14 มีนาคม 2561

ตรวจ PSA กับการดักจับมะเร็งลูกหมาก

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน เราได้อ่านเรื่องราวของการคัดกรองมะเร็งไปแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการศึกษาที่ทำในอเมริกาหนึ่งการศึกษาตีพิมพ์ออกมา ว่าการใช้การตรวจคัดกรองมะเร็งลูกหมากด้วยการใช้ผลเลือด PSA เพียงครั้งเดียวสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งได้หรือไม่ ชื่อว่า TheCluster Randomized Trialof PSA Testing for Prostate Cancer หรือเรียกสั้นๆว่า CAP

  เป็นการเชื้อเชิญชายอายุ 50-69 ปีมาตรวจคัดกรองมะเร็งลูกหมากด้วยวิธีตรวจเลือด PSA หนึ่งครั้ง แล้วดูผล ในกรณีขึ้นสูงก็ไปทำการตรวจชิ้นเนื้อต่อไป และไปเทียบกับคนที่ไม่ได้คัดกรอง  ตรวจตามอาการตามปกติ ถ้า"สงสัย" จึงเจาะตรวจ PSA และวินิจฉัยต่อไป
  โดยติดตามดูการเกิดมะเร็งและอัตราการเสียชีวิต ติดตามไปสิบปีว่าต่างกันไหม

  เรียกว่าเลือกทำในกลุ่มเสี่ยงเลย เพราะหากคุณอายุ 30-40 คุณคงไม่ไปคัดกรองจริงไหม อย่าลืมว่าการคัดกรองคือทำในขณะไม่มีอาการใดๆนะครับ และติดตามไปสิบปี ก็พอที่จะเห็นการเจริญเติบโตของมะเร็งแน่ๆ
  สิ่งที่พบคือหลังจากจบสิ้นการศึกษา กลุ่มที่ได้รับการเชื้อเชิญมาคัดกรองหนึ่งครั้ง ตรวจพบมะเร็งในระยะแรกมากกว่า กลุ่มคนที่ไม่ได้ตรวจ แน่ละ..ก็ตรวจย่อมเห็นมากกว่าหรือไม่  ก็ไม่ตรงไปตรงมาขนาดนั้น อย่าลืมว่าถ้าหากผลการตรวจเป็นบวกเท่านั้นจึงส่งไปทำการเจาะตรวจชิ้นเนื้อ

  หมายถึงคนกลุ่มที่เจาะเลือด PSA หนึ่งครั้ง ย่อมมีโอกาสเข้ารับการตรวจชิ้นเนื้อมากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยตรวจเลือด การเจาะตรวจชิ้นเนื้อที่เป็นการวินิจฉัยมาตรฐานของมะเร็งลูกหมาก

  เมื่อเข้ารับการตรวจมาตรฐานมากกว่า ย่อมเจอมากกว่า ถูกไหม ..ความสำคัญจึงอยู่ที่ตัวเลข..พบว่ากลุ่มที่เจาะเลือดแล้วทำนู่นนี่นั่นต่อไป พบมะเร็ง 4.3% ส่วนคนที่ไม่ได้เจาะเลือด จะทำนู่นนี่นั่นเมื่อมีอาการเท่านั้น พบใะเร็ง 3.6% แตกต่างกันจริงในขนาดเล็กน้อย แต่ว่านัยสำคัญทางสถิติ 
  สำหรับอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลูกหมากพบว่าทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกันเลย พูดผิดอีกแล้ว..น่าตี  ต้องบอกว่าต่างกันนะ แต่ว่ามันไม่มีนัยสำคัญ คือต่างกัน น๊อยยน้อยยยมากๆๆ เลย

  หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าถึงแม้ตรวจพบมากกว่า แต่ก็เป็นมะเร็งระยะต้นเหมือนๆกัน ไม่ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตเท่าไร และอีกอย่างกลุ่มคนที่เป็นมะเร็งในการศึกษานี้ได้รับการรักษาค่อนข้างดี อัจราการเสียชีวิตโดยรวมจึงไม่มาก

  ฟังดูน่าจะดีนะ ตรวจเลือดครั้งเดียว รู้ว่าเป็นมะเร็งระยะต้นเร็วกว่า

  อ๊ะๆๆ อย่าลืมประโยคแรกๆ คนที่เข้ารับการตรวจเลือด ***หากผลเป็นบวกต้องเข้ารับการตัดชิ้นเนื้อต่อไป*** นั่นถือต้องมีการตัดชิ้นเนื้อ การสูญเสียสตางค์ตรวจเพิ่มอาจเกิดผลข้างเคียงจากการตรวจชิ้นเนื้อ และผลเสียอันนี้ดูว่าจะทำฟรีมากกว่า เพราะสุดท้ายเป็นมะเร็งแค่ 4% เสียชีวิตก็เท่าๆกัน
  ทั้งๆที่อีกฝั่ง ไม่ต้องเจาะเลือด ไม่ต้องจิตตก ไม่ต้องทำนู่นนี่นั่น สุดท้ายปลายทางพบมะเร็งระยะต้นๆพอๆกัน รักษาได้พอๆกัน อัตราการเสียชีวิตก็ไม่ต่างกัน

   แล้วตกลงมันคุ้มที่จะทำไหมเนี่ย ยิ่งถ้ามองภาพรวม เจาะคนอายุ 50-69 กี่คนแล้วในประเทศ เจอผลบวกคือ PSA สูง ซึ่งไม่ไวไม่จำเพาะ ก็จะต้องเสียค่าตรวจชิ้นเนื้ออีกเท่าไร ยังไม่นับความกลัวที่จะต้ องไปสแกนสารพัดอวัยวะ ตรวจเลือดอีกร้อยแปดพันเก้า ทั้งๆที่ปลายทางก็พอๆกัน

  ทำให้ตอนนี้ผลการศึกษาที่ใช้ผลเลือด PSA ในการคัดกรองครั้งเดียวหรือนานๆครั้ง อาจมีประโยชน์ไม่มากและต้องเจอการตรวจเพิ่มเติมที่ไม่จำเป็นมากมาย โดยผลลัพธ์ไม่ขยับมากนัก เรายังคงต้องรองานวิจัยที่กำลังทำ ว่าการตรวจถี่ขึ้น หรือตรวจแล้วต้องตัดชิ้นเนื้อ หรือจะใช้ค่าเท่าไรที่เหมาะสม หรือจะมีวิธีใหม่ที่สามารถตรวจได้เร็วกว่า แม่นกว่า และง่ายกว่าอีกหรือไม่

  ตอนที่ทำบทความเรื่องคัดกรองมะเร็งของ American Cancer Society มีคุณหมอศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะท่านหนึ่งให้ความเห็นได้น่าฟังว่า ถึงแม้การใช้ค่าผลเลือด PSA มันจะยังดูไม่เหมาะสม ไม่ดีเท่าไร แต่ปัจจุบันเราก็ยังไม่มีวิธีอื่นที่จะดีไปกว่านี้ ในการตรวจคัดหามะเร็งลูกหมากระยะต้น ที่สามารถรักษาหายได้

  สนุกไหมล่ะครับ วิชาแพทย์ และ อายุรศาสตร์ง่ายๆมันๆแบบนี้

เร้าใจในทุกลีลา .. การคิด
แนบสนิทในทุกจังหวะ .. การเขียน
เร่าร้อนเสมอกับท่วงท่า .. วิชาเรียน
หมุนเวียนไม่ซ้ำซ้อน ... ตอนใช้งาน

เครดิตภาพ : medicalnewstoday.com  กรุณาโฟกัสที่ลูกหมากนะจ๊ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม