26 มกราคม 2562

มนุษย์ต้นไม้ Tree Man Syndrome

มนุษย์ต้นไม้ Tree Man Syndrome
สองสามวันมานี้มีข่าวว่าชายชาวบังคลาเทศคนหนึ่ง ต้องมาเข้ารับการรักษาผ่าตัดซ้ำ เหตุเพราะโรคเดิมของเขา Tree man Syndrome กลับมาเกิดอีกหลังจากที่ผ่าตัดรักษาจนดีขึ้นไปแล้ว
ภาวะมนุษย์กลายเป็นต้นไม้ หรือ Tree Man Syndrome มีชื่อทางการแพทย์เพราะ ๆ ว่า Epidermodysplasia verruciformis หรือมีชื่อเดิมที่ตั้งโดยแพทย์ผิวหนังชาวเยอรมันที่บรรยายโรคนี้เอาไว้คนแรกว่า Lewandowsky–Lutz dysplasia
โรคนี้เกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติแบบควบคุมไม่ได้ของเซลล์เยื่อบุผิว ทำให้งอกออกมาเรื่อย ๆ รวมทั้งมีการสร้างเคราตินที่ผิดปกติ แทนที่จะออกมานุ่ม ๆ ก็กลายเป็นแข็งเป็นเปลือกไม้ มักจะเกิดที่มือ เท้า ใบหน้า แผ่นหลังและหนังศีรษะ แน่นอนว่าเมื่อเกิดจะมีรูปลักษณ์ภายนอกที่ไม่สวยงาม สร้างความทุกข์กับผู้ป่วยมากมาย และบริเวณที่มีเปลือกไม้งอกออกมานี้จะทำหน้าที่เดิมไม่ได้ อย่างชายชาวบังคลาเทศผู้นี้ คงจะใช้มือได้ยากลำบากมาก หรือในอดีตก็มีสาวชาวบังคลาเทศคนหนึ่งเป็นโรคต้นไม้นี่เช่นกัน แต่เป็นที่ใบหน้า คางและหู เธอต้องเข้าผ่าตัดเพื่อความสวยงาม
พยาธิกำเนิดของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะโรคมันพบน้อยระดับโรคหายาก ดังนั้นข้อมูลของโรคจึงน้อยมากด้วยเช่นกัน ปัจจุบันเรามีทฤษฎีที่ใกล้เคียงที่สุด คือ โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรม ตำแหน่งของยีนที่เชื่อว่าก่อเกิดความผิดปกติคือ EVER1 และ EVER2 ที่อยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 17 และเมื่อไม่นานมานี้ก็พบอีกตำแหน่งคือการกลายพันธุ์ที่ยีน ANKRD26
เมื่อมีความผิดปกติ มีการกลายพันธุ์ของยีนนี้ ทำให้ร่างกายมีการตอบสนองที่ผิดปกติต่อการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ไวรัสฮิวแมนปาปิลโลม่า (Human Papilloma Virus) ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหูด และโรคมะเร็งปากมดลูกนั่นเอง แต่เป็นสายพันธุ์ที่ 5 และ 8 ต่างจากมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นหลัก
การรักษาจึงยังไม่สามารถหายขาดเพราะยังแก้ไขต้นกำเนิดไม่ได้ การรักษาคือการผ่าตัดออก เพื่อความสวยงามและสามารถกลับมาใช้งานอวัยวะต่าง ๆ ได้ตามเดิม มีโอกาสเกิดซ้ำได้อีก ไม่ว่าจะตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ ไม่ว่าจะผ่าตัดปรกติ การใช้ความร้อนสูง การใช้ความเย็นจัด หรือสารละลายเคราติน หรือเหมารวมทุกกรรมวิธี
แล้วมันเป็นมะเร็งไหม...แม้จะเติบโตแบบคุมไม่อยู่ แต่ลักษณะโดยรวมของมันไม่รุกราน และควบคุมได้ดี จึงยังไม่จัดเป็นมะเร็ง ถึงแม้จะมีรายงานว่าเกิดมะเร็งผิวหนังจากโรคต้นไม้ในคนไข้ไม่กี่คน และเป็นเฉพาะบางจุดบางตำแหน่งในตัวเท่านั้นไม่ได้เป็นทุกตำแหน่ง
อนาคตข้างหน้าอาจจะมีการรักษาเมื่อเรามีข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการตัดต่อสารพันธุกรรม การตัดต่อซ่อมแซมยีน ที่ไม่ใช่กางเกงยีน เราคงต้องติดตามกันต่อไป
ปล. โรคต้นไม้ ต่างจาก โรคแข็งเป็นท่อนไม้ นะครับ
ภาพจาก wikipedia

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม