06 เมษายน 2561

anthracycline กับผลข้างเคียงต่อหัวใจ

หนึ่งในยาเคมีบำบัดที่ใช้มากที่สุด anthracycline กับผลข้างเคียงต่อหัวใจ

  ยาเคมีบำบัด doxorubicin ,idarubicin ยาน้ำสีแดงแสบเส้นเวลาให้ยาเคมีบำบัด ทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว ราคาไม่แพงประสิทธิภาพดี แต่ว่าผลข้างเคียงที่อันตรายที่สุดอันหนึ่งคือการทำงานของหัวใจที่แย่ลงจนทำให้เกิดหัวใจล้มเหลวได้

  มีรายงานการเกิดหัวใจล้มเหลวและการทำงานของหัวใจลดลง 2.2% ในกลุ่มคนที่ใช้ยานี้ ในปี 1979 และเมื่อมีวิธีการวัดการทำงานของหัวใจดีขึ้นเราก็พบอุบัติการณ์การเกิดมากขึ้น เป็น 5.1% ในปี 2003 ใช้วิธีการติดสารกัมมันตภาพรังสีแล้วถ่ายภาพหัวใจ
  ความสัมพันธ์นี้พบในหลายๆการศึกษาและพบต่อเนื่องมาตลอด ผลการศึกษาไปในทิศทางเดียวกันจนสามารถสรุปได้ว่า การใช้ยาเคมีบำบัดกลุ่ม antracyclines มีผลทำให้หัวใจแย่ลงได้

  แล้วอย่างนี้ต้องเลิกใช้เลยหรือไม่...ถ้าจะสังเกตตัวเลขที่เกิด ไม่ได้เป็นตัวเลขที่สูง หากเทียบผลดีผลเสียและประโยชน์จากยา ความคุ้มค่าคุ้มทุนก็ถือว่ายังมีประโยชน์มากมาย การศึกษาที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นกลุ่มคนที่เสี่ยงจะเกิดโรคหัวใจล้มเหลวคือ

1.อายุมากกว่า 65 ,อายุน้อยกว่า 4 ปี
2.สุภาพสตรี
3.ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงที่คุมไม่ได้หรือเกิดผลข้างเคียง
4.มีโรคหัวใจอยู่เดิมอยู่แล้ว
5.ผ่านการฉายแสงบริเวณทรวงอก
6.ได้รับยาเคมี cyclophosphamide, paclitaxel, trastuzumab ร่วมด้วย
7. ได้รับยาในขนาดสูง หรือ ขนาดสะสมมากพอ

  ถ้ามีความเสี่ยงเหล่านี้ ก็มีแนวโน้มจะเกิดอันตรายจากโรคหัวใจมากกว่าคนทั่วไป และผมอยากให้ดูข้อเจ็ดคือ หากได้รับยาขนาดสูงหรือขนาดยาสะสมมากเกินพอ ก็จะเกิดอันตรายได้ เรียกผลข้างเคียงชนิดนี้ว่า dose dependent effect คือยิ่งให้ยาในขนาดสูงหรือปริมาณยาสะสมมากขึ้นยิ่งเพิ่มความเสี่ยงหัวใจวาย

   ขนาดยานั้นจะนับเป็น มิลลิกรัมต่อตารางเมตรพื้นที่ผิวกาย (1.73 ตารางเมตร) ขนาดยาที่ 450 เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ 3.3 เท่า  แค่ถ้า 600 จะเพิ่มเป็น 8.7 เท่า
  ปัจจุบันนี้ตัวเลขที่ยอมรับกันว่าหากเกิน 550 มิลลิกรัมต่อ 1.73 ตารางเมตรพื้นที่ผิวกาย ก็จะเสี่ยงโรคหัวใจ เฉพาะคนไข้ผู้ใหญ่นะครับ

  สาเหตุเกิดจากยาไปส่งพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย (type I) อีกประการที่ทำให้เกิดพิษแต่ยังไม่ตายแค่บาดเจ็บ (type II) โดยผ่านอนุมูลออกซิเจนในเซล กล้ามเนื้อหัวใจใช้พลังงานสูงทำให้การทำลายเกิดมาก

  มีการตรวจค่า troponin หลังให้ยาว่าถ้าหากค่าสูงขึ้น (เหมือนกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด) จะพยากรณ์การเกิดโรคหัวใจจากยาเคมีบำบัดชนิดนี้ได้

  และอีกหลายสมมติฐานที่บอกว่าเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการจัดการยาของกล้ามเนื้อหัวใจ (MRP-1 and MRP-2 membrane transporter) ซึ่งอธิบายได้ว่าเหตุใดบางคนได้ยาขนาดสูงแต่ก็ไม่เป็นอันตรายใดๆ

  การป้องกันยังไม่ได้มีผลชัดเจนนัก ไม่ว่าการใช้ยาในรูปแบบพิษน้อยลงคือ peglycated liposomal doxorubicin หรือยาลดอนุมูลอิสระ dexrazoxane หรือยาต้านเบต้า   ดังนั้นการป้องกันที่ดีทีสุดคือ ระวังไม่ให้ใช้ยาสูงเกิน และตรวจการทำงานของหัวใจก่อนให้ยาและติดตามเพื่อตรวจจับภาวะหัวใจวายตั้งแต่เนิ่นๆ และรักษาให้เร็ว  ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงถาวรกับหัวใจ จนยากจะรักษา

ที่มา
Curr Cardiol Rev. 2011 Nov; 7(4): 214–220.
BLOOD, 20 APRIL 2017 x VOLUME 129, NUMBER 16

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม