29 มีนาคม 2561

ยาดีแค่ไหน ถ้าเข้าไม่ถึงคนไข้ ก็ไร้ค่า

บางครั้งวารสารทางวิทยาศาสตร์ก็แฝงแง่คิดที่สำคัญเหมือนกันนะครับ สำหรับเรื่อง "ความเป็นไปได้"
เราทราบกันดีว่าโรคเอชไอวีติดต่อหลักๆทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะหากไม่ได้ป้องกันด้วยถุงยางอนามัย ถ้าพูดแบบกำปั้นทุบดินซึ่งก็จะโดนกำปั้นทุบหน้าแน่ๆ ว่าการป้องกันที่ดีที่สุดคือ..อย่ามีเพศสัมพันธ์..!!! ครับวิธีการป้องกันนี้ล้มเหลวแน่นอนเพราะขัดกับความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ไม่เข้ากับวิถีการดำรงชีพ ไม่น่าพึงพอใจ
เราจึงคิดค้นวิธีรักษาและป้องกันโรคที่ง่ายต่อการใช้ เป็นมิตรกับผู้ใช้ เฉกเช่นการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาดูตัวอย่างกัน
วารสาร JAMA 28 มีนาคม 2561 ได้ลงบทความทบทวนเรื่องการให้ยาโรคเอชไอวีเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เกริ่นนำคร่าวๆว่า เดิมทีเรารักษาคนไข้หลังติดเชื้อแล้วได้ผลดีจึงมีแนวคิดที่จะให้ยาในคนกลุ่มเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดโรคจะดีกว่าไหม
มีการศึกษาในแบบทบทวนนี้ทั้งสิ้น 8 การศึกษากล่าวถึงการให้ยา tenofovir หรือ tenofovir/emticirabine แบบเม็ดรวม ในการป้องกันโรคเอชไอวีแบบต่างๆ โดยสองการศึกษาใหญ่ที่เป็นต้นแบบของสาขาทางนี้คือ IPERGAY และ iPrEX เพจเราก็ได้นำเสนอไปแล้ว
การป้องกันคือให้ยาในขณะยังไม่ติดเชื้อ ทำในกลุ่มต่างๆได้แก่ คู่นอนติดเชื้อแล้ว, เป็นกลุ่มชายรักชายเป็นส่วนมาก, มีหญิงชายอยู่ด้วย, ใช้เข็มฉีดยาสารเสพติด, อาชีพให้บริการทางเพศ
โดยให้ยาแบบวันละเม็ดร่วมกับวิธีป้องกันอื่นๆ ก็แสดงว่ายังมีการไม่สวมถุงยางอนามัยแน่ๆ เราจึงต้องใช้มาตรการป้องกันนี้ด้วย และที่สำคัญ ไม่สามารถห้ามการมีเพศสัมพันธ์ได้แน่ๆ
ปรากฏว่าเมื่อรวบรวมดูแล้วนั้น กลุ่มชายรักชายที่กินยาทุกวันสามารถลดการติดเชื้อเอชไอวีลง 86% ในขณะที่กลุ่มชายหญิงลดการติดเชื้อ 75% โดยเปอร์เซ็นต์ที่แปรปรวนนี้ขึ้นอยู่กับ การติดตามการกินยาได้อย่างสม่ำเสมอ หากกินทุกวันตามกำหนดอัตราการป้องกันจะสูงกว่า (และระดับยาในเนื้อเยื่อลำไส้สูงกว่าในช่องคลอดน่าจะเป็นคำอธิบายเรื่องการป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักได้ดี)
หมายความว่า ... แม้แต่เป็นวิธีที่ง่ายขึ้น แต่ก็ยังต้องขึ้นกับความร่วมมือของผู้รับการรักษา เนื่องจากการกินยาทุกวันย่อมไม่ใช่ปรกติวิสัยของมนุษย์ ยิ่งการกินเพื่อป้องกันด้วยแล้วผลมันไม่ทันตาเหมือนอย่างยาลดไข้และยาแก้ปวดที่กินแล้วเห็นผลชัดเจน
และยังรวมไปถึงว่า หากภาครัฐต้องการใช้มาตรการนี้ในการลดผู้ติดเชื้อเอชไอวี ก็ต้องจัดสรรและจัดการการให้ยาให้ดี ต้องไม่ยุ่งยากเกินกว่าจะเข้าถึง ไม่ใช่เข้าไปต่อคิว 5 ชั่วโมงเพื่อรับยาป้องกัน..อย่าลืมว่ามันคือการป้องกันไม่ใช่รักษา ถ้ายุ่งยากเขาอาจไม่ใช้วิธีนี้
ต้องมีการจ่ายเงินจากกองทุน หรือ การจ่ายร่วม ในวารสารนี้ได้ระบุว่ามีรหัสโรคสำหรับการป้องกันตาม ICD 10 เรียบร้อย ส่วนการเบิกจ่ายทั้งหมดหรือบางส่วนก็ขึ้นกับแต่ละรัฐ แต่ถ้าต้องจ่ายหมดมาตรการนี้อาจไม่สำเร็จ
ต้องมีการติดตามการกินยา การตั้งครรภ์ การเกิดผลข้างเคียงจากยาไม่ว่าไตเสื่อมหรือกระดูกพรุน เพื่อให้คุ้มค่า ไม่ใช่ว่าตั้งใจลดปริมาณผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่ต้องกลับเพิ่มการรักษาไตวายมากมาย อันนี้ก็ดูไม่คุ้มค่าในภาพใหญ่ของประเทศ
ส่วนการจ่ายยาให้ยาแบบ on-demand คือจะเสี่ยงค่อยกินนั้น ยังไม่ได้รับรองโดย US-FDA แต่ในวารสารแจ้งว่ามีที่ฝรั่งเศสเท่านั้นที่ใช้แบบนี้ได้ ...ความเห็นส่วนตัวนะขนาดกินสม่ำเสมอยังมีการติดตามกินยาได้ไม่สูงเท่าไร 50-80% เอง ถ้าจะใช้แบบจะเสี่ยงค่อยกินอาจจะไม่สำเร็จ บางทีของแบบนี้มันมาโดยไม่ทันตั้งตัว กลัวใจรับไม่ทัน
ที่กลัวว่าจะดื้อยาไหม ก็พบว่าในคนที่กินยาสม่ำเสมอแล้วเกิดติดเชื้อนั้นก็ไม่ได้มีเชื้อดื้อยามากขึ้นแต่อย่างใด...ย้ำสำหรับคนที่กินยาสม่ำเสมอ..
แม้ว่าผลการศึกษาจะบอกว่าการป้องกันเอชไอวีโดยการสวมถุงยาง หรือการใช้ยาป้องกันจะมีประสิทธิภาพดีเพียงใด ถ้าในโลกแห่งความจริงไม่สามารถประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คน การรักษานั้นก็ล้มเหลว
"ยาดีแค่ไหน ถ้าเข้าไม่ถึงคนไข้ ก็ไร้ค่า"
รีวิวฉบับนี้ดีมาก อ่านง่าย โยงเหตุผลดี ทำลิงก์มาให้แต่ไม่ฟรีครับ
อยากอ่านฟรี ไปอ้อนวอน Infectious ง่ายนิดเดียว ให้ช่วยสรุปให้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม