02 ตุลาคม 2564

Hypertriglyceridemia ตอนที่ 4 ถ้าจะยังไม่ใช้ยา หรือต้องใช้ยาแล้วก็ตาม ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

 Hypertriglyceridemia

ไขมันไตรกลีเซอไรด์ เราสามารถวัดได้โดยตรงจากเลือด เรามักจะพบค่าผลการตรวจไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้บ่อย เวลาเราเจาะเลือดตรวจหาไขมันในเลือด โดยเฉพาะการตรวจสุขภาพประจำปี (ไม่มีอาการผิดปกติใด) ส่วนในกรณีผู้ป่วยที่คุณหมอเขาส่งตรวจหาระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดนั้น คุณหมอจะมีคำตอบในใจอยู่แล้วว่าคิดถึงโรคใด สูงแปลผลอะไร ต่ำแปลผลอะไร แต่ถ้าเราพบผลเลือดเราไตรกลีเซอไรด์สูง เราคิดอย่างไร

🔴🔴ตอนที่ 4 ถ้าจะยังไม่ใช้ยา หรือต้องใช้ยาแล้วก็ตาม ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

การปฏิบัติตัวเพื่อลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ ยังเป็นวิธีหลักในการรักษาไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง แถมวิธีปฏิบัติทั้งหลายเหล่านี้นอกจากลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ลงได้แล้ว ยังลดไขมันอื่น ๆ ยังช่วยทำให้ร่างกายโดยรวมแข็งแรงอีกด้วย

สำหรับคนที่ระดับไตรกลีเซอไรด์ไม่สูงเกิน 500 ไม่สูงเกิน 1000 เราจะใช้การปฏิบัติตัวคล้ายกัน และมีการติดตามผลเสมอว่าทำแล้วได้ผลมากน้อยเพียงใด จะได้ปรับการรักษาการปฏิบัติตัวหรือพิจารณาใช้ยาหรือหยุดยา จุดนี้จะแตกต่างเล็กน้อยกับการรักษาโคเลสเตอรอลในเลือดสูง เพราะการรักษาโคเลสเตอรอล เราติดตามผลเพื่อดูประสิทธิผลของการใช้ยาเป็นหลัก ไม่ได้ติดตามเพื่อจะหยุดยา

*** อย่าลืมว่าก่อนจะไปปฏิบัติตัว ให้แยกสาเหตุอื่นที่ทำให้ไขมันไตรกลีเซอไรด์ขึ้นสูงออกไปก่อน **

1. การลดน้ำหนัก โดยการลดพลังงานที่กิน หรือลดปริมาณอาหารที่กินนั่นแหละครับ พลังงานที่จะลดได้มากคือพลังงานจากแป้งและน้ำตาล โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล อาหารนอกมื้อที่หวาน หรือผลไม้ส่วนเกิน การลดพลังงานนี้นอกจากลดน้ำหนัก ยังส่งผลโดยตรงต่อปฏิกิริยาการควบคุมไขมันในร่างกาย ให้ไตรกลีเซอไรด์ลดลงโดยตรงอีกด้วย

โดยเฉลี่ยแล้วจะสามารถลดไตรกลีเซอไรด์ลงได้ 10-20% ก็พอ ๆ กับการใช้ยาไขมันสเตตินเลยนะครับ

แต่ถ้าใครเคร่งครัดจริงจังมาก และไม่มีเหตุอื่นนอกจากน้ำหนักเกิน การลดน้ำหนักอาจส่งผลลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้มากถึง 70% เลยทีเดียว

 การลดพลังงาน (caloric restriction) จะทำโดยวิธีใดก็ได้ อีกหนึ่งวิธีที่มีข้อมูลว่าน้ำหนักลดลง แต่ไม่มากเท่าไร และไตรกลีเซอไรด์ลดลงด้วยคือการทำ intermittent fasting

2. ชนิดอาหารที่ควรลด ที่ควรหลีกเลี่ยง สำหรับการควบคุมน้ำหนักหรือการควบคุมน้ำตาลในเบาหวาน ผมจะให้น้ำหนักการควบคุมพลังงานในข้อแรกมากกว่า แต่สำหรับการควบคุมไตรกลีเซอไรด์ที่เป็นการปรับเล่นกับชีวเคมีในร่างกายโดยตรง เรื่องการปรับ “ชนิด” ของอาหารจึงมีความสำคัญควบคู่ไปกับ การลดพลังงานในข้อแรกครับ

แอลกอฮอล์ ควรลดลงจากเดิม ถึงแม้คุณจะดื่มในขนาดที่ไม่เกินดื่มมาตรฐานที่กำหนด แต่ถ้ามันเกิน มันก็ต้องลดลงครับ แต่ถ้าไตรกลีเซอไรด์เกิน 500 แนะนำให้เลิกนะครับ

เครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลมาก เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชานมไข่มุก กาแฟเย็น น้ำหวานต่าง ๆ และอาหารที่มีน้ำตาลสูงเช่น เบเกอรี่ น้ำตาลสูงนี้ส่งผลต่อชีวเคมีของไตรกลีเซอไรด์ และไปส่งผลต่อระบบอินซูลินที่มาควบคุมไขมันอีกต่อหนึ่งด้วย

แป้งและคาร์โบไฮเดรต อันนี้ควรลดลงครับ แต่ไม่ถึงกับอดอาหาร สอดคล้องกับข้อแรกคือการลดพลังงาน เพราะเรากินและใช้พลังงานจากแป้งเป็นหลัก เราจึงลดพลังงานด้วยการลดแป้งเป็นหลักครับ นอกจากลดพลังงานแล้วยังลดไตรกลีเซอไรด์โดยตรงอีกด้วย

ใช้ผลิตภัณฑ์นมพร่องมันเนย

อาหารไขมัน เราทำสองอย่างครับคือ ลดปริมาณไขมันลง และลดชนิดของไขมันที่มีไตรกลีเซอไรด์สูง โดยเฉพาะกลุ่มที่ไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 500 สูงกว่า 1000 อันนี้ต้องเคร่งครัดข้อนี้มาก ๆ ทีเดียว

ลดปริมาณพลังงานจากไขมัน คือ ลดอาหารผัด ทอด ลดเบกอรี่ เนย

ปรับคุณภาพของไขมัน คือ ลดไขมันสัตว์ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว

โดยทั่วไปเราจะมีสัดส่วนพลังงานจากไขมันประมาณ 30% ของพลังงานที่ใช้ทั้งวัน เราจะปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 20% แต่ถ้าในกลุ่มที่ไตรกลีเซอไรด์สูงมากนั้นจะลดลงอยู่ที่ไม่เกิน 10-15% เลยทีเดียวครับ ซึ่งส่วนมากการปรับลดแบบนี้ต้องปรึกษานักโภชนาการ ไม่อย่างนั้นเราอาจขาดกรดไขมันจำเป็น และทดแทนพลังงานที่ขาดหายไปได้ไม่ครบถ้วนครับ

ทดแทนพลังงานที่ปรับลดลง (แต่อย่าทดแทนจนเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมล่ะ) เสริมพลังงานด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ถั่วเมล็ดแข็ง (legumes)

การจัดสรรชนิดและสัดส่วนอาหารนั้น สามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้ตั้งแต่ 30-70% เลยทีเดียว อย่างที่กล่าวไว้ในตอนแรกนั่นเองครับ ว่าไขมันไตรกลีเซอไรด์ขึ้นกับอาหารการกินเสียมากครับ

3. เพิ่มการออกแรง (physical activity) มีทั้งการเพิ่มกิจกรรมการออกแรงในชีวิตประจำวันและการออกกำลังกาย ซึ่งควรทำทั้งสองอย่างนะครับ การเพิ่มกิจกรรมการออกแรงในแต่ละวันสามารถทำได้เลยและง่ายมาก เช่น เดินขึ้นบันไดมากขึ้น เดินไปทำงานระยะสั้น ๆ ลดการใช้เครื่องอำนวยความสะดวก ประโยชน์ดีกว่าการนั่ง ๆ นอน ๆ แต่ประโยชน์จะสูงสุดถ้าเพิ่มการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเข้าไปด้วย เกณฑ์การออกกำลังกายเพื่อช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ ออกกำลังกายด้วยความแรงปานกลาง อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ คือค่าขั้นต่ำ เมื่อแข็งแรงแล้วให้เพิ่มขนาดการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเพิ่มความแรงหรือเพิ่มเวลาก็ได้ครับ

แต่การออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักนั้น จะต้องออกกำลังกายแบบผสมทั้งแอโรบิกและฝึกกล้ามเนื้อ ความแรงเป็นการออกกำลังกายหนัก และอย่างน้อยวันละ 60 นาทีครับ

การเพิ่มกิจกรรมการออกแรงในแต่ละวันสามารถลดไตรกลีเซอไรด์ได้ แต่ตัวเลขไม่ชัดเจน มีตั้งแต่ 10-70% เลยทีเดียว


น่าจะครบถ้วนสำหรับประเด็นที่ประชาชนควรรู้ครับ สำหรับการใช้ยา คุณหมอสามารถไปอ่านได้จาก ACC guideline ส่วนคนไข้ก็ให้ปรึกษาคุณหมอเป็นกรณีไป เพราะแต่ละคนจะเหมาะสมกับยาที่ไม่เหมือนกันครับ

อาจเป็นรูปภาพของ อาหาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม