น้ำในเยื่อหุ้มปอด
หลายท่านอาจสับสนน้ำในเยื่อหุ้มปอด (plueral effusion) และ น้ำท่วมปอด (pulmonary edema) ว่าเป็นภาวะเดียวกันหรือไม่ มันแน่นอนครับ คนละอย่างกันชัดเจน เอาละเรามาหลับตาจินตนาการไปด้วยกันครับ
ช่องอกของเราเปรียบเสมือนห้องใหญ่ห้องหนึ่ง ส่วนปอดของเราก็เหมือนกับเราเป่าลูกโป่งยักษ์ไว้ในห้องเต็มห้อง สูบเข้าสูบออก ตามการหายใจ แต่ถ้าเรามีน้ำขังอยู่ในห้อง แน่นอนว่าลูกโป่งยักษ์นั้นก็จะสูบเข้าไปไม่เต็มห้องเพราะมีน้ำดันไว้ เปรียบได้กับ มีน้ำในเยื่อหุ้มปอดครับ
ส่วนน้ำท่วมปอดนั้น คือ เราใส่น้ำแทนลมในการทำให้ลูกโป่งยักษ์พองออก ช่องอก คือ ที่ว่างในห้องก็จะไม่มีน้ำครับ แค่คิดง่ายๆแบบนี้ ท่านว่าต้องใช้น้ำมากไหมกว่าลูกโป่งจะพอง แสดงว่าภาวะน้ำท่วมปอดจะมีน้ำคั่งอยู่มากมาย ซึ่งเกิดจากปั๊มน้ำเสีย ก็คือ หัวใจวายนั่นเอง
ถ้าท่านเกิดมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด ก็อาจจะเกิดโรคได้หลายโรค เช่น ปอดอักเสบติดเชื้อ วัณโรค มะเร็ง ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ท่อน้ำเหลืองรั่ว ท่อไตรั่ว ฯลฯ สารพัด นั่นหมายความว่า การเจาะตรวจน้ำเยื่อหุ้มปอดจึงมีความสำคัญมาก เพื่อส่งตรวจทางเคมี เพาะเชื้อ หาสารภูมิคุ้มกันต่างๆ เพื่อแยกโรคต่างๆออกจากกัน
การเจาะตรวจอาจใช้วิธีธรรมดา คือ ใช้เข็มเจาะดูดออกมา ใช้เวลาสั้น ไม่เจ็บมาก ผลข้างเคียงน้อย โดยทั่วไปก็จะเจาะมาบางส่วนไปตรวจ ประมาณ 30-50 ซีซี หรือใช้การใส่สายระบายน้ำไปเลย ในกรณีที่น้ำมากๆจนทำให้พื้นที่แลกเปลี่ยนแก๊ซออกซิเจนลดลง หรือ ไปกดเบียดหัวใจ ก็อาจเป็นท่อแข็งประมาณปากกา หรือสายเล็กอ่อน ยาวประมาณสองฟุต แล้วคาสายต่อลงกระปุกเก็บ
ยิ่งท่อใหญ่ยิ่งเจ็บ ผลข้างเคียงยิ่งมาก ที่พบมากๆคือ ลมรั่วเข้าไปแทนน้ำ หรือติดเชื้อ แต่ท่อใหญ่ก็ระบายได้ดีครับ การใส่ท่อหรือสายระบายบางครั้งอาจต้องใช้อุปกรณ์หรือใช้เอกซเรย์ช่วยนำทางก็มีครับ
ปัจจุบันอันตรายจากการเจาะตรวจหรือแม้แต่การใส่สายระบายนั้น น้อยลงมากๆเลยครับแพทย์ที่จบมาทุกคนก็จะได้รับการฝึกสอนตรงนี้ด้วย โดยเฉพาะอายุรแพทย์นั้น ต้องทำได้ "อย่างเชี่ยวชาญ" เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ทำให้สายระบายยุคใหม่ๆ ไม่ระคายเคือง ลดโอกาสที่เชื้อโรคจะมาเกาะ ราคาที่ไม่แพงก็เข้าถึงง่าย การใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ หรือการใช้เครื่องเอกซเรย์ที่เรียกว่า fluoroscopy ก็ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการเจาะ ลดความเสี่ยงการเกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อปอด หัวใจ หรือทะลุเข้าช่องท้อง
บทความนี้น่าจะช่วยเพิ่มความเข้าใจ
และช่วยให้ท่านตัดสินใจเข้ารับการตรวจโดยการเจาะช่องปอดอย่างมั่นใจ และช่วยย้ำเรซิเดนท์ เฟลโลว์ ว่าจะต้องรอบคอบ ตั้งสติก่อนเจาะทุกครั้ง (แอดมินเห็นข้อผิดพลาดมาหมดแล้ว ทั้งโดนหัวใจ ทิ่มปอด ลมรั่ว เลยไปในท้อง และ....ผิดข้าง)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
เล่าเรื่องเชื้อดื้อยา มนุษย์เราได้มีการพัฒนายาฆ่าเชื้อแบคทีเรียมาตั้งแต่ยุคของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง จนถึงปัจจุบันก็ยังต้องพัฒนาต่อไป เพร...
-
คำถามจากทางบ้าน : น้ำอสุจิมีมดตอม แบบนี้ เป็นเบาหวานไหม อย่างแรกคนที่ถามคำถามนี้เป็นสุภาพสตรี ต้องนับถือในความช่างสังเกตสิ่งรอบตัวจริง ๆ ค...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น