24 มกราคม 2562

งูสวัดที่ใบหน้า herpes zoster ophthalmicus

งูสวัด เข้าตาได้ไหม

  งูสวัด โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลล่า ซอสเตอร์ ตัวเชื้อจะไปทำร้ายเส้นประสาทและผิวหนังบริเวณที่เส้นประสาทนั้นรับผิดชอบรับความรู้สึก อาการสำคัญจึงมีผื่นและแสบร้อนตามแนวเส้นประสาทนั้น 
  เส้นประสาทรับความรู้สึกบริเวณใบหน้ารับหน้าที่โดยเส้นประสาทสมองคู่ที่ห้า trigeminal nerve ที่แบ่งใบหน้าออกเป็นสามส่วน ส่วนที่เราจะพูดถึงคืออาณาบริเวณตัววี จุดจากปลายจมูกลากเฉียงผ่านหางตาเลยไปที่ศีรษะ แบ่งครึ่งซ้ายขวาด้วยแนวกลางลำตัว สามเหลี่ยมแต่ละอันได้รับการรับผิดชอบดูแลความรู้สึกจากแขนงย่อยของ trigeminal nerve ที่ชื่อว่า ophthalmic division (ophth คือ ดวงตาครับ แสดงว่ารับผิดชอบแถวดวงตา เห็นไหม ภาษาแพทย์ง่ายออก)

   แล้วถ้างูสวัดมาทำร้ายเส้นประสาทส่วนนี้ ดวงตาจะอันตรายด้วยไหม ??

คำตอบก็มีได้ทั้งสองแบบครับ ส่วนมากจะไม่ค่อยรอดจะมีอาการอักเสบของดวงตาร่วมด้วย ตั้งแต่เยื่อบุตาอักเสบ แดง คัน น้ำตาไหล ไปจนถึงกระจกตาอักเสบ ภาพที่เห็นก็จะมัวลง หรือลงไปถึงม่านตาอักเสบได้ ส่วนจะลงลึกไปถึงวุ้นในตาหรือจอประสาทตานั้น พบน้อยครับ ที่พบบ้างในกรณีเป็นมากหรือลงลึกคือติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน (ดังนั้นห้ามไป "เป่า" เด็ดขาด)
  มีอาการแสดงอันหนึ่งที่พอจะคาดเดาได้ว่างูสวัดนั้นจะเกี่ยวข้องไปถึงดวงตาหรือไม่ ถือถ้าหากผื่นนั้นลามมาถึงปลายจมูก ปีกจมูก ด้านข้างของจมูก อันนี้มีโอกาสสูงที่จะบาดเจ็บต่อดวงตาด้วย เรียกอาการแสดงนี้ว่า Hutchison's sign เพราะเส้นประสาทตรงนี้เจ้าเลี้ยงดวงตาด้วย (nasociliary branch)
  ส่วนน้อยเท่านั้นที่จะไม่เกี่ยวข้องกับดวงตาครับ ดังนั้นหากมีงูสวัดตรงนี้ต้องคิดไว้เสมอว่าดวงตาอาจมีปัญหาครับ

  อาการงูสวัดที่ใบหน้าที่สำคัญคือมักเป็นข้างเดียว ไม่ข้ามเส้นกลางตัวนะครับ ที่เห็นดวงตาอีกด้านบวมมักจะเกิดจากบวมแล้วของเหลวจากการอักเสบมันไหลไปกองกันมากกว่าอักเสบตรง ๆ เพราะหากเห็นมีโรคทั้งซ้ายและขวาอาจต้องคิดถึงโรคอื่นด้วย เช่นผื่นผิวหนังอักเสบ ผื่นผิวหนังติดเชื้อ โรคเริม เป็นต้น

  การดูแลรักษาก็ไม่ต่างจากงูสวัดที่อื่น การให้ยาต้านไวรัสใน 72 ชั่วโมงแรกหลังจากเริ่มมีผื่นช่วยลดผลแทรกซ้อนต่อดวงตาได้  ถ้าเริ่มมีการอักเสบที่ดวงตาก็จะต้องใช้น้ำตาเทียม ยาหยอดตาสเตียรอยด์ อันนี้ต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์นะครับ
  การดูแลแผล ประคบน้ำเกลือสะอาด หากติดเชื้อซ้ำซ้อนค่อยให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ส่วนยาต้านไวรัสที่ใช้ได้คือ acyclovir 800 มิลลิกรัม วันละห้าครั้ง 7-10 วัน ยาอื่นที่ใช้ได้คือ valaciclovir, famciclovir  หากเป็นผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดีอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

  และหากอายุเกินห้าสิบ ไม่ว่าจะเคยเป็นงูสวัดที่ใดก็ตามหรือไม่เคยเป็นก็ตาม เป็นข้อแนะนำการให้วัคซีนงูสวัดครับ ฉีดหนึ่งครั้งก็พอ

เจองูสวัดไม่น่ากลัวอย่างที่คิด..เจองูสวาทจะร้องขอชีวิตกันทีเดียว

รูปและรายละเอียดจาก BMJ. 2019 ;364 :k5234
https://www.facebook.com/277574792724/posts/10156192617577725/?app=fbl

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม