ซิสต์ที่พบบ่อยที่ผิวหนัง ชีวิตมันต้องมีซักซิสต์หนึ่ง
ซีสต์คือเป็นถุงที่มีผนังหุ้มชัดเจน จะหุ้มน้ำ หุ้มเนื้อ หุ้มไขมัน ก็แล้วแต่ ซีสต์ที่พบบริเวณผิวหนังจะพบได้บ่อย ๆ สองสามชนิดซึ่งมักจะสับสนกับบ่อย ๆ (จริง ๆ มีอีกหลายชนิดเลย) ลักษณะที่เห็นจากภาพนอกจะคล้าย ๆ กันเป็นตุ่มนูนขึ้นมาบีบดูจะนุ่ม ๆ ไปจนถึงหยุ่น ๆ มีความแตกต่างกันมากตั้งแต่เล็ก ๆ เท่าหัวไม้ขีดจนถึงใหญ่ ๆ เท่าลูกเทนนิส ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด บางคนเจอเพราะอาบน้ำถูสบู่แล้วมือไปสะดุดตุ่มที่ผิวหนังเข้า
บางคนบีบเล่นแล้ว...โป๊ะ แตก มีเนื้อเหลว ๆ คล้าย cottage cheese เนยเหลว ๆ สีขาวเหลือง ที่สำคัญคือ**มีกลิ่นแรงมากกลิ่นเหมือนเนยแข็งเน่า** หลายคนจึงบีบมันออกไปจนหมด จนเลือดซิบ และสบายใจว่าหมดแล้วหายแล้ว แต่ความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น
สารที่บีบออกมาคือ ซีบุ้ม (sebum) สร้งมาจากต่อมไขมันที่ผิวหนังที่คอยสร้างไขมันเคลือบผิว (sebaceous gland) หากบางส่วนของต่อมนี้เกิดเจริญไปเป็นซีสต์ สร้างไขมันซีบุ้มนี้ก็จะกลายเป็นซีสต์ไขมันที่ชื่อว่า sebaceous cyst ซีบาเชียส ซีส วิธีการรักษาให้หายขาดคือต้องผ่าตัดเลาะเอาถุงหุ้มออกมาให้หมดโดยวิธีการผ่าตัดครับ หากเราบีบออกมันจะออกมาแต่ไขมัน แต่ถุงหุ้มยังอยู่อีกไม่ช้าไม่นานก็จะกลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้ ซึ่งส่วนมากกว่าจะรู้ก็บีบออกหมดแล้ว คงต้องรอเป็นครั้งใหม่แล้วไปหาหมอให้เลาะถุงหุ้มออก เราจึงเรียกศัลยแพทย์สาวที่รักษาโดยการเลาะว่า "ผู้สาวขาเลาะ"
ยังมีซีสต์ที่ผิวหนังอีกสองประเภทที่อาจจะสับสนเพราะลักษณะภายนอกคล้ายกัน แต่ถุงหุ้มและวัตถุที่อยู่ภายในแตกต่างกันคือ ซีสต์เยื่อบุผิวอิพิเดอมิส ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นเยื่อบุผิวภายนอกและสิ่งที่อยู่ในซีสต์คือ เคราติน ที่เป็นผิวหนังชั้นนอกสุดที่หลุดลอกได้เวลาเกาแรง ๆ หรือเวลาเป็นขี้ไคล ซีสต์อันนี้จะไม่มีไขมัน เกิดจากเยื่อบุผิวหนังชั้นนอกเกิดไปอยู่ผิดที่ในชั้นหนังแท้แล้วพัฒนาเป็นถุงซีสต์สร้างเคราตินอยู่ภายใน
เกิดหลังการอักเสบของผิวหนังหรือผิวหนังที่มีการเจาะ มีการผ่า จังหวะนั้นอาจมีเซลเยื่อบุชั้นนอกลงไปที่เยื่อบุชั้นหนังแท้ได้ เรียกว่า epidermal cyst วัตถุด้านในจะไม่เหมือนชีสแต่จะเป็นคล้ายไขเทียนที่แข็งกว่า
อีกอันจะเกิดจากเซลเส้นขน ในตุ่มต้นกำเนิดเส้นขน เซลนี้เกิดพัฒนาไปเป็นซีสต์และสร้างเคราตินอยู่ภายใน คล้าย ๆ กับ epidermal cyst ข้างบน มักจะเกิดใกล้ ๆ รูขุมขนและสามารถแยกกันได้เวลาเลาะซีสต์ไปตรวจทางพยาธิวิทยา เรียกว่า pilar cyst วัตถุภายในก็แข็ง ๆ คล้ยไขเทียนเช่นกัน
ความสำคัญคือทั้งสามซีสต์นี้ไม่ร้ายแรง โอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งน้อยมากถึงน้อยมากที่สุด อันตรายที่อาจเกิดคืออาจมีการติดเชื้อที่ตัวซีสต์เกิดเป็นผิวหนังอักเสบหรือมีหนองเกิดในซีสต์ได้ ในกรณีนี้ต้องให้ยาปฏิชีวนะด้วย
ถ้าไม่เลาะเอาถุงหุ้มซีสต์ออกจะมีโอกาสเกิดซ้ำบ่อยมาก พวกเราส่วนมากก็จะบีบออกและบีบอีกเพื่อรอบีบใหม่ หากต้องการหายขาดควรไปพบผู้บ่าวและผู้สาวขาเลาะนะครับ
แล้วคุณล่ะเคย ซีสต์ บ้างไหม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น