การเตรียมตัวเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน พยายามหาว่าทำไมจึงมีการเรียกภาวะนี้ว่า วัยทอง แต่ไม่พบครับ วานผู้รู้ช่วยบอกกันด้วยนะ จริงๆแล้วคลินิกวัยทองส่วนมากจะอยู่ที่แผนกสูตินรีเวช แต่ก็มีอาการหลายๆอย่างที่คล้ายๆกับโรคทางอายุรกรรม และ ต้องมีความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งจะทำให้เกิดโรคทางอายุรกรรมในอนาคตได้เช่นกัน
ในช่วงวัยนี้เราแบ่งออกเป็นสองช่วงครับ ช่วงแรกเป็นช่วงเปลี่ยน เรียกใกล้หมดประจำเดือน (perimenopause) ฮอร์โมนจะกระท่อนกระแท่น จากที่เคยสร้างและหลั่งฮอร์โมนเป๊ะๆ ก็สร้างมากบ้างน้อยบ้าง ประจำเดือนมาๆหยุดๆ มีอาการหงุดหงิด ปวดเมื่อย ออกร้อนออกเย็นตามตัว ช่วงเปลี่ยนถ่ายนี้ใช้เวลา 2 ถึง 4 ปี การวินิจฉัยนั้นมาจากประวัติประจำเดือนที่เริ่มไม่คงที่ มีอาการหงุดหงิด ร้อนหนาว ถ้าไปวัดฮอร์โมนเพศจะพบฮอร์โมนเพศหญิง estradiol เริ่มลดลง ถ้าอาการมากจนทนไม่ไหวก็จะให้ฮอร์โมนเพศชดเชยครับ
ส่วนที่สองคือผ่านช่วงการเปลี่ยนแปลงแล้ว เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนที่แท้จริง ฮอร์โมนเพศทั้งสองตัวลดลงติดดินเลย ( estradiol และ estrone) ทำให้เกิดอาการ ร้อนๆหนาวๆ เจ็บแสบตามตัว เหงื่อออกมากบ้างน้อยบ้าง เราเรียกอาการเหล่านี้ว่า vasomotor symptoms คืออาการเกิดจากการควบคุมหลอดเลือดและประสาทส่วนปลายบกพร่องไปครับ
แต่อาการทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด สิ่งที่เป็นอันตรายจริงๆ คือ ภาวะกระดูกพรุน และเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นครับ หลายๆท่านก็บอกว่า จริงๆแล้วมันก็เป็นความเสื่อมตามธรรมชาตินะ ไม่รักษาก็ได้
ทางการแพทย์ก็ได้มีการศึกษาทดลองจริงจังว่า โอเค..ท่านหมดฮอร์โมนนะทำให้เกิดปัญหา เอางี้ ลองใส่ฮอร์โมนกลับเข้าไปซิ ปัญหามันจะน้อยลงอย่างที่คาดไว้หรือเปล่า มีการศึกษาในสตรีวัยทองกว่า 27000 คนครับ ติดตามไป 5 ถึง 7 ปี เก็บข้อมูลคนที่ได้ฮอร์โมน และไม่ได้ จึงพบข้อมูลมากมาย และสิ่งที่ไม่คาดหวัง แต่ว่าเกิดขึ้น จนทางผู้ทดลองต้องหยุดการศึกษาทดลองคือ ผู้ที่ได้รับฮอร์โมนนั้น ทนผลข้างเคียงของยาไม่ได้ และ โอกาสการเกิดอัมพาต เพิ่มสูงขึ้นชัดเจนในกลุ่มที่ได้ฮอร์โมน
ข้อเท็จจริงที่พบมีดังนี้ครับ พบว่าถ้าท่านจะใช้ฮอร์โมนนั้นสิ่งที่ได้ประโยชน์ คือ อาการร้อนๆหนาวๆ จะลดลง ( ซึ่งยาตัวอื่นๆก็ลดได้นะครับ) และ โอกาสเกิดกระดูกหักจะลดลง 20-40% (เช่นกัน ยาอื่นๆก็ทำได้นะ) แต่โทษที่จะเกิดแน่ๆ คือโอกาสเกิดมะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม ทั้งสองอย่างนี้มีโอกาสเกิดมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้รับฮอร์โมน 24 % โอกาสเกิดลิ่มเลือดดำอุดตัน 3-5 เท่า และโอกาสการเกิดนิ่วถุงน้ำดี 60-90% ฟังดูอย่างนี้นี่ คิดหนักเหมือนกันนะครับ จะเอาฮอร์โมนดีไหม
เอ้าลองฟังเพิ่มอีกนิด..แล้วไอ้โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง มันลดลงไหมล่ะ คำตอบคือ ผลการศึกษาปัจจุบันยังไม่รับรองว่าจะลดความเสี่ยงครับ บางการศึกษาพบว่าเพิ่มความเสี่ยงด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้น การเลือกใช้ฮอร์โมนในการรักษาอาการวัยทองนั้น ต้องพิจารณาอย่างดีเป็นรายๆไป คุยถึงข้อดีข้อเสียให้เรียบร้อยครับ แล้วถ้ารักษาด้วยฮอร์โมนก็จะต้องติดตามการรักษาสม่ำเสมอครับ แล้วถ้าอย่างนัั้น.. มันมียาอื่นๆลดอาการร้อนๆหนาวๆไหม คำตอบคือมีนะครับ ผลเสียน้อยกว่าฮอร์โมนด้วย เช่น ยาต้านโรคซึมเศร้า venlafazine , ยารักษาปลายประสาทอักเสบ pregabalin, วิตะมินอี เป็นต้น
อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นครับ นี่คือภาวะเสื่อมของร่างกาย ไม่ได้เป็นโรค บางสิ่งบางอย่าง เราก็ฝืนธรรมชาติไม่ได้ครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
เล่าเรื่องเชื้อดื้อยา มนุษย์เราได้มีการพัฒนายาฆ่าเชื้อแบคทีเรียมาตั้งแต่ยุคของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง จนถึงปัจจุบันก็ยังต้องพัฒนาต่อไป เพร...
-
คำถามจากทางบ้าน : น้ำอสุจิมีมดตอม แบบนี้ เป็นเบาหวานไหม อย่างแรกคนที่ถามคำถามนี้เป็นสุภาพสตรี ต้องนับถือในความช่างสังเกตสิ่งรอบตัวจริง ๆ ค...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น