18 เมษายน 2561

บทบาทของการแพทย์ในสงคราม

บทบาทของการแพทย์ในสงคราม ว่าจะไม่พูดเรื่องสงครามแล้วนะแต่ก็อดไม่ไหว ครั้งก่อนเราพูดถึงเรื่อง แก๊สพิษที่อเมริกาและพันธมิตรอ้างว่าซีเรียใช้ เป็นต้นเหตุในการใข้กำลังเข้าปราบปราม ครั้งนี้เรามาดูเกร็ดความรู้ว่า ในภาวะสงคราม การแพทย์และการช่วยเหลือนั้นมีหลักการใดๆ
เรามีกฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดเรื่องนี้นะครับ หลักๆคือ อนุสารเจนีวา อนุสารนี้เป็นการลงชื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของชาติสมาชิกในการปฏิบัติต่อมนุษย์ในยามสงคราม ในปี 2492 ไทยเราก็ไปลงนามด้วยและนำข้อความมาใช้เป็น พรบ. การบังคับใช้ตามอนุสารเจนีวา ปี 2498
และมีข้อบังคับกาชาดสากล กฏหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อให้ชาติต่างๆปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งทหาร พลเรือน เจ้าหน้าที่ เชลยศึก อย่างมีมนุษยธรรม ไม่ให้เกิดการซ้ำรอยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการทารุณกรรมเชลยสงครามอีก
เรามาดูว่าแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่จะเข้าไปปฏิบัติภารกิจทางการแพทย์นั้น ทางสากลเขาว่ากันอย่างไร
ทีมแพทย์ (ทั้งบุคคลและทีม) ต้องได้รับการปกป้องและยอมรับจากคู่สงคราม ไม่ว่าจะทีมแพทย์ฝ่ายใด หรือ แม้แต่ทีมแพทย์ที่เป็นกลาง แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในช่วงการปฏิบัติภารกิจทางการแพทย์นะครับ และการปฏิบัตินั้นต้องไม่มีท่าทีเป็นปรปักษ์กับคู่สงครามอีกด้วย หรือพูดง่ายๆว่าหากเข้าไปปฏิบัติการทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว ไม่ไปคุกคามฝ่ายใด ก็จะได้รับการคุ้มครอง ทีมแพทย์ที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับสงครามจะได้รับสิทธิติดเครื่องหมายกาชาดสากล เป็นสัญลักษณ์สากลด้วย
ซึ่งอันนี้จะรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการทางศาสนา เช่น การดูแลศพ แต่จะไม่ได้ประดับเครื่องหมาย
เวชภัณฑ์ต่างๆ อุปกรณ์เพื่อการรักษา ก็จะต้องไม่ถูกทำลายโดยเจตนา เบียดบังเอาไปใช้ หรือ นำมาเป็นข้อเรียกร้องในสงคราม ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายใด หรือกำลังลำเลียงไปให้ฝ่ายใดก็ตาม ต้องไม่เป็นเป้าหมายการโจมตี
การขนส่งทางการแพทย์ทั้งอุปกรณ์ บุคคล หรือ การขนส่งคนเจ็บ พึงได้รับการคุ้มครอง ไม่โจมตี ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งในดินแดนฝ่ายใด หรือข้ามดินแดนที่พิพาท หรือส่งไปดินแดนประเทศที่เป็นกลาง ทั้งทางน้ำ บก และ อากาศ
ภารกิจหน้าที่ ... แต่เดิมในอนุสารระบุเฉพาะบุคลากรที่เข้าสู้รบ แต่อนุสารปรับปรุงครั้งหลังนั้นกำหนดภารกิจถึงพลเมืองที่ไม่ได้มีส่วนในการสู้รบด้วยหรือพูดง่ายๆว่าดูแล ผู้เจ็บป่วย ทุกคนเท่าๆกัน ไม่เลือกข้าง ไม่เลือกเพศ ภาษา ศาสนา เชื้อชาติ ความเชื่อ หรือ อุดมการณ์การเมือง ด้วยการบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน "ตามความจำเป็นและสถานการณ์" ใช้การตัดสินแบบเวลาปรกติไม่ได้ เป็นข้อยกเว้น (ในกรณีอาญา ว่าทำไม่ได้ตามมาตรฐานปรกติ)
กำหนดบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรบแล้ว หมายรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ทหารที่บาดเจ็บหรือป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติการ หรือเจ้าหน้าที่ที่ถูกปลดอาวุธ เจ้าหน้าที่ที่ไม่ประสงค์จะทำการสู้รบต่อเนื่อง หากเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ได้รับบาดเจ็บหรือป่วย ก็จะได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ฝ่ายใดของสงครามก็ตาม หรือจากประเทศที่เป็นกลาง
พลเรือนที่อยู่ท่ามกลางสงคราม เชลยศึก ที่ได้รับบาดเจ็บหรือล้มป่วย ก็ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งการรักษาและการส่งตัวในสนามรบ หรือส่งไปในโรงพยาบาลประเทศเป็นกลาง และการรักษาหรือส่งตัวก็จะได้รับการคุ้มครองด้วย (แต่พลเรือนนั้นจะต้องไม่มีทีท่าเป็นภัยคุกคามฝ่ายใดด้วย)
ข้อตกลงว่าประเทศคู่สงคราม (อาจมีมากกว่าสองประเทศ) จะต้องไม่ทำการโจมตี "โดยตรง" กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ ฐานที่ตั้งปฏิบัติการทางการแพทย์ การลำเลียงขนส่งเวชภัณฑ์และคนเจ็บ ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
และห้ามนำการปฏิบัติการทางการแพทย์มาเป็นเครื่องต่อรองในสงคราม การเจรจาทางการเมือง (ในกรณีก่อนสงคราม) และต้องยินยอมให้ปฏิบัติการทางการแพทย์ไม่ว่าฝ่ายใด ดำเนินไปด้วยดี
แม้ประเทศที่ชนะสงคราม ก็จะต้องจัดบริการทางการแพทย์ให้กับเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บและล้มป่วย โดยใช้เจ้าหน้าที่ของตนหรือจากประเทศเป็นกลางหรือจากองค์กร NGO ก็ได้และต้องให้ความคุ้มครองแบบเดียวกันกับช่วงที่มีสงคราม จนกว่าเหตุการณ์จะยุติ
สรุปมาคร่าวๆให้เข้าใจภาพรวมนะครับ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก Geneva Convention, International Humanitarian Law, International Committee of Red Cross จากตำรากฎหมายระหว่างประเทศทั่วไป ..ผมอ้างมาจากตำราของ มสธ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม