03 เมษายน 2561

นิ่วที่มองด้วยเอ็กซเรย์

การเอ็กซเรย์แล้วไม่พบก้อนนิ่ว ไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นนิ่วเสมอไป เพราะนิ่วบางอย่าง ...มองไม่เห็นจากเอ็กซเรย์...

  ถ้ามีอาการและอาการแสดงสงสัยเป็นนิ่วทางเดินปัสสาวะ เช่น ปวดเอวเป็นพักๆบีบๆ ปัสสาวะขัดขุ่น ปัสสาวะมีเลือดปน ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะบ่อยๆ การตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเม็ดเลือดปนในปัสสาวะ สงสัยนิ่วทางเดินปัสสาวะ
  เมื่อไปเอ็กซเรย์แล้วไม่เห็นมีก้อนนิ่ว อาจเป็นเพราะมองไม่เห็น ขนาดเล็ก ซ้อนทับกระดูกมองยาก แต่ก็จะมีนิ่วบางประเภทที่เอ็กซเรย์ปรกติทั่วไปไม่เห็นเรียกว่า radiolucent stone

  แม้ว่าก้อนนิ่วส่วนใหญ่จะเป็นก้อนนิ่วที่มีองค์ประกอบของ แคลเซียม ธาตุโลหะอัลคาไลน์เอิร์ธที่พบมากที่สุดในโลก มีสมบัติทึบรังสีเอ็กซเรย์ รังสีเอ็กซ์ทะลุไม่ได้จึงเห็นเป็นเงาสีขาวในฟิล์มเอ็กซเรย์ เช่น กระดูก ฟัน หรือบางคนพบแคลเซียมผิดที่เช่นที่หลอดเลือด ตับอ่อน หรือ นิ่วที่เราพูดกัน
  แต่นิ่วโปร่งแสง ... เช่น นิ่วกรดยูริก นิ่วซิสเตอีน นิ่วที่เกิดจากยาต้านไวรัสเอดส์ indinavir (เลิกใช้ไปแล้ว) เอ็กซเรย์ไม่เห็น อาจต้องใช้วิธีอื่นเช่น

1. ฉีดสารทึบรังสีในเลือด แล้วให้มันไปไหลออกที่ไต ดูว่ามีการอุดกั้นหรือขวางกั้นทางเดินสารทึบรังสีในท่อปัสสาวะ ท่อไตบ้างหรือไม่

2. การทำอัลตร้าซาวนด์ จะช่วยบอกได้ถ้าเห็นเงาทึบเสียง..ก็คลื่นอัลตร้าซาวนด์เป็นคลื่นเสียง จะเห็นเงาทึบเสียง acoustic shadow หรืออาจเห็นท่อไตส่วนต้นน้ำกว่าจุดอุดตันโป่งออก

3.เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ แล้ววัดหน่วยของแสงและเงา ที่เรียกว่า Hounsfield's Unit จะแยกความเข้มของนิ่วต่างๆได้พอควร

  ดังนั้น ประวัติ อาการ ความเสี่ยงและการตรวจร่างกาย ต้องมาก่อนการตรวจทางห้องปฏิบัติการเสมอ และหากสงสัยควรเลือกตรวจให้ถูกและทราบข้อจำกัดของการตรวจแต่ละประเภทด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม