มะเร็งเม็ดเลือดขาว ลูคีเมีย ฉบับประชาชน (acute myeloid leukemia)
มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอีลอยด์ เกิดจากการแบ่งตัวและการพัฒนาตัวที่ผิดปกติของเซลกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก แล้วแบ่งออกมามากมากมหาศาลล้นออกมาในกระแสเลือด กดเบียดเซลปกติจนเม็ดเลือดปกติหายไปหมด เมื่อไม่มีเลือดก็ไม่มี..ชีวิต
ความเป็นจริงแล้ว เซลต้นกำเนิดนี้อาจแบ่งตัวเป็นเซลมะเร็งชนิดเม็ดเลือดแดงหรือเกล็ดเลือดก็ได้ แต่เราจะเรียกรวมไปว่า AML เพราะไม่ว่ามันเป็นเซลแบบไหนมันก็ไปกดเบียดเซลดีๆให้หมดไปเช่นกันครับ ความผิดปกติอันนี้ปัจจุบันเราพิสูจน์แล้วว่าเกิดจากความผิดปกติเชิงพันธุกรรม ไม่ว่าจะเป็นการกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรม การควบคุมการสร้างโมเลกุลพันธุกรรมที่ผิดปกติ การกลายพันธุ์อันนี้ส่วนมากก็เกิดเองเป็นการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติ บางส่วนก็มาจากการกระตุ้นสิ่งแวดล้อม เช่นรังสีจากระเบิดปรมาณู สารเบนซีน ( ไม่ใช่น้ำมันเบนซินนะครับ)
และปัจจุบันเราถือว่าการกลายพันธุ์แบบต่างๆ หรือโมเลกุลแบบต่างๆที่ผิดปกตินั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะแบ่งแยกชนิดของโรค ออกแบบการรักษา และพยากรณ์โรคว่าแนวโน้มการรอดชีวิตจะเป็นอย่างไร แตกต่างจากสมัยก่อนที่ใช้รูปร่างของเซลมะเร็งเป็นตัวแบ่งชนิด จึงต้องทำการศึกษาและตรวจสอบโมเลกุลและยีนผิดปกติในผู้ป่วยทุกรายครับ จึงแนะนำให้เข้ารับการรักษาใน รพ.ขนาดใหญ่เท่านั้น
อาการของมะเร็งเม็ดเลือดเฉียบพลันมักจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในสามเดือน เป็นอาการของเลือดหมด หมดพร้อมๆกัน..เม็ดเลือดแดงหมดก็จะซีด เพลีย...เม็ดเลือดขาวหมดก็จะติดเชื้อง่ายและรุนแรง...เกล็ดเลือดหมดก็จะมีเลือดออกง่าย ส่วนเจ้าเซลมะเร็งที่ออกมายังจะปล่อยสารอันตรายต่างๆอีก เช่นทำให้เลือดไม่แข็งตัว มีไข้เรื้อรัง เบื่ออาหาร หรืออาจไปรวมตัวกันอยู่ที่อวัยวะใดก็เกิดความเสียหายต่ออวัยวะนั้นๆ เช่น ไปเป็นก้อนที่กระดูกก็ปวดกระดูก ไปฝังตัวที่เหงือกเกิดเหงือกอักเสบ ฟันหลุด
ที่สำคัญที่จะพบคือ เวลาตรวจนับเม็ดเลือด CBC โดยใช้เครื่องหรือใช้ตาดูก็ตาม นอกจากจะพบว่าเลือดหมดแล้ว สิ่งที่จะพบคือจะมีเซลมะเร็งปริมาณมหาศาลอยู่ในกระแสเลือด และถ้าเจาะไขกระดูกไปดูที่แหล่งผลิตเม็ดเลือดเลยก็จะพบความผิดปกติต้นตอโรคเลย ซึ่งการตรวจไขกระดูกต้องทำทุกรายนะครับ เราเอาทั้งเลือดและไขกระดูกไปดูสารพันธุกรรมที่ผิดปกติข้างต้นนั่นเอง
รักษาได้ไหม..เรียกว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็นมะเร็งที่มีการศึกษามาก มีสูตรการรักษาต่างๆมากและทางภาครัฐก็ให้งบประมาณในการรักษามากด้วย เนื่องจากผลการรักษาดี ลดอัตราการเสียชีวิต ลดอัตราการเกิดซ้ำได้อย่างมากมาย ทำให้เรายังมีทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่าอีกมาก การรักษาจะซับซ้อนมาก ผมอธิบายคร่าวๆตามแบบของเพจเราแล้วกัน
ถ้าผู้ป่วยยังอายุน้อย (น้อยกว่า 60 ปี)และการพยากรณ์โรคดี อันนี้ลุยเต็มที่ครับ ให้ยาเคมีบำบัดในตอนแรกให้หายดี (cytarabine and anthracycline) แล้วให้ยาฆ่าเซลที่เหลืออีกสองสามรอบ ก็จะหายดีได้ โอกาสกลับมาเป็นซ้ำน้อยมาก
ถ้าอายุมากหรือการพยากรณ์โรคไม่ดีนัก ก็ต้องลดสัดส่วนการรักษา การให้ยาเคมี ลงมาบ้างเพราะประโยชน์ไม่มากเท่ากลุ่มแรก และผลข้างเคียงจะสูง แต่อัตราการหายยังดีอยู่นะครับ โอกาสเกิดซ้ำแม้จะมากขึ้นแต่ก็ถือว่ารับได้และสามารถอยู่แบบมีชีวิตที่ดีได้ด้วย และให้ยาฆ่าเซลที่เหลืออีกสามสี่รอบหรือกลุ่มนี้อาจจะต้องมีการพิจารณาการปลูกถ่ายไขกระดูกร่วมด้วย เพราะการตอบสองด้วยยาไม่ได้ดีมากเหมือนกลุ่มแรก
การปลูกถ่ายไขกระดูกก็จะมีทั้งแบบใช้เซลตัวเอง (autologous) ซึ่งปฏิกิริยาต้านจะไม่มากแต่ก็จะเกิดมะเร็งซ้ำได้มากกว่า ส่วนการใช้ไขกระดูกญาติที่สารพันธุกรรม HLA เข้ากันได้ (allogeinic) จะมีอัตราการปลอดโรคยาวนานกว่าแต่ก็อาจมีปฏิกิริยาต้านมากกว่าเพราะเป็นไขกระดูกคนอื่น แต่สุดท้ายปลายทางอัตราการอยู่รอดและเสียชีวิตไม่ต่างกันนัก
และต้องดูแลเรื่องการเติมเลือด เติมเกล็ดเลือด ฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว ที่จะทำให้เราไม่แย่ไปเสียก่อนยาเคมีจะออกฤทธิ์เต็มที่ จึงต้องมีแหล่งเลือดเพียงพอ มีมาตรการการให้เลือดที่ดี
การดูแลเรื่องการติดเชื้อ เพราะตัวโรคเองก็ติดเชื้อง่าย ยิ่งให้ยาเคมียิ่งติดเชื้อง่ายไปอีก นิ่งปลูกถ่ายไขกระดูกยิ่งติดเชื้อง่ายเข้าไปเพิ่มอีก และการติดเชื้อก็มักจะรุนแรง อาจมีการติดเชื้อราซ้ำเข้ามาด้วย การดูแลตรงนี้ต้องดีจริงๆ มียาที่ดี มีการควบคุมการติดเชื้อที่ดี
การป้องกันผลข้างเคียงเฉพาะแบบ เช่นการเกิดปฏิกิริยาตอนปลูกถ่ายไขกระดูกที่ต้องให้ยากดภูมิ (graft versus host disease) หรือการดูแลตอนที่ยาเคมีออกฤทธิ์เต็มที่ เซลมะเร็งตายพร้อมๆกัน เราจะกำจัดของเสียจากเซลมะเร็งอย่างไร (tumor lysis syndrome) หรือถ้าเม็ดเลือดเซลมะเร็งมันมากเหลือเกิน เป็นแสนๆตัว (hyperleucocytosis) รอให้ยาออกฤทธิ์คงจะแย่ไปก่อน ก็ต่องมีการเข้าเครื่องกรองเลือด คล้ายๆฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเพื่อกรองเอาเม็ดเซลมะเร็งออกไป (leukapheresis) ไม่ให้ไปอุดตันหลอดเลือด
รวมๆระยะเวลาการรักษาประมาณหนึ่งปี สามารถส่งผู้ป่วยที่รอด (ก็เป็นสัดส่วนมากอยู่นะครับ) กลับคืนสู่สังคมได้อย่างปลอดภัย ทำประโยชน์แก่ตัวเอง สังคมและประเทศชาติได้อีกมากครับ
ดังนั้นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ณ ปัจจุบันนี้ เราสามารถจัดการได้อย่างดีครับ อย่าหมดหวังครับ
ส่วนสรุปรายละเอียดเอาไว้ทบทวนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ผมสรุปไว้จาก NCCN guideline, Harrison 19th, ASH, และ แนวทางการรักษาของสมาคมโลหิตวิทยาประเทศไทย ปี 2558 ในรูปจดบันทึก ใครอยากได้ก็ยกมือครับ สัก 100 likes ดีไหมน้า
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
-
Onycholysis แผ่นเล็บหลุดลอกจากผิวใต้เล็บ โดยลักษณะลอกจากปลายเล็บเข้าหาโคนเล็บ สภาพเล็บเปราะบาง ไม่สมบูรณ์ พอเล็บไม่สมบูรณ์ การตรวจออกซิเจน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น