31 มกราคม 2562

น้ำในเยื่อหุ้มปอดอันเกิดจากมะเร็ง ATS 2018

น้ำในเยื่อหุ้มปอดอันเกิดจากมะเร็ง (Malignat Pleural Effusion) หมอจะทำอะไรให้เราบ้าง จากคำแนะนำของ American Thoracic Society 2018
ต้องเจาะไหม
การเจาะน้ำไปตรวจทำเพื่อการวินิจฉัยโรคน้ำในเยื่อหุ้มปอดจากมะเร็ง หรือแยกน้ำในเยื่อหุ้มปอดว่ามาจากโรคอื่นหรือไม่ หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อหรือไม่
ปลอดภัยไหม
เพื่อเพิ่มความปลอดภัย คำแนะนำคือให้ใช้เครื่องอัลตร้าซาวนด์ช่วยเป็นดูตำแหน่งและทิศทาง จะช่วยลดผลแทรกซ้อนจากการเจาะได้มาก ซึ่งปัจจุบันเราใช้เกือบทุกรายอยู่แล้ว
แล้วมีการเจาะเพื่อรักษาหรือเปล่า
มีการเจาะเพื่อรักษาแต่จะใช้ในกรณีมีอาการทางน้ำในเยื่อหุ้มปอดเท่านั้น เช่นเหนื่อยมาก หรือน้ำไปกดเบียดหัวใจและหลอดเลือด ในกรณีไม่มีอาการจากน้ำในเยื่อหุ้มปอดนั้น คำแนะนำไม่แนะนำให้เจาะเพื่อรักษาครับ
แล้วถ้ามีอาการดังกล่าวเจาะแล้วหายหรือไม่
การระบายน้ำออกจะช่วยได้มากและยังแยกโรคได้ด้วยว่าอาการที่มีนั้นเกิดจากน้ำหรือเปล่า เพราะถ้าเอาออกแล้วไม่ดีขึ้นก็ควรหาสาเหตุอื่น อีกประการคือเมื่อเราระบายน้ำออกแล้วเราก็จะดูว่าปอดที่ถูกน้ำกดเบียดอยู่นั้นมันขยายออกได้ไหม หากขยายออกได้เราจะพิจารณาเชื่อมปอดเพื่อลดโอกาสจะเกิดน้ำแบบนี้อีก
เชื่อมปอดหรือ ทำได้ด้วยหรือ
ความจริงคือการเชื่อมเยื่อหุ้มปอดโดยทำให้เยื่อหุ้มปอดอักเสบแล้วเกิดพังผืดมาติดกัน ลดโอกาสที่น้ำจะแทรกเข้ามาจนเกิดน้ำในเยื่อหุ้มปอด สามารถทำได้โดยการใส่กล้องเข้าไปทำการผ่าตัด หรือใส่กล้องไปพ่นสาร talcum (poudrage pluerodesis) หรือใส่ talcum เข้าไปทางสายระบายน้ำที่ใส่ตอนเจาะระบายน้ำ (slurry pluerodesis) แล้วแต่ความถนัดของแพทย์ผู้รักษา
แล้วถ้าปอดไม่ขยายจนติดกันจะเชื่อมอย่างไร
ก็เชื่อมไม่ได้ หากปอดไม่ขยายออกจนเนื้อปอดมาชิดผนังทรวงอกก็คงเชื่อมติดไม่ได้ หรือในอีกกรณีคือน้ำในเยื่อหุ้มปอดไหลออกมาตลอดอย่างน้อย 300 ซีซีต่อวัน แบบนี้ใส่สารไปเชื่อมก็คงไหลออกมาหมด และกรณีสุดท้ายคือทำการเชื่อมปอดแล้วเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก สามกรณีนี้คงเชื่อมติดปอดไม่ได้เราจะเลือกใส่สายคาเอาไว้เพื่อระบายน้ำออกแทน (อย่าลืมว่าเรารักษาเฉพาะกรณีมีอาการเท่านั้น การใส่สายคาเอาไว้คือการลดอาการ)
ใส่สาย สายอะไร ใช่สายที่เจาะระบายตอนแรกไหม
ไม่ใช่ครับ เป็นสายที่ออกแบบมาเพื่อใส่คาได้เป็นระยะเวลานาน ๆ วัสดุที่ระคายเคืองและมีปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อของเราน้อย ๆ การใส่ต้องมีการสอดลอดผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังเป็นอุโมงค์เพื่อวางสายโดยตรง ทำเพื่อให้คงทนไม่เลื่อนหลุดและลดโอกาสการติดเชื้อ เรียกว่า Indwelling Plueral Catheter (IPCs) และจะมีถุงหรือขวดติดเอาไว้เพื่อรองรับน้ำในเยื่อหุ้มปอดที่ไหลออกมาคล้าย ๆ สายสวนปัสสาวะ
เอาออกได้ไหม
เนื่องจากเป็นการรักษาอาการเป็นหลักไม่ได้รักษาตัวโรค หากใส่แล้วเกิดปัญหาเช่นติดเชื้อหรือเลือดออก คงต้องถอดออก แต่หากถอดออกก็มีโอกาสจะเกิดน้ำในเยื่อหุ้มปอดกลับมาใหม่ได้อีก จึงต้องรักษาตัวโรคมะเร็งหลักไปพร้อม ๆ กันด้วย
จบไหม
จบดีกว่า ใครสนใจไปหาอ่านได้จากแนวทางใน ATS 2019 เรื่อง MPE นะครับ
Management of Malignant Pleural Effusions. An Official ATS/STS/STR Clinical Practice Guideline

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม