29 มกราคม 2562

สี ลาย และการป้องกันแมลง



เออเนอะ ช่างคิดจริง ๆ
เรื่องราวนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับทางการแพทย์ตรง ๆ แต่น่าจะพอมาคิดต่อได้ สนุกดีแก้ง่วง หายเหนื่อย
คือว่ามีนักวิทยาศาสตร์ชาวฮังการีกลุ่มนึง เขาสนใจเรื่องของการเพ้นท์สีวาดลวดลายบนตัวคน แต่ไม่ใช่แบบรอยสัก หรือยันต์ห้าแถวหกแถวนะครับ เป็นการวาดและระบายสีตามตัวอย่างชนเผ่าต่าง ๆ ในแอฟริกา ออสเตรเลีย ว่าการเพ้นท์สีเนี่ย มันมีประโยชน์อีกแง่ไหมนอกจากสวยงาม ดึงดูด หรือพรางตัว
สาเหตุนั้นคือ ป้องกันแมลงมากัด โดยเฉพาะตัวเหลือบดูดเลือด โดยพวกเขาสังเกตว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีลาย โดยเฉพาะม้าลาย โดนกัดน้อยกว่าพวกที่ไม่มีลาย หรือการเพ้นท์สีจะช่วยป้องกันแมลงด้วย
เขาเลยทำการศึกษาใช้หุ่นจำลองเหมือนคนจริง ๆ มีทั้งผิวขาว ผิวเข้ม วาดลายแบบม้าลาย ลายทางขวาง ลายทางดิ่ง ทั้งยืนและนอน แล้วทิ้งไว้ดูว่าเหลือบจะสนใจตัวไหนมากกว่ากัน แถมทากาวดักเหลือบเอาไว้ด้วย เรียกว่ามาเกาะก็ติดหนึบ โดยเขาวัดแสงแบบการมองเห็นของเหลือบด้วย
ผลปรากฏว่า หุ่นที่ทาลายพรางเหลือบเกาะน้อยมาก ในขณะที่หุ่นทาสีเข้มเหลือบเกาะมากที่สุด รองมาด้วยหุ่นทาสีอ่อน แต่ก็ยังห่างไกลกว่าลายพรางแบบม้าลายหลายขุม ยิ่งเป็นการทาสีในแนวขวางลำตัว ยิ่งหลบเหลือบได้มาก ซึ่งมุมมองแสงสะท้อนแบบต่าง ๆ ที่แตกต่างกันน่าจะเป็นเหตุผลที่มาอธิบายได้
ไม่แน่นะ อนาคตอาจจะมีเสื้อเดินป่าลายม้าลาย หรือมุ้งสีม้าลาย ช่วยกันแมลง และอาจต่อยอดไปนอกจากเหลือบริ้น ไปวิจัยในยุง ในแมลงก่อโรคต่าง ๆ ด้วย หรือบางทีที่ชาวเผ่าต่าง ๆ ทาตัวไม่ใช่เพื่อสวยงาม แต่เพื่อพรางตัวจากแมลงก่อโรคพวกนี้ด้วย
เดี๋ยวจะไปตัดเสื้อลายม้าลายสักตัว ...เอาไว้ใส่ไปเลือกตั้ง จะได้ไม่มีเหลือบ
อ่านฉบับเต็มได้ฟรีที่นี่
https://royalsocietypublishing.org/doi/10.1098/rsos.181325

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม