29 กุมภาพันธ์ 2567

ข้อควรรู้เกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบ D

 ของดี (D) มีอยู่จริง : ข้อควรรู้เกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบ D (จาก JAMA ประมาณเดือนสองเดือนที่แล้ว)

1.ไวรัสตับอักเสบดี เป็นไวรัส RNA จำเป็นต้องอาศัยเซลล์โฮสต์คือเซลล์ตับของเรา ในการสร้างองค์ประกอบชีวิตเพื่อมีชีวิตอยู่และสืบพันธุ์ และที่พิเศษมากขึ้นคือ มันจะต้องเป็นเซลล์โฮสต์ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีด้วย จึงจะมีทรัพยากรที่เหมาะสมสำหรับไวรัสตับอักเสบดี … จึงพบไวรัสตับอักเสบดี ในคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เท่านั้น
2.แล้วเราจะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีได้อย่างไร กรณีแรกคือติดมาพร้อมไวรัสตับอักเสบบีนั่นแหละ ติดต่อทางเดียวกัน เพศ,เลือด,แม่สู่ลูก กรณีที่สองคือติดเชิ้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ก่อน แล้วติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีซ้ำไป ก็ติดทางเดียวกัน แต่จะเสี่ยงมากในคนที่ เป็นเอชไอวี,เพศสัมพันธ์แบบชายชาย,ดื่มเหล้า,เบาหวาน,อ้วน … สำหรับคุณหมอ บางกรณีที่เราคิดว่าผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังที่แย่ลงจากโรคกำเริบ จริง ๆ แล้วเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีเข้าไปเพิ่ม
3.แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าติด ก็ต้องตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ HDV และยืนยันด้วยการตรวจปริมาณ RNA ของเชื้อ คำแนะนำหลายประเทศโดยเฉพาะพบอุบัติการณ์สูง จะแนะนำตรวจคู่กับไวรัสตับอักเสบบี แต่ในอีกหลายประเทศจะตรวจเมื่อสงสัย เช่นโรคไวรัสตับอักเสบบีแย่ลง หรือในผู้ป่วยเสี่ยงในข้อสอง เพราะ ค่าตรวจแพง มีความแปรปรวนในการตรวจ (มันเป็น RNA ไวรัส จะทำให้มีจุดไม่เหมือนกันในแต่ละชุดตรวจ) และที่สำคัญ ตรวจแล้วยังไม่มีการรักษาที่ดีพอเฉพาะกับไวรัสตับอักเสบดี … อุบัติการณ์จึงต่ำ เพราะไม่ค่อยได้ตรวจ
4.แล้วมีไวรัสตับอักเสบดีมันต่างจากไม่มีไวรัสตับอักเสบดีไหม เพราะยังไงก็ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่แล้ว ไวรัสตับอักเสบดีมันไม่ดีตามชื่อ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดี จะเพิ่มการเกิดตับแข็งมากขึ้น เพิ่มตับแข็งชนิดกำเริบมากกว่า (decompensated cirrhosis) เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งตับชนิด hepatocellular carcinoma มากกว่า หรือกล่าวโดยรวมคือ หากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีร่วมกับไวรัสตับอักเสบบี จะทำให้การดำเนินโรคของไวรัสตับอักเสบบีแย่ลง
5.เมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีแล้ว จะต้องทิ้งเวลาไว้สักพักกว่าจะลดไวรัสได้และตรวจเจอแอนติบอดี โอกาสหายเองประมาณ 20% ที่เหลือจะติดเชื้อเรื้อรังเรียก HBV-HDV co-infection อันนี้แหละที่จะเพิ่มความรุนแรงตามข้อสี่ และในช่วงติดเชื้อใหม่ แบบเฉียบพลัน อาจจะมีอาการเหมือนไวรัสตับอักเสบบีกำเริบ (HBV flare) ข้อสังเกตคือจะตรวจพบปริมาณไวรัสตับอักเสบบีไม่มาก อาการเยอะ อันนี้น่าจะตรวจหาไวรัสตับอักเสบดี
6.มีวัคซีนไหม ..ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของสัตว์ทดลอง แนวโน้มออกมาดี กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม่ดีพอในการรักษาในคน ปัจจุบันพบว่าการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบบี มีผลลดการติดเชื้อและลดความรุนแรงของไวรัสตับอักเสบดีได้ การป้องกันโรคจึงเป็นวิธีเดียวกันกับป้องกันตับอักเสบบี… ทางที่จะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีมากที่สุดตามตัวเลข คือ การถูกเข็มทิ่มตำ
7.แล้วมียารักษาไหม รักษาอย่างไร ข่าวร้ายคือ ยังไม่มียาที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ มีแต่การศึกษา มียาในระยะศึกษา และยาบางตัวได้รับการรับรองในยุโรป แต่ว่าการศึกษาทั้งหมดนี้บอกว่า หากสามารถใช้ยาและลดปริมาณไวรัสได้ดีหรือหายขาด จะลดการเกิดตับแข็งรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตได้ดีกว่าการไม่ใช้ยา และยาที่ออกแบบมารักษาไวรัสตับอักเสบดี เมื่อใข้ร่วมกับการรักษาไวรัสตับอักเสบบีจะใช้ได้ผลดีกว่าการรักษาตับอักเสบบีเพียงอย่างเดียว
8.ยาที่มีข้อมูลมากสุดคือ interferon alfa ก็ยาที่รักษาไวรัสตับอักเสบบีนั่นแหละ ทั้งในรูปปกติและในรูป peglycated ที่สามารถฉีดสัปดาห์ละครั้ง และถ้าให้ร่วมกับยากินรักษาไวรัสตับอักเสบบีร่วมด้วย ประสิทธิภาพจะดีกว่าฉีดอย่างเดียว ประสิทธิภาพที่ว่าคือไม่สามารถตรวจจับ DNA ของไวรัสตับอักเสบดีได้ ซึ่งประสบความสำเร็จในการใช้ยาประมาณ 30% และหากใช้ยาจนประสบความสำเร็จจะลดอัตราการเสีขยชีวิตลงได้
9.ยากินที่ออกแบบมาควบคุมไวรัสตับอักเสบบีอีกสองชนิดคือ bulevirtide และ lonafornib ผลการศึกษาออกมาว่าสามารถควบคุมไวรัสตับอักเสบดี ไม่ว่าจะร่วมกับการรักษาตับอักเสบบีหรือไม่ก็ตาม แต่คำแนะนำหลายสมาคมก็แนะนำให้รักษาไวรัสตับอักเสบบีได้พร้อมกัน ผลจะออกมาดีกว่า และจริง ๆ แล้วผลความสำเร็จการรักษาขึ้นกับการรักษาไวรัสตับอักเสบบีด้วย (การรักษาในข้อแปดจึงดูดีและมีข้อมูลเยอะกว่า)
10.สรุปว่า การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีสามารถป้องกันตับอักเสบดีได้ด้วย ไม่ว่าสวมถุงยางหรือวัคซีน อาจตรวจหาไวรัสตับอักเสบดีถ้าพบติดเชื้อตับอักเสบบีหรือติดเชื้ออยู่แล้วแย่ลง การรักษายังไม่ชัดเจนมตอนนี้ให้รักษาไวรัสตับอักเสบบีไปก่อน (วิธีเดียวกัน) หรือหากใช้ยากินก็อาจพิจารณายากินทั้งสองไวรัส (ในอนาคต)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม