05 เมษายน 2561

การวัดขนาดไต

หนึ่งในการประเมินโรคไตที่ปลอดภัยและไม่เจ็บตัว คือการประเมินขนาดของไต

  โรคไตเรื้อรังนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างและหน้าที่ของไต จากเดิมที่เราเคยได้นำเสนอการวัดการทำงานด้วยการประเมินการกรองของไตที่เรียกว่า estimated glomerular filtration rate (eGFR) ที่ได้จากการคำนวณด้วยสูตรต่างๆ ใช้ค่าครีอาตินีนในเลือดมาเข้าสูตรคำนวณ  และใช้การวัดปริมาณโปรตีนที่รั่วมาอยู่ในปัสสาวะ
  ลักษณะทางโครงสร้างที่ "ส่วนใหญ่" จะพบคือ ไตจะหดลง ขนาดเล็กลง ขนาดของไตตามปรกติจะยาวประมาณ 10-12.5 เซนติเมตร ไตข้างขวาจะยาวกว่าไตข้างซ้ายเล็กน้อย โดยวัดจากปลายบนสุดมายังปลายล่างสุด

  การประเมินที่ง่ายและทำได้เร็วคือการวัดด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์  วัดจากหน้าจอเครื่องจะคิดทบออกมาเป็นตัวเลขขนาดจริงๆให้ ทำให้สามารถประเมินได้เร็วแต่ก็ขึ้นกับผู้ทำด้วย เพราะถ้าตั้งแกนไม่ตรง ตัวเลขที่วัดได้ก็จะสั้นลง เพราะแนววัดมันแฉลบ
  ถ้าเราเห็นขนาดไตที่เล็กลง น่าจะบอกได้ว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดขึ้นมาเรื้อรังและไม่คืนสภาพเดิม หากประวัติและการตรวจอื่นๆเข้าได้กับโรคไตเรื้อรังด้วย โอกาสจะเป็นโรคไตเรื้อรังจะเพิ่มขึ้น

   แต่ว่าก็มีโรคไตเรื้อรังบางประเภทที่ชนาดของไตไม่เล็กลง หรืออาจจะใหญ่กว่าปรกติอีก เช่น โรคไตเสื่อมจากเบาหวาน ในระยะที่ไม่เสื่อมมากนักอาจจะพบขนาดเท่าเดิมหรือเล็กลง  โรคซีสต์ที่ไต เมื่อมีก้อนซีสต์มาแทรกไตย่อมไม่เล็กลง เช่น polycystic kidney disease โรคไตเสื่อมอันเนื่องมาจากการอุดกั้นท่อทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง ท่อมันโป่งขนาดโดยรวมจึงไม่เล็ก (แต่เนื้อไตจริงๆแล้วเล็กลง)   โรคไตจากการมีสารต่างๆมาสะสมพอที่ไตเช่น amyloidosis และโรคไตที่เกิดจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดชนิด myeloma
  ดังนั้นหากประเมินคนไข้ที่ไตเสื่อมแล้วขนาดไตยังปรกติ นอกจากอาจเป็นโรคดังกล่าว อาจต้องคิดว่ากระบวนการเสื่อมที่เกิดไม่ได้เรื้อรัง อาจคืนสู่สภาพเดิมได้ เช่น โรคไตวายเฉียบพลัน

  การทำอัลตร้าซาวนด์ไต อาจได้ข้อมูลอื่นๆอีกเช่น นิ่ว การอุดตันของท่อไต ก้อนเนื้อที่กดเบียด หรือถ้าวัดขนาดไตสองข้างแล้วแตกต่างกันมากๆ ให้ระมัดระวังว่าอาจจะมีปัญหาหลอดเลือดที่มาเลี้ยงไตตีบแคบลง ทำให้ข้างนั้นไตเล็กลง

  ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่มีการตรวจอัลตร้าซาวน์ไตเพื่อคัดกรอง และไม่มีการตรวจโดยไม่มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นนะครับ นอกจากจะทำให้สับสนว่าสิ่งที่พบนั้นอธิบายอาการหรืออธิบายโรคได้หรือเปล่า (เพราะไม่มีข้อบ่งชี้) ยังอาจทำให้เกิดการตรวจเกินจำเป็นเพราะความกลัว เช่น กลัวจะเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ กลัวถูกร้องเรียน ซึ่งการตรวจขั้นตอนต่อไปแต่ละอย่างจะแพงขึ้น ต้องฉีดสี มีอันตราย หรือต้องเจ็บตัวเช่นการส่องกล้อง การเจาะชื้นเนื้อ

  ไม่ว่าการตรวจเพิ่มทางห้องปฏิบัติการชนิดใด จะต้องตั้งต้นจากประวัติและการตรวจร่างกาย การวินิจฉัยแยกโรค ข้อบ่งชี้การตรวจ  ข้อห้ามและข้อควรระวัง และนำข้อมูลที่ได้จากการตรวจไปประกอบกับอาการและอาการแสดงทางคลินิกเสมอ
  ไม่ว่าการตรวจนั้นจะง่าย สะดวก หรือราคาถูกเพียงใดก็ตาม

เครดิตภาพ : pinterest.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม