05 มกราคม 2562

น้ำมันปลาที่อาจมีประโยชน์ในการปกป้องหลอดเลือดจากการศึกษา REDUCE-IT

น้ำมันปลาที่อาจมีประโยชน์ในการปกป้องหลอดเลือดจากการศึกษา REDUCE-IT
เมื่อสัปดาห์ก่อนผมเองได้เขียนเรื่องเราไม่ใช้น้ำมันปลาชนิดที่มี EPA ผสม DHA ในการลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดอีกต่อไป จากผลรวบรวมการศึกษาในอดีตและการศึกษาใหม่ ๆ บอกว่าไม่ได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากการรักษาในปัจจุบัน ไม่ว่าจะยังไม่เป็นโรคหัวใจหรือเกิดโรคแล้ว
และได้กล่าวถึงการใช้ EPA เดี่ยว ๆ จากการศึกษาในญี่ปุ่นที่ชื่อ JELIS พบว่าการใช้ EPA เดี่ยว ๆ ลดการเกิดโรคหัวใจซ้ำได้ (ขนาด EPA 1.8 กรัมต่อวัน) และอ้างถึงการศึกษาใหม่ที่ชื่อ REDUCE-IT ที่ตอนนี้ตีพิมพ์เรียบร้อยในวารสาร New England Journal of Medicine 3 มกราคม 2562 บอกว่า EPA ในขนาดสูงอาจจะได้ประโยชน์นะ
เราเห็นแบบนี้ เราก็อาจจะดีใจว่าเรามีทางเลือกการปกป้องแล้วหรือ ใจเย็น ๆ มาดูการศึกษาก่อนนะ เขานำคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้วมาทำการศึกษา หรือคนที่เป็นเบาหวานและมีปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดมาทำการศึกษา เรียกว่าเลือกคนที่มีความเสี่ยงสูงล่ะ ถ้าเราเสี่ยงต่ำ ถ้าเราอาจไม่ได้ประโยชน์ก็ได้ (70% secondary prevention, 30% primary prevention) และคนกลุ่มนี้ "ต้องมี" ไตรกลีเซอไรด์สูงด้วย เพราะเป้าของน้ำมันปลาคือลดไตรกลีเซอไรด์ สูงของเขาแค่เกิน 200 เองนะ แถมคนที่จะเข้าการศึกษาทั้งหมดจะต้องได้รับยาสเตตินจนระดับ LDL คงที่แล้วด้วย จะมาตัวเปล่าเล่าเปลือยแล้วมากินยาไม่ได้
แถมน้ำมันปลาที่ใช้ก็เป็น icosapent ethyl เป็น EPA บริสุทธิ์ล้วนไม่มี DHA ปนเลย ขนาด 4 กรัมต่อวันนะครับ (ส่วนตัวคิดว่าที่เลือกความบริสุทธิ์ขนาดนี้และขนาดสูงเพราะต้องการพิสูจน์แนวคิดมากกว่าจะนำไปใช้จริง)
กลุ่มนี้มาแบ่งสอง ครึ่งนึงกิน EPA และติดตามผลประมาณ 5 ปี ส่วนอีกครึ่งกิน "mineral oil" ไม่ใช่ยาหลอกที่แท้จริงนะครับ ตรงนี้เป็นข้อกังขามาก เมื่อติดตามไปแล้วพบว่า โอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมทั้งหลอดเลือดสมองและอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจนั้น กลุ่มที่กิน EPA พบน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติด้วย ไม่ว่าจะดูกลุ่มย่อยแบบไหน พื้นฐานไขมันสูงต่ำมากน้อยอย่างไรก็ตาม (คิดเป็นต้องกินยา 25 คนจึงได้ประโยชน์ลดความเสี่ยงหนึ่งคน ถือว่าดีมากครับ อัตรามาตรฐานเราที่ 50 ต่อหนึ่ง) ผลข้างเคียงก็ไม่ได้ต่างกัน เลือดออกไม่มากด้วย
อีพีเอขนาดสูงน่าจะดีนะ แต่การศึกษาแค่นี้ไม่พอ ต้องรอการศึกษาที่หลากหลายมากกว่านี้และแยกป้องกันก่อนเกิดกับหลังเกิดโรคให้ชัดเจนมากกว่านี้ ที่สำคํญเลยคือ กลุ่มเปรียบเทียบที่เป็น mineral oils มีไตรกลีเซอร์ไรด์เพิ่มสูง, LDL เพิ่มสูงขึ้น การอักเสบในเลือดสูงกว่า
เรียกว่าตัวฐานมันถูกกดลง ทำให้ตัวเปรียบเทียบแม้ไม่ได้ขึ้นสูงจากเดิมมาก แต่จะสูงมากหากเทียบกับฐานที่กดลง
ใครที่ตามไปอ่านฉบับเต็มจะเห็นว่ามีการเก็บข้อมูลโดยเปลี่ยนระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงระหว่างทาง มีการปรับระดับ p value ไปที่ 0.047 อีกด้วย และการคิด key secondary endpoint ที่เป็นการคิดเรียงตามลำดับเมื่อตัวแปรแรกถึงเกณฑ์เสียก่อน (hiearchy)
ตัวชี้วัดเรื่องผลเสีย ในวารสารบอกไม่มากประมาณ 10% แต่ผมว่าเยอะนะ และมีคนที่ออกจากการศึกษาพอสมควร
ประเด็นเรื่อง internal validity คือกระบวนการวิจัยเองยังต้องถกเถียงกันอีก ส่วน external validity อย่างที่บอกตอนต้น ผมคิดว่าการศึกษานี้ทำมาเพื่อพิสูจน์แนวคิดว่าจริง ๆแล้วน้ำมันปลามันยังมีข้อดีนะ เพียงแต่ต้องเลือกชนิดให้เหมาะและขนาดให้เหมาะ ให้เข้ากับโลกยุคปัจจุบันที่การรักษามันล้ำหน้าไปไกลด้วย เป็นการจุดประกายการวิจัยเรื่อง EPA อีกครั้ง (และในขณะนี้ก็มีงานที่กำลังทำอยู่ด้วย รอผลกันต่อไป)
** สรุปเรื่อง น้ำมันปลา โอเมก้าสามโดยเฉพาะ EPA น่าจะมีประโยชน์และยังต้องมีการศึกษากันต่อไปอีก **
ปล. การศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจาก Amarin Pharmaceuticals นะครับ แต่ไม่ได้มีส่วนกับ data analysis ที่ผมมาบอกตอนท้ายเพราะอยากให้เห็นว่าต่อให้ไม่มาบอกว่ามีหรือไม่มีสปอนเซอร์ เราก็ใช้วิธี คิด..วิเคราะห์..แยกแยะ กับทุก ๆ การศึกษาอยู่แล้ว
โหลดที่นี่ ไม่ฟรีนะครับ เพิ่งกัดฟันสมัครสมาชิกต่ออีกปี
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa1812792…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม