20 มีนาคม 2561

วิธีการประชุมวิชาการ

สิ้นเดือนเมษายน จะเป็นงานประชุมวิชาการราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย งานประชุมที่จะมีอาจารย์ชื่อดังมาบรรยายให้เราฟัง สรุปรวบยอดความรู้ที่เป็นไข่มุกในแต่ละสาขาวิชา  งานวิจัยจากนักวิจัยรุ่นใหม่ และงานมอบวุฒิบัตรผู้สำเร็จการศึกษา
  แน่นอน เพื่อนเจอเพื่อน ลูกศิษย์เจออาจารย์ สนุกสนาน เสียงหัวเราะ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็นหลักของการประชุมวิชาการคือการบรรยายและอัพเดตความรู้

  ตารางเข้าประชุมออกมาแล้ว เรียกว่าอัดแน่นทั้งสามวัน เช้าจรดเย็น ครบถ้วนทุกสาขา ทุกรูปแบบการนำเสนอ แล้วจะไหวไหมสำหรับคนที่ต้องการไปอัพเดตความรู้ แพทย์ประจำบ้านที่เข้าไปฟัง แพทย์สาขาอื่นๆ แพทย์เวชปฏิบัติ เภสัชกร พยาบาล
  สำหรับบรรดาเทพเหรียญทองไม่ต้องกังวลกับตัวเขานะครับ เรียนทั้งวันก็ไม่เป็นอะไร แต่ว่าบรรดาเด็กหลังห้อง แหวกว่ายใต้ mean  กินบ๊วยเป็นกระปุกๆ เราจะจัดการอย่างไร ผมมีข้อเสนอ อันนี้ประสบการณ์ล้วนๆ ทำมาหลายปีหลายงาน ทั้งในและต่างประเทศ รู้สึกได้ผลดีนะ  รวมทั้งการเรียนวิชาอื่นๆผมว่าก็ประยุกต์หลักการนี้ใช้ได้เช่นกัน..ย้ำอีกที อย่าอ่านผิดนะ ประยุกต์...กอไก่สะกด

  หัวข้องานประชุมจะแบ่งเป็น

Guidelines --- อธิบายแนวทางใหม่ๆทั้งของไทยและของเทศ แบบใจความเน้นๆ

Symposium --- คล้ายๆประชุมให้ความเห็น..ของวิทยากร โดยเราคอยฟังความเห็นของวิทยากรแต่ละท่าน

Case seminar --- อันนี้จะเป็นกรณีศึกษาและอภิปรายหลักการให้เข้ากับเหตุการณ์จริง สนุกมากและผู้เข้าร่วมประชุมสามารถแสดงความเห็นได้ วิทยากรจะมีความสุขมากหากมีใครยกมือถามหรือแสดงความเห็น

Spot Diagnosis/ interactive --- ใครสนใจมองปุ๊บตอบปั๊บ ลักษณะเด่นๆที่ต้องรู้ หรือการฝึกปฏิบัติจริง ก็ส่วนนี้

Landmark Clinical trial ---  เอาวารสารที่ชื่อดัง มีผลต่อวงการมากๆ มาวิเคราะห์ชำแหละกันละเอียดยิบ

Meet the expert --- ก็จะมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญยกเรื่องที่น่าสนใจมาพูดและให้ผู้เข้าร่วมประชุม ถามตอบหรือแสดงความคิดเห็น ส่วนนี้จะเช้ามากๆ เจ็ดโมงครึ่ง ใครสนใจต้องตื่นเช้านะครับ

Research --- เป็นการนำเสนองานวิจัยในระดับต่างๆที่ทำในประเทศ พร้อมมีเม้นเตอร์ และให้คะแนน  จะได้ไอเดียงานวิจัยหรือเห็นว่าแพทย์ไทยมีความสามารถเช่นกัน

Luncheon Symposium --- กินไปฟังไป หัวข้อจะเบาหน่อย และเป็นส่วนที่ผู้จำหน่ายเวชภัณฑ์ให้การสนับสนุน จึงมักเป็นเรื่องราวของยา หรือการรักษา การค้นพบที่เกี่ยวกับยานั้น แต่ว่ารับรองได้ว่าไม่ได้มาขายยาต่างๆ เพราะมีกฏ ระเบียบปฏิบัติเคร่งครัด เนื้อหาเกือบทั้งหมดก็เป็นกลางเป็นวิชาการ นำไปใช้ได้แม้จะไม่ใช่ยาที่สนับสนุนก็ตาม

  เห็นว่ามีหลากหลายแล้วแต่จะเลือกเข้าฟัง ข้อสำคัญคือแต่ละห้องจะมีเวลาประมาณแค่หนึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่งเท่านั้น เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะอัดเนื้อหาทั้งหมดจนครบในเวลาเท่านี้ นอกเหนือจากนั้นหลายๆห้องเรียนเปิดพร้อมกัน ก็ต้องวางแผนในการเลือกเข้าให้ดี บางเรื่องสามารถต่อเนื่องกันฟังแล้วขยายความเข้าใจไปเรื่อยๆ เช่น Landmark เรื่องเครื่องช่วยหายใจ มี symposium เรื่องเครื่องช่วยหายใจตอนบ่าย และ meet the expert ตอนเช้าพรุ่งนี้ ก็สามารถต่อเนื่องไปได้ถ้าเราวางแผนดีๆ 

1. เลือกเรื่องที่เราสนใจตั้งแต่ก่อนมาประชุมอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ สูจิบัตรงานประชุมจะออกมาเป็นเดือน เราเลือกเลย เช้าจะอยู่ห้องไหน สายจะเข้าห้องใด กินข้าวห้องใด ตอนบ่ายจะไปอยู่ห้องไหน บางคนอยากพักช่วงไหน อย่างผมแก่แล้วลุยทั้งวันไม่ไหว บ่ายๆอาจมีชั่วโมงจิบกาแฟ ชื่นชมน้องเด้นท์สาวๆในงาน

2. วางแผนการเดินระหว่างห้องประชุม ผมเคยหลงห้อง คิดว่าเรื่องนี้ อ้าว..ไม่ใช่ พอจะไปห้องที่ต้องการก็เต็มแล้ว  โชคดีที่ศูนย์การประชุมพีช ห้องมันใหญ่และติดๆกัน ไม่เสียเวลามากนัก

3. ทุกห้องแจ้งเรื่องบรรยายมาล่วงหน้า  เราต้องอ่านไปก่อนนะครับ คร่าวๆก็ยังดีโดยเฉพาะส่วน guideline และ landmark study ที่สามารถหาอ่านได้ก่อน เพราะเวลาที่พูดมีจำกัดและวิทยากรจะเลือกเฉพาะใจความมาพูด ดังนั้นถ้าเราทราบรายละเอียดหรือภาพรวมไปก่อน เราจะฟังได้เข้าใจโดยที่ใช้การจดจำน้อยลงมาก ...ข้อสามนี่สำคัญมากเลยนะครับ...

4. ปิดโทรศัพท์ หยุดดูเฟสบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม มันทำให้เราเสียสมาธิมากครับ เนื้อหาที่วิทยากรพูดมันคือ cream of cream ฟังให้เข้าใจในช่วงเวลาที่จำกัดเป็นทักษะที่ต้องฝึกนะครับ ใครยังไม่ชำนาญพอ แนะนำตัดตัวกวนอื่นๆไป  รวมทั้งนังซู่ซี่หรือไอ้ปื๊ด ที่คอยตามมาเม้ามอยเรื่องอื่นๆด้วย เดี๋ยวตอนเย็นฟังเสร็จค่อยไปอัพเดตใต้เตียงดารากันก็ได้

5. จดบันทึกเฉพาะหัวข้อสำคัญ ไม่ต้องจดทุกคำพูด ข้อนี้ถ้าเราเตรียมตัวมาจากข้อสามดีแล้ว มันไม่ยาก ส่วนตัวผมพิมพ์เปเปอร์ หรือ โหลดไกด์ไลน์เป็น PDF file หรือเปิดหนังสือไปด้วยเลย  วงข้อสำคัญ มาร์กสี ไฮไลท์  ทำตอนนี้ได้เลยเพราะเราอ่านคร่าวๆมารอบหนึ่งแล้ว

6. ถ่ายภาพเฉพาะที่จำเป็น อย่าจดจ่อแต่จะถ่ายรูป เหมือนเวลาคุณไปเที่ยวและจ้องแต่จะถ่ายภาพสวยๆ คุณจะลืมไปเลยว่าความงามของสถานที่นั้นๆเป็นอย่างไร พยายาม จดจ้องด้วยสายตาและบันทึกด้วยหัวใจ  ...อย่าลืมดูด้วยว่าวิทยากรเขาอนุญาตไหม ผมเคยไปฟังที่ต่างประเทศครั้งนึง วิทยากรเขาห้ามบันทึกภาพเลยนะ

7. เมื่อฟังบรรยายเสร็จแล้ว อย่าจบเพียงแค่นั้น มาอ่านสรุปอีกรอบ เราก็จะครบเลยทำความเข้าใจก่อน เสริมด้วยคำบรรยายผู้รู้ และกลับมาปะติดปะต่อด้วยตัวเอง ใครจะบันทึกด้วยก็จะทำให้จำได้แม่นยำ เข้าใจ เอาไปใช้ได้เลย
   และควรทำให้เร็วในหนึ่งถึงสองวันเท่านั้น อย่าให้สาย อย่าให้นานไป ช่วงเวลาประชุมนี่แหละ บรรยากาศตื่นตัวทางวิชาการสูงมาก

8. เนื่องจากเราฟังไม่ครบอยู่แล้ว ในงานจะมีสั่งจองดีวีดีงานประชุม สามารถสั่งซื้อหน้างานได้สะดวกดี ไม่ต้องโอนเงินแจ้งการชำระเงิน จ่ายเงินแล้วรอไปรษณีย์ไปส่งที่บ้านได้เลย เอาไว้ทบทวนและเก็บตกเรื่องที่ไม่ได้ฟัง เวลาเก็บตกก็ทำตามข้อ 1-7 ด้วย

9. เมื่อเราเข้าใจดีแล้ว อย่าลืมไปเล่าให้เพื่อนพี่น้องร่วมอาชีพฟังด้วย จะไปเผยแพร่ความรู้ออกไปวงกว้าง และเราเองก็ได้เข้าใจลึกซึ้งขึ้น น้องๆรวมตัวกันเขียนบล็อกเปิดเพจเลยก็ได้ เฉพาะกลุ่มแลกเปลี่ยนกัน ใครเปิดเป็นสาธารณะก็บอกกันด้วย

10. ตั้งใจทำแบบนี้ กับทุกๆงานประชุมวิชาการก็จะคุ้มค่าลงทะเบียน อุตส่าห์เดินทางมาไกล ลางาน ฝากหมอคนอื่นดูแลคนไข้ ก็ต้องให้คุ้มค่า เวลามันไม่ย้อนกลับมา และน้องๆที่เรียนอยู่หรือสาขาอื่นๆ สามารถนำหลักการนี้ไปใช้ได้เช่นกัน เราจะได้ใช้เวลาได้คุ้มค่า ได้ประโยชน์สูงสุดจากการประชุมวิชาการ

  ส่วนตัวผมเลือกเรื่องที่จะหาอ่านเองไม่เข้าใจ หาฟังได้ยาก  โดยเฉพาะถ้ามีวิทยากรชื่อดังจากต่างประเทศหรือในประเทศมักจะไม่พลาด โอกาสดีๆแบบนี้น้อยมาก น่าเสียดายที่ส่วนตรงนี้มีน้อยลง
  และการไล่อ่าน poster presentation ทำให้เราได้ความคิดดีๆอีกหลายอย่าง น่าสนุกมากครับ บางที่เรื่องใกล้ตัวเราก็คิดไม่ถึง
  หลังประชุมเสร็จก็มาพบปะสังสรรค์ เจอพี่น้องเพื่อนฝูงครับ พักผ่อนกินข้าว เล่นน้ำ นั่งทำมิวสิควิดีโอริมหาด  ทำคะแนนจากหนุ่มที่หมายตา

  และบางทีท่านอาจจะเดินสวนกับแอดมินเพจวิชาการต่างๆ โดยที่ท่านไม่ทราบเลยก็ได้ พวกแอดมินวิชาการมักมีความสามารถในการพรางตัวและกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้ดี หรือ พูดง่ายๆคือ หน้าตาบ้านๆ ไม่มีใครสนใจ นั่นเอง !!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม