03 มีนาคม 2561

ปวดท้องเมนส์ (primary dysmenorrhea) ทำไมต้องกิน พอนสแตน

ปวดท้องเมนส์ (primary dysmenorrhea) ทำไมต้องกิน พอนสแตน หรือชื่อทางยาสามัญ mefenamic acid วันนี้เราเข้าสู่การเป็น "สูตินรีเวช ง่ายนิดเดียว"
ปัญหาปวดท้องขณะมีประจำเดือน เชื่อว่าหลายๆคนคงจะเคยประสบกันบ้าง รุนแรงมากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่คน หลายๆคนก็ใช้ยาหลายชนิด หลายๆคนต้องล้มหมอนนอนเสื่อ หนึ่งในยาที่ใช้ในการรักษาที่เรียกว่า "ฮิต" ติดตลาดคือ พอนสแตน
ยา mefenamic หรือ NSAIDs ในกลุ่ม fenamates ค้นพบในปี 1960 และหมดสิทธิบัตรทางยาในปี 1980 จึงมีการใช้ยาที่เป็นยาสามัญมากมาย มีการรับรองการใช้ยาพอนสแตนในการรักษาปวดท้องเมนส์มานานแล้ว โดยการศึกษาที่ทำในปี 1980 เขาใช้พอนสแตนเทียบกับยาหลอก หรือไม่ใช้ยานั่นเอง ก็พบว่า พอนสแตนลดปวดได้ดีกว่ามาก
ก่อนหน้านี้มีการใช้ยาพาราเซตามอลมาลดปวดหรือกลุ่มมอร์ฟีน ก็ลดปวดได้ไม่ดีนัก สาเหตุเพราะเรามาพบในช่วงปี 1980 นี่เองว่า อาการปวดประจำเดือนมันเกิดมาจาก สารที่ชื่อว่า พรอสตาแกลนดินส์ (prostaglandins) สารนี้เป็นสารเริ่มต้นของการอักเสบ ปวดบวมแดงร้อน ในเมื่อพอนสแตนเป็นยากลุ่มต้านการอักเสบโดยตรง ยับยั้งการสร้างพรอสตาแกลนดินส์โดยตรง มันจึงได้ผลนั่นเอง
ใข้ NSAIDs ตัวอื่นได้ไหม ในปี 1983 ก็มีการทำการศึกษาเทียบพอนสแตน กับ ไอบูโพรเฟน กับ ยาหลอก ในการลดปวดที่เริ่มจากระดับความปวดเท่ากัน ยาไอบุโพรเฟนกับพอนสแตนลดปวดได้ดีกว่ายาหลอก และไอบูโพรเฟนกับพอนสแตนลดปวดได้ไม่ต่างกัน
หลังจากนั้นก็มีการศึกษาออกมาอีกมากมาย ก็พบว่าจากการนำการศึกษามารวบรวมยา NSAIDs ทั้งหลาย พบว่าดีกว่าพาราเซตามอลและยาหลอกหมดทุกตัว และประสิทธิภาพการลดปวดไม่ต่างกันในกลุ่มบรรดา NSAIDs
สำหรับยาแก้ปวดกลุ่ม COX2 คือ พวก coxibs ทั้งหลายที่ไม่ค่อยกัดกระเพาะ พบว่าแม้การศึกษายังน้อยมาก แต่เท่าที่มีนั้นผลลดปวดก็ไม่ต่างจาก NSAIDs กลุ่มเดิมเลย
ในขณะเดียวกันผลข้างเคียงของ NSAIDs ในเรื่องระคายเคืองกระเพาะ เลือดออกจากกระเพาะ ไตบาดเจ็บ และอันตรายสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจโดยเฉพาะหัวใจวายก็ยังพบเหมือน NSAIDs ทุกตัว
พอนสแตนจะมีเพิ่มมาอีกหน่อยคือพบปวดศีรษะได้บ่อยกว่าตัวอื่นๆ การใช้ยาพอนสแตน ให้เริ่มขนาด 500 มิลลิกรัมก่อน แล้วกินขนาด 250 มิลลิกรัมวันละ 3 เวลา ต่อกันสามสี่วัน (ตามเวลามีประจำเดือน) และระวังหากใช้ยาร่วมกับยาลดความดันกลุ่ม อีปริ้ว (-pril)
ยา NSAIDs อื่นๆเช่น naproxen,ibuprofen,sulindac,piroxicam ก็ใช้ได้และต้องระวังผลเสียของยาเช่นกัน ส่วน COXib ก็ใช้ได้แต่มีข้อมูลน้อยกว่าครับ
หากปวดมากๆ ทำอย่างไรก็ไม่หาย ให้ไปปรึกษาวิธีการรักษากับสูตินรีแพทย์..ตัวจริง..นะครับ (ท่านหมื่นอายุรศาสตร์ เป็นแค่ตัวปลอมนะออเจ้า)
ที่มา
Ginecol Obstet Mex 1995 Jan;63:4-9
Int J Gynecol Obstet 1980 ;18(3)
Obstet Gynecol 1983 May;61(5)
Cochrane database Syst Rev 2015 ;30(7)
BMJ Clin Evid. 2007; 2007: 0813.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม