09 กรกฎาคม 2564

โรคโควิดรุนแรง ตามคำจำกัดความของ WHO

 โรคโควิดรุนแรง ตามคำจำกัดความของ WHO ที่ใช้เพื่อการรักษา ใช้เพื่อการวิจัยอันเป็นสากล คืออย่างไร

ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกคือ ต้องเป็นผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อโควิดคือมีความเสี่ยง มีอาการ และตรวจพบเชื้อจากวิธี RT-PCR แล้วเท่านั้น และมีเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งในสามข้อต่อไปนี้ (แต่ละข้อจะมีเกณฑ์ย่อยลงไปอีก)

1. ความอิ่มตัวของออกซิเจนน้อยกว่า 90% เมื่อหายใจด้วยอากาศปกติ อย่างแรกคือจะต้องไม่ใข้ออกซิเจนช่วยใด ๆ ก่อนเลย ใช้ความเข้มข้นของออกซิเจนในบรรยากาศที่ 21% ในความดันบรรยากาศปรกติ ไม่ได้ระบุวิธีวัดค่า อาจจะใช้จากการตรวจวิเคราะห์แก๊สจากหลอดเลือดแดง หรือจากการวัดโดย pulse oxymeter จากปลายนิ้วก็ได้

การวัดจากหลอดเลือดแดงก็แม่นยำดี แต่ก็ต้องเจาะเลือด ใข้เวลาวิเคราะห์นาน ใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น

การวัดค่าที่นิยมกว่าคือใช้การวัดออกซิเจนปลายนิ้ว โดยใช้หลักการของแสงในทางฟิสิกส์ วัดที่หลอดเลือดส่วนปลายที่นิ้ว ดังนั้นค่าที่ออกมาจะแม่นยำได้ ก็ต้องมั่นใจว่าเลือดไปที่ปลายนิ้วได้ดีพอ ไม่ได้เป็นหลอดเลือดอุดตัน ไม่ได้ถูกบีบจากแถบวัดความดัน ตำแหน่งที่วัดต้องดี แสงพุ่งไปที่นิ้ว ไม่เลื่อนไม่หลุด นิ้วและเล็บต้องสะอาด ไม่ทาสีเล็บ ไม่มีความผิดปกติของนิ้วและเล็บ

สำหรับเครื่องที่มาตรฐาน จะเห็นกราฟของการวัดค่าเรียก plathysmograph ที่จะต้องมีความผันแปรตามการหายใจ ลักษณะกราฟคล้ายกราฟความดันโลหิตที่วัดได้จากหลอดเลือด หรืออาจดูค่า perfusion index จากเครื่อง แม้ไม่มีค่ามาตรฐาน แต่เราก็ยอมรับว่าถ้าค่า PI มากกว่า 4% ก็พอจะเชื่อถือค่าความอิ่มตัวออกซิเจนนั้นได้

ในเครื่องแบบพกพา ที่ไม่ได้วาดกราฟ อย่างแรกที่ต้องประเมินคือ มีแบตเตอรี่เพียงพอ อย่างที่สองคือ แถบแสงที่ขึ้นลงตามชีพจรของผู้ป่วย ขึ้นสูงและลงสุดหรือไม่ ถ้าแถบแสงขยับเล็กน้อย หมายถึงเลือดมาที่ปลายนิ้วนั้นน้อยไป ค่าที่อ่านได้จะผิดพลาดครับ

อย่าลืมตรวจสอบว่ามีภาวะใดที่ทำให้ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแปรผันหรือไม่ เช่นภาวะ methemoglobinemia, พิษจากคาร์บอนมอนอกไซด์, G-6-PD

2. อัตราการหายใจเร็วกว่ากำหนด ต้องบอกว่าอัตราการหายใจที่เร็วขึ้น เป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงกับโรคระบบทางเดินหายใจเท่านั้น อาจเกิดได้หลายอย่างเช่น หัวใจวายเฉียบพลัน เลือดเป็นกรด พิษจากยา แต่สำหรับผู้ที่เป็นโควิด ต้องถือว่าอัตราการหายใจที่เร็วขึ้น มีความไวมากที่จะตรวจจับอาการที่ทรุดลง

อัตราการหายใจของผู้ใหญ่และเด็กอายุเกิน 5 ปีคือ มากกว่า 30 ครั้งต่อนาที โดยนับเต็มนาที เพราะอาจหายใจไม่สม่ำเสมอ

อัตราการหายใจของคนปรกติคือ 12 ครั้งต่อนาที อาจขึ้นลงได้เล็กน้อยตามเชื้อชาติ น้ำหนัก โรคร่วม และต้องเป็นการหายใจที่เรียบลื่น ไม่ตะกุกตะกักด้วย

นอกจากอัตราการหายใจแล้ว ควรดูความสม่ำเสมอการหายใจ รูปแบบการหายใจต้องไม่เฮือก ไม่กระตุก

3. ลักษณะของการหายใจลำบาก คือ อาการเหนื่อยทางการแพทย์นั่นเอง (dyspnea) ไม่ได้เพียงแค่รู้สึกเหนื่อย แต่จะต้องมีอาการแสดงที่เข้ากันด้วย เพราะความรู้สึกเหนื่อยอย่างเดียว มีความจำเพาะต่ำและเป็นความรู้สึกนามธรรม

มีการใช้กล้ามเนื้ออื่นนอกเหนือจากกระบังลมเพื่อช่วยหายใจมากขึ้น ปรกติเราจะใช้กระบังลมในการหายใจประมาณ 80-90% เราจะเห็นแค่ทรวงอกกระเพื่อมและการเคลื่อนที่ของช่องท้อง (เข้าท้องป่อง ออกท้องยุบ) แต่ในภาวะที่หายใจลำบาก เราจะใช้กล้ามเนื้อการหายใจมากขึ้น

กล้ามเนื้อทรวงอกและซี่โครงยกตัวมากขึ้น ทำให้มองเห็นการหายใจแบบโยนตัว ทรวงอกขยับสูงขึ้นมาก กล้ามเนื้อคอมาช่วยยกทรวงอกทำให้เห็นกล้ามเนื้อคอชัดขึ้น อาจต้องใช้ปากช่วยหายใจ พูดจาตะกุกตะกัก

แต่ถ้าถึงขั้น หายใจเข้าท้องยุบ หายใจออกท้องป่อง (respiratory muscle paradox) คือกระบังลมล้ามากแล้ว อาการอื่นคือ เหงื่อออก ซึม อาจมีอาการเขียว (จริง ๆ จะออกคล้ำไปทางน้ำเงินจาง ๆ มากกว่า) ถ้าร่วมกับหายใจเร็วด้วยจะยิ่งแม่นยำ วัดออกซิเจนปลายนิ้วด้วยก็ยิ่งแม่นยำครับ

ถ้าถึงขั้นหายใจล้มเหลวคือมีความดันออกซิเจนในเลือดต่ำทั้ง ๆ ที่ใช้ออกซิเจนขนาดสูง หรือไม่สามารถส่งออกซิเจนไปเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้หรือมีการคั่งของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพราะหายใจไม่ไหว หรือ ถ้ามีอวัยวะอื่นกระทบไปด้วย เช่น สับสน ชีพจรเบา ความดันโลหิตตก ปัสสาวะออกน้อยลง จะถือเป็น critical COVID-19 ต้องอาศัยอุปกรณ์ในการพยุงอวัยวะ ไม่ว่า เครื่องช่วยหายใจ ยากระตุ้นหัวใจ การฟอกเลือด หรือการใช้ ECMO ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของ critical COVID-19 ค่อนข้างสูงครับ

การเฝ้าติดตามอาการและให้การรักษาเร็วก่อนจะแย่ลง จะช่วยลดการเกิดผู้ป่วยวิกฤตได้ นอกจากนี้การได้รับวัคซีนไม่ว่าแบบใดยี่ห้อใดแบบครบโด๊ส จะช่วยลดการป่วยแบบมีอาการและป่วยวิกฤต ได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกชนิด

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม