเห็นด้านข้างด้วย คือกล้องทั่วไปจะเหมือนคุณม้วนกระดาษแล้วส่องตรงๆ แต่กล้องนี้จะมีรูเปิดข้างๆคล้ายๆกล้องเรือดำน้ำ เพื่อให้เห็นรูเปิดของทางเดินน้ำดีที่เรียกว่า major duodenal papilla and orifice ลองดูในรูปที่ทำให้นะครับ จะเข้าใจว่าทำไมต้องใช้รูเปิดด้านข้าง
กล้องจะผ่านเข้าไปเหมือนการตรวจ gastroscopy ปกติ เลยเข้าไปที่ลำไส้เล็กส่วนต้นจนพบ major duodenal papilla หลังจากนั้นก็จะใส่สายสวนอีกอันผ่านท่อกล้องเข้าไป เมื่อเรามองผ่านก้องที่มองด้านข้างเราจะเห็นปลายสายโผล่ออกมาตั้งฉากกับแนวกล้องเดิม หลังจากนั้นก็เล็งเป้าและยิง ใส่สายเข้าไปในนั้น หลังจากเข้าไปแล้วก็จะใช้เอกซเรย์ตรวจสอบตำแหน่ง และฉีดสีเข้าไปดูความผิดปกติว่าตีบตัน รั่วหรือไม่ ผมทำรูปเอาไว้ประกอบด้วยครับ
การใส่สายเข้าไปนอกจากตรวจแล้วยังสามารถทำการรักษาได้หลายอย่าง เช่นทำหน้าที่คล้ายใบมีดเพื่อเปิดขยายรูเปิดให้กว้างขึ้น หรือใส่บอลลูนถ่างขยาย เปิดทางให้ใส่สายไปคล้องเอานิ่วให้หลุดออกมา (มักเป็นนิ่วก้อนไม่ใหญ่มากนะครับ ขนาดประมาณไม่เกิน 1.5 เซนติเมตร ถ้าก้อนใหญ่มากอาจทำลำบาก) หรือใส่สายตามเข้าไป เพื่อใส่ขดลวด ค้ำยันให้ทางเดินน้ำดีกว้างพอและไม่อุดตัน
ในรายที่มีท่อทางเดินน้ำดีรั่ว อาจใส่สายเอาไว้เลยก็ได้ ในรายที่หูรูดรองรอยต่อของทางเดินน้ำตีบแคบ หรือบีบตัวผิดปกติก็จะใส่อุปกรณ์ไปตรวจวัดหรือถ่างขยายได้
ทำให้เราไม่ต้องไปผ่าตัดใหญ่ ที่อาจจะต้องใช้เวลาพักฟื้นนานและมีผลข้างเคียงแทรกซ้อนได้
แต่การทำก็อาจมีผลข้างเคียงแทรกซ้อนได้ครับ ได้แก่ผลข้างเคียงจากการใช้ยาสลบ, การติดเชื้อ, เลือดออก, ทะลุ และที่มักออกข้อสอบคือ อาจทำให้เกิดตับอ่อนอักเสบหลังจากทำ ERCP ได้ครับ แต่อัตราการเกิดผลเสียดังกล่าวไม่มากนัก 1-2% เท่านั้น ซึ่งอาจจะคุ้มค่าและเสี่ยงน้อยกว่าการทำผ่าตัดใหญ่ในที่ที่สามารถทำ ERCP ได้หรือผู้ป่วยไม่แข็งแรงพอจะเข้าผ่าตัดใหญ่
การตรวจอีกวิธีที่ดูเหมือนว่าจะรุนแรงน้อยกว่า คือ การตรวจทางเดินน้ำดีและตับอ่อนด้วยเครื่องเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI ที่เรียกว่า การทำ MRCP ที่สามารถตรวจพบการตีบแคบ การตัน การรั่ว ได้ดีพอๆกับ ERCP และสามารถเห็นอวัยวะอื่นนอกทางเดินอาหารได้ด้วย แต่ไม่สามารถทำการรักษาได้เหมือนอย่าง ERCP ครับ (sensitivity 81-100% specificity 96-100%)
เราจะได้มีความเข้าใจมากขึ้นและไม่กลัวครับ บางครั้งหมอต้องอธิบายข้อดีและข้อเสียของการทำหัตถการใดๆ และบางครั้ง เราก็ต้อง....เลือก..
02 พฤศจิกายน 2559
การตรวจ ERCP
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
-
Onycholysis แผ่นเล็บหลุดลอกจากผิวใต้เล็บ โดยลักษณะลอกจากปลายเล็บเข้าหาโคนเล็บ สภาพเล็บเปราะบาง ไม่สมบูรณ์ พอเล็บไม่สมบูรณ์ การตรวจออกซิเจน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น