01 มีนาคม 2561

nifedipine อมใต้ลิ้น ถึงเวลาเลิกใข้

เลิกใช้ ยาลดความดัน Nifedipine ที่เอามาอมใต้ลิ้นกันได้แล้ว !!

สมัยก่อนเรามีการใช้ยาเม็ดลดความดัน nifedipine เคี้ยวอมหรือแกะแคปซูลอมใต้ลิ้น เพื่อหวังผลลดความดันเร็วๆในผู้ป่วยที่ความดันโลหิตสูงมากๆ แต่ปรากฏว่าผลที่เกิดมันอันตราย และรุนแรงมากกว่าผลที่ได้คือแค่ตัวเลขความดันลด ..ความดันลด คนใช้ยาดีใจ แต่คนไข้อาจได้ผลเสีย 

1.nifedipine เป็นยากินที่ออกฤทธิ์เร็วอยู่แล้ว และหากใช้การอมใต้ลิ้นก็จะสามารถออกฤทธิ์ได้ใน 5-10 นาทีเลยทีเดียว เช่นกันก็หมดฤทธิ์เร็ว ทำให้ความดันที่ลดลงชั่วคราวกลับมาสูงอีก แต่ว่าจะคาดเดาการออกฤทธิ์ได้ยาก ไม่เหมือนยาฉีด ยาหยดเข้าหลอดเลือดในการลดความดัน

2. nifedipine ทำให้เกิดหัวใจเต้นเร็วขึ้น reflex tachycardia และ หลอดเลือดส่วนปลายขยายออก เลือดไปกองกันที่อวัยวะที่ไม่สำคัญเช่นแขนขา กระบวนการทั้งหมดนี้ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบาดเจ็บมากขึ้น มีการทดลองทำในญี่ปุ่น โดยวัดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจพบว่าแม้ใช้เพียงขนาดต่ำก็มีอันตรายที่ทำให้เลือดไปหัวใจลดลง

3. แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นกับการใช้ยา nifedipine แบบใต้ลิ้น ซึ่งไม่ใช่ข้อบ่งชี้ที่องค์การอาหารและยาระบุ และไม่มีการศึกษาถึงประโยชน์การใช้ nifedipine แบบอมใต้ลิ้นเลย การใช้ทั้งหมดที่ได้รับคำรับรองมาจากการกินทั้งสิ้น

4. ปัญหาที่เกิดคือ เมื่อความดันลดเร็วเกิน ชีพจรก็เร็วมาก เลือดก็ไม่เข้าหัวใจ ...เหมือนปั๊มน้ำที่น้ำไหลเข้าน้อย แรงดันปั๊มก็แย่ แถมทำงานถี่มากจนน้ำยังไม่ทันเข้ามาเต็มปั๊มเลยต้องปั๊มออกไปอีกแล้ว เรียกว่า ปั๊มก็แย่ลงๆ เลือดก็ไม่ออก  สุดท้าย หัวใจ ไต สมอง ขาดเลือดโดยพร้อมเพรียงกัน

5. มีรายงานผลเสียจากการใช้ยา nifedipine อมใต้ลิ้นมากมาย (ประโยชน์ก็ไม่มี แถมโทษยังเยอะอีก) ลักษณะที่เกิดก็เหมือนกรณีที่ผมเคยเขียนไป ความดันไม่สูงจริง ไปลดเร็วมากๆ ไตวายเลย อันนี้ก็เหมือนกัน   ดังนั้นในแนวทางการรักษา JNC 6 (ปัจจุบัน JNC 8 แล้ว) ไม่แนะนำการใช้ยา nifedipine แบบอมใต้ลิ้นในการรักษาความดันสูงแบบฉุกเฉินอยู่เลย

6. แล้วจะทำอย่างไร อยู่ที่ห่างไกล ยามีใช้น้อย ....อย่างแรก ความดันโลหิตสูงเร่งด่วนแบบต้องใช้การลดด่วนๆ 25% ในชั่วโมงแรกจริงหรือ ปัจจุบันนั้นเหลืออยู่น้อยมาก ได้แก่ หลอดเลือดแดงฉีกขาด aortic dissection, ครรภ์เป็นพิษ pre eclampsia and eclampsia, ภาวะฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตชนิดอิพิเนฟรีนสูงอันตราย pheochromocytoma crisis ถ้ามีจริง ให้ใช้ยาฉีดนะครับ (จากแนวทางความดันใหม่ล่าสุด AHA/ACC 2017)

7. ยาที่ใช้ที่ผมคิดว่ามีทุกที่ เพราะว่า ภาวะครรภ์เป็นพิษนั้น ทุกที่รักษาได้ จึงมียาที่ใช้ในการรักษาความดันสูงแบบฉุกเฉินนี้ได้เช่นกัน ปัจจุบันคือ ยาฉีด nicardipine ที่มีทุกที่ ส่วนที่ใดมียาฉีด labeterol, NTG, nitropropusside ก็ว่ากันไปตามนั้น   ...จึงไม่ใช้ nifedipine แบบอมใต้ลิ้นอีกต่อไป หรือถ้าไม่มีจริงๆก็ส่งต่อเถอะครับ

8. หากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉินอย่างที่เรากล่าวกันมาแล้ว หรือจากโพสต์ที่แล้ว ให้ใจเย็นๆ และใช้ยากินนะครับ เพื่อความง่าย ผมตัดภาพมาจากแนวทางการรักษาความดันโลหิตสูงตัวใหม่ล่าสุดของ AHA/ACC 2017 มาให้ดูด้วย (แนวทาง 130/80 นั่นแหละ)

9. มีการรวบรวมข้อมูลในสเปน ตั้งแต่ไม่สนับสนุนการใช้ nifedipine อมใต้ลิ้น มาตั้งแต่ 1998 พบว่าการให้ข้อมูลแก่บุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับอย่างต่อเนื่อง เมื่อเก็บข้อมูล ปี 1997-2001 พบว่าการใช้ nifedipine อมใต้ลิ้นลดลงมาก ก็หวังว่าบทความนี้คงได้ประโยชน์เช่นกัน

10. ขอขอบคุณ อ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา Rapeephon Rapp Kunjara ที่ช่วยย้ำเตือนเรื่องนี้ ส่วนตัวผมไม่เคยใช้เลยและคิดว่าคงไม่มีใครใช้ จึงไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ แต่จริงๆก็ยังมีอยู่บ้าง และอาจเกิดอันตรายได้ จึงขอรวบรวมข้อมูลมาสรุปให้ฟังครับ

ที่มา
JNC 8
AHA/ACC HT guideline 2017
Nature : Journal of Human Hypertension; Jan 2008
Clin Exp Pharmacol Physio 1999 May-June;26(5-6)
Rev Clin Exp 2003 Jan;203(1)
JAMA 1999;159(19)

เครดิตภาพ : youtube.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม