24 กันยายน 2567

งานวิจัยเปรียบเทียบการใช้บุหรี่ไฟฟ้าหรือยา varenicline ในการเลิกบุหรี่

 นี้มีน้อยมากครับ และใช้เวลานานกว่าจะทำได้

บุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ใช่วิธีตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น นิโคติน 0% ก็ตาม
เพราะยังมีอันตรายอื่นจากบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้การใช้ยายังดีกว่า และเลิกได้ในระยะยาว รวมทั้งไม่เกิดการเปลี่ยนรูปแบบจากการสูบบุหรี่ธรรมดา กลายเป็นบุหรี่ไฟฟ้า
Tuisku A, Rahkola M, Nieminen P, Toljamo T. Electronic Cigarettes vs Varenicline for Smoking Cessation in Adults: A Randomized Clinical Trial [published correction appears in JAMA Intern Med. 2024 Aug 1;184(8):993. doi: 10.1001/jamainternmed.2024.3981]. JAMA Intern Med. 2024;184(8):915-921. doi:10.1001/jamainternmed.2024.1822


































23 กันยายน 2567

การตรวจระดับแอลกอฮอล์เพื่อวัดความเมา

 การตรวจระดับแอลกอฮอล์เพื่อวัดความเมา ตามกฎกระทรวงใหม่

เมื่อวานนี้ 20 กย. กฎกระทรวงนี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เกี่ยวกับการตรวจแอลกอฮอล์ตาม พรบ.การจราจรทางบก ผมมาเล่าให้ฟังแบบง่าย ๆ นะครับ
1.การตรวจแอลกอฮอล์ทำได้โดยวัดจากลมหายใจก่อนเป็นลำดับแรก
2.ในกรณีไม่ยินยอมให้ตรวจ เจ้าพนักงานสามารถสันนิษฐานไว้ก่อนได้ว่าเมา และเปรียบเทียบปรับ ดำเนินคดีได้ เมื่อแจ้งข้อหาว่าเมาแล้ว หากจะหักล้าง ต้องไปหักล้างกันในชั้นศาล
3.ในกรณีตรวจลมหายใจไม่ได้ (ด้วยกรณีใด ๆ ก็ตาม) กฎกระทรวงใหม่นี้ให้อำนาจพนักงานจราจร หรือพนักงานสอบสวน เก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อส่งตรวจได้ด้วย คือมีที่ให้เก็บตรงด่านตรวจได้เลยนะ
4.นอกจากจะให้เก็บปัสสาวะได้แล้ว กฎกระทรวงใหม่ ให้อำนาจพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน ส่งตัวผู้ขับขี่ไปที่ รพ.ใกล้ที่สุด เพื่อตรวจหาแอลกอฮอล์จากเลือดได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด (คือภายในสามชั่วโมง) โดยแจ้งด้วยวาจาหรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก่อนได้ หนังสือค่อยตามมาทีหลัง
5.การตรวจในข้อสามหรือสี่ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ขับขี่ ถ้าไม่ยินยอม กลับไปอ่านข้อสอง
6.ในข้อสามและสี่ ให้ปฏิบัติภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือพูดง่าย ๆ คุณหมอต้องเซ็นรับทราบ และมีโอกาสไปเป็นพยานได้ครับ
7.ตัวเลขที่ถือว่าเมา คือ ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มันมีค่าการคำนวณจากลมหายใจหรือปัสสาวะไปเป็นในเลือด แต่เครื่องยุคนี้เขาปรับและคำนวณออกมาให้แล้ว
8.ส่วนตัวเลขที่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะใช้เมื่อ ไม่มีใบขับขี่, มีใบขับขี่แต่ผิดประเภท, ถูกเพิกถอนชั่วคราว, มีใบขับขี่ประเภทชั่วคราว, อายุน้อยกว่า 20 ปี
ผมอยากบอกว่า คนเรา นน.มาตรฐาน 50 กิโลกรัม ดื่มเบียร์หนึ่งกระป๋อง มีโอกาสถึง 85% ที่จะเป่าแล้วเกิน 50mg% นะครับ ดังนั้น ดื่มไม่ขับนะครับ
เพราะก่อนจะถึงขีดเมา มันจะเลยขีดเริ่มมีความผิดปกติทางการตัดสินใจไปแล้วครับ และหากตรวจว่าอุบัติเหตุนั้นเกิดร่วมกับเมา จะมาอ้างว่าเพราะเมาจึงเกิดอุบัติเหตุ ไม่เจตนาไม่ได้นะ แถมยังเป็นข้อที่จะไม่มีการลดโทษ ผิดเงื่อนไขประกันวินาศภัยอีกด้วยครับ

22 กันยายน 2567

สนพ. เม็ดทราย

 มีใครรู้จักหนังสือของ สนพ. เม็ดทราย บ้างครับ

หนังสือของ สนพ.นี้ เป็นหนังสือสำหรับเด็ก เล่มเล็กขนาดใส่กระเป๋าเสื้อได้ ไม่หนาเพราะออกแบบให้เด็ก ปกและภาพประกอบจะสะอาด คลีน สีสันสวย
มีหนังสือนิทานประกอบภาพ ที่เขียนใหม่ ให้กระชับ จบเร็วใน 8-10 หน้า ใช้ศัพท์ง่าย และเรื่องไม่ซับซ้อน นำเรื่องจากนิทานอีสป นิทานกริมม์ มาทำหนังสือ
เช่น หนูน้อยหมวกแดง หมูสามตัว
และวรรณกรรมคลาสสิค เช่น เกาะมหาสมบัติ โรบินฮู้ด เค้าน์มองเตคริสโต เอามาเรียบเรียง ให้เป็นภาษาเด็กโตอ่าน ไม่ยาก เดินเรื่องเร็ว มีภาพประกอบลายเส้นสวย ๆ
ที่สำคัญราคาไม่แพง เล่มละ 30-50 บาม ให้ซื้ออ่านกันได้ เด็ก ๆ เก็บค่าขนมซื้อได้ ทำให้รักการอ่านมากขึ้น
หลายห้องสมุดจะมีในหมวด 800 วรรณคดีและ มีวางขายตามร้านหนังสือทั่วไป แต่สามเล่มนี้ผมได้จากออนไลน์มือสอง
เป็นสามเล่มที่ผมเคยซื้อสมัยก่อน ตอนนั้นซื้อที่แผงหนังสือคลองหลอด (เกิดทันกันไหมเนี่ย) และเคยไปซื้อที่บูรพาสาส์น กับห้างนิวเวิร์ลด์บางลำพู ชั้น 6
สามเล่มนี้เป็นตัวเปิดโลกการอ่านเลยนะ ยังจำได้เลย ตอนนั้นคุณพ่อของผมไปเล่นดนตรีไทยตามงานศพและงานไหว้ครู งานลิเกต่าง ๆ (จริง ๆ ท่านบอกว่า ไปเรียนรู้กับครูดนตรีมืออาชีพเก่ง ๆ ด้วยวิธีนี้)
ผมขอคุณพ่อซื้อสามเล่มนี้แหละ แล้วนั่งรอคุณพ่ออยู่ในศาลา จบเชอร์ล็อคโฮล์มส์หนึ่งเล่ม แล้วไปอ่านต่อที่บ้านจนจบโรบินฮู้ดอีกเล่มในคืนนั้นเลยครับ
เล่มเล็กเล่มน้อย วันละเล็กวันละน้อยนี่แหละครับ จะสร้างการอ่านที่ยิ่งใหญ่ได้

เกาะอีสเตอร์ และยา rapamycin

 วันอาทิตย์แบบนี้ ก็ถึงเวลาชงกาแฟร้อนเข้ม ๆ มากินคู่กับครัวซองต์เนยอุ่น นั่งบนโซฟาแสนนุ่ม แล้วไปเที่ยวกับลุงหมอทัวร์แอนด์ทราเวลครับ

ปี 1492 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เดินทางไปทางตะวันตกและไปเจอดินแดนอเมริกา นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโลกใหม่ หลังจากการสิ้นสุดของยุคมืด
โคลัมบัสไปเจอคนท้องถิ่นที่คิดว่าเป็นคนเอเชีย แต่ความจริงแล้วเป็นคนพื้นเมืองของทวีปอเมริกา ตอนนั้นโคลัมบัสเจอหมู่เกาะแถบบาฮามาสและโดมินิกัน ซึ่งเวลานั้นทวีปอเมริกาเหนือและใต้มีอารยธรรมมาอย่างยาวนานแล้ว
ตามแนวเทือกเขาแอนดีส เป็นที่อยู่ของชาวอินคา เจ้าของอารยธรรมโบราณที่เรายังไม่เข้าใจมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งการนับเวลา การทำปฏิทิน การสร้างพิรามิดบนเขาสูง พื้นที่ยาวจรดเหนือใต้กินอาณาบริเวณประเทศเปรูและชิลีในปัจจุบัน
ที่ดินแดนแห่งนี้ ชาวอินคาได้ค้นพบหลายอย่าง แต่ก็มีความลับอีกหลายอย่างที่รอการค้นพบ
การค้นพบตัวยาเพนิซิลินที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง เป็นการค้นพบที่เปลี่ยนโลกทางการแพทย์ ทำให้ ‘เทรนด์’ การคิดค้นยาปฏิชีวนะจากเชื้อราธรรมชาติ ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง มีการออกเสาะแสวงหาตัวอย่างเชื้อราทั่วโลกเพื่อค้นหายาปฏิชีวนะชนิดใหม่
และดินแดนที่มีความนิยมอีกจุดคือ อเมริกาใต้นี่เอง ด้วยเหตุที่สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน ยังไม่มีการค้นพบ และเดินทางได้สะดวกกว่าแอฟริกา ที่นี่เราพบเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดที่มีผลการยับยั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียด้วยกัน
การค้นหาเป็นไปแบบสุ่ม แต่หลายที่ก็ค้นตามข้อสังเกต หนึ่งในข้อสังเกตคือ มีชาวพื้นเมืองที่เกาะหนึ่ง มีโรคบาดทะยักน้อยกว่าเกาะอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ชาวเกาะที่นี่เดินเท้าเปล่า กลุ่มหมู่เกาะต่าง ๆ นี้จะมีโรคบาดทะยักอยู่มาก ยกเว้นที่นี่
ดินแดนภายใต้การดูแลของประเทศชิลี เกาะมหัศจรรย์ที่พวกเราทุกคนรู้จักดี แต่ว่ารู้จักเพราะสิ่งก่อสร้างลึกลับบนเกาะนี้ นี่คือเกาะอีสเตอร์ แห่งทะเลใต้
เกาะอีสเตอร์ มีรูปสลักมนุษย์หัวโตตัวเล็ก รูปปั้นขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตามทุ่งหญ้าของเกาะและตั้งตระหง่านท้าทายนักท่องเที่ยวที่มาที่นี่ รูปสลักโมอาย ที่เรารู้จักกันดี
เกาะอีสเตอร์ เป็นเกาะที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ ตามแนววงแหวนแห่งไฟของโลกที่พาดผ่านประเทศชิลี พื้นหินและก้อนหินทั่วเกาะเป็นหินภูเขาไฟสามารถสลักหินได้ง่ายกว่า ชาวโพลีชิเชียนที่เดินเรือข้ามทะเลมาที่นี่ ได้ค้นพบหินสลักง่ายนี้แล้วสลักเป็นรูปโมอาย ที่ว่ากันว่าเป็นผู้คุ้มครองเกาะ และพบมากสุดที่เกาะใหญ่ของหมู่เกาะคือเกาะอีสเตอร์ ที่ชื่ออีสเตอร์เพราะค้นพบในวันอีสเตอร์ โดยนักสำรวจชาวเนเธอร์แลนด์ Jacob Roggeveen แต่ชื่อตามที่ชาวเกาะท้องถิ่นเรียกคือ Rapa Nui หรือเกาะราปาใหญ่
ปี 1931 สองปีให้หลังการตีพิมพ์ผลงานพบยาเพนิซิลลิน นักวิทยาศาสตร์ชาวเดนมาร์ก Hans Laurits Jensen ได้ออกไปเก็บตัวอย่างดินที่เกาะอีสเตอร์แห่งนี้ แต่ถามว่าเจนเซ่นทำตามสมัยนิยมการเก็บเชื้อจากดินหรือไม่ ต้องตอบว่าไม่ เพราะคุณเจนเซ่นของเราเป็นลูกชาวนา ทำการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก เรียนจบและทำวิจัยที่วิทยาลัย Denmark Agricultural College ทำวิจัยพืชมามากมาย สนใจเรื่องนี้อยู่แล้วและพอดีกับกระแสการค้นพบที่กำลังมาแรง
แจนเซ่นได้นำตัวอย่างกลับมาวิจัย และพบว่าแบคทีเรีย Streptomyces hygroscopicus มีสมบัติทางเคมีเรียกว่าวงแหวน macrolide lactone ที่เราเคยรู้จักกันในยาฆ่าเชื้อกลุ่มแมคโครไลด์ เช่น erythromycin, clarithromycin หรือยาตัวแรกที่สกัดออกมาได้คือ streptomycin ตามชื่อแบคทีเรีย streptomyces นี่เอง
แต่ว่าวงแหวน macrolide lactone ของแบคทีเรียที่แจนเซ่นค้นพบ กลับมีสมบัติสำคัญในการต้านเชื้อรา แต่ยังไม่ได้พัฒนาจนใช้งานได้ เมื่อทิ้งท้ายไว้เช่นนี้ ก็ต้องมีการค้นพบต่อไป
ข่าวคราวการค้นพบได้รับการเผยแพร่และตีพิมพ์ นั่นดึงดูดนักวิจัยและนายทุนมาทำการศึกษาที่ดินแดนหมู่เกาะทะเลใต้และหมู่เกาะอีสเตอร์นี้
แม้ว่าเกาะนี้เป็นเกาะมหาสมบัติแห่งการค้นพบทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ว่าวิวที่สวยงามและบรรดารูปสลักโมอาย กลับเป็นที่ดึงดูดของนักท่องเที่ยว และทางรัฐบาลชิลีวางแผนที่จะสร้างท่าเรือและท่าอากาศยานเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เมื่อถึงเวลานั้น แบคทีเรียในดินอันทรงคุณค่าอาจจะเปลี่ยนสภาพไปได้
ปี 1964 นักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดา Stanley Skoryna และ Georges Nogrady เดินทางมาที่นี่และเก็บรวบรวมตัวอย่างดินให้มากสุดก่อนที่สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยน เพื่อไปศึกษาที่ Ayerst Laboratory ที่มอนทรีออล
แม้ว่าจะยังไม่รู้ว่าจะมีแนวทางการพัฒนาอย่างไร แต่ทั้งสองคนคิดว่าคุณค่ามหาศาลนี้น่าจะมีประโยชน์ในอนาคต ที่นั่นเขาทั้งสองคนและ Surendra Neth Sehgal นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียที่มาตั้งรกรากวิจัยอยู่ที่แคนาดา
ทั้งสามคนได้คิดค้นเกี่ยวกับแบคทีเรีย streptomyces hygroscopicus และสาร macrolode lactone ได้พัฒนาไปเป็นยากลุ่ม polyenes หรือ amphotericin ยาฆ่าเชื้อราที่ทรงพลังอย่างยิ่งที่เรารู้จักกัน
และทีมนี้ยังได้พบความลับอันหนึ่งของสารสกัดนี้ คือสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ ที่เรียกว่า antiproliferative agents โดยเฉพาะกับเซลล์ภูมิคุ้มกัน T lymphocyte ที่น่าจะมีประโยชน์ต่อไปในอนาคต
Shegal น่าจะวิจัยจนได้ผลสำเร็จ แต่อนิจจา Ayerst มีปัญหาทางการเงินและปิดตัวไป Shegal เสียใจมาก เดินทางกลับบ้านแต่ยังนำสิ่งที่ผูกผันและมีค่ามากกลับไปกับเขาด้วย คือ streptomyces hygroscopicus ตัวต้นแบบ แล้วโยนเข้าช่องแช่แข็งตู้เย็นบ้านเขาเอง นานมากจนลืม
จนปี1988 ปีที่สิ้นสุดสงครามยาวนานของอิรักอิหร่าน โซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน โลกจัดกีฬาโอลิมปิก ดูว่าสันติภาพน่าจะเกิด ที่ว่าเวลาเดียวกันบริษัทสัญชาติอเมริกาคือ Wyeths ได้เข้าควบรวมกับ Ayerst และฟื้นฟูแนวคิดที่ค้างไว้ และน่าจะทำให้บริษัทกลับมามีกำไรได้
แต่ทว่าในปี 1988 สารพัดยาได้เข้ามาครองโลกไปแล้ว โรคติดเชื้อเริ่มกลายเป็นอดีต แล้วจะทำเช่นไร ..ใช่แล้ว macrolide lactone จาก Streptomyces hygroscopicus ที่จะไปหวังผลเป็นยายับยั้งการเจริญของเซลล์ภูมิคุ้มกัน
Surendra Neth Sehgal ถูกเรียกตัวมาอีกครั้ง และแน่นอน สิ่งของที่เขาเก็บลืมไว้ในช่องแข็ง ได้ถูกขุดมาวิจัย Streptomyces hygroscopicus ตัวแรกตัวเริ่มจากเกาะอีสเตอร์ ได้ถูกนำกลับมาพัฒนาจนได้เป็นยากดภูมิคุ้มกัน ที่ชื่อว่า rapamycin หรือปัจจุบันเรียกว่า sirolimus และเรียกกลไกการยับยั้งนี้ว่า TOR (target of rapamycin) และเรียกยากลุ่มนี้ว่า mTOR inhibitor (m=mammalian)
….มียาอีกตัวที่อาจสับสนคือ tacrolimus แม้จะเป็น -limus แต่เป็นคนละกลไกกันนะครับ ตัวนี้เป็น calcineurin inhibitor..
ยากลุ่มนี้ให้ในการปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อป้องกันการต่อต้านของเซลล์ภูมิคุ้มกันเราเอง สามารถใช้ต้านปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันในกรณีใส่ขดลวดค้ำยันได้ (sirolimus-coated stent)
และมีแนวโน้มจะนำไปใช้ในโรคมะเร็งอีกหลายชนิดที่มีการทำงานผ่านกลไก mTOR และมีความพยายามจะมาทำเป็นสาร anti-aging อีกด้วย คนที่จะคิดทำก็ไม่ใช่ใครหรอก Sunrendra Neth Sehgal ตัวพ่อของ mTOR และ rapamycin นี่เอง
และชื่อ rapamycin ก็มาจากชื่อเกาะต้นกำเนิดแบคทีเรีย S.hygroscopicus นั่นคือเกาะ Rapa Nui นั่นเอง
นี่เรามาไกลกันมากเลยนะครับ ขอบคุณลูกทัวร์ทุกท่านที่อยู่กันจนจบ ไม่แอบหนีโดดไปเสียก่อน ไว้ครั้งหน้าจะพาไปเที่ยวกันอีกรอบนะครับ

21 กันยายน 2567

Lasker Award 2024 ตกเป็นของ ผู้พัฒนายา GLP1a

 Lasker Award ตกเป็นของ ผู้พัฒนายา GLP1a

Lasker award เป็นรางวัลให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่มีการค้นคว้าวิจัยหรือสร้างงานที่พลิกโลก เทียบเท่ารางวัลโนเบลครับ แต่จะต้องเป็นผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้นจึงจะมีสิทธิคว้ารางวัล เพื่อเป็นแรงใจและแรงเงินในการพัฒนาความก้าวหน้าต่อไป
ปี 2024 ผู้ที่ได้รับรางวัลคือสามนักวิทยาศาสตร์ที่วิจัยและพัฒนายาเบาหวาน glucagon liked peptide 1 agonist จนสามารถนำมาใช้ในการรักษาได้จริงและยังพัฒนาไปมากกว่าการรักษาเบาหวานคือการรักษาโรคอ้วน
Joel Habener, Lotte Bjerre Knudsen, Svetlana Mojsov
เดิมทียากลุ่ม incretin คิดค้นจากน้ำลายของกิ้งก่ากีล่า จนพัฒนามาจนเป็นยาเบาหวานซึ่งเป็นกระบวนการทางพันธุวิศวกรรมแล้ว ย้อนกลับไปอ่านได้ที่นี่ https://www.facebook.com/photo/?fbid=1663586293957397&set=a.1454742078175154
ยากลุ่มนี้มี ไล่ล่ากูตาย liraglutide, เซมากูตาย semaglutide, เธอสิพาตาย tirzepatide, เอ็งสิน่าตาย ไม่ใช่..เอ็กสิน่าตาย exenatide มีทั้งแบบยาฉีดและยากิน ยากลุ่มนี้สามารถลดน้ำตาลได้ดีมาก กระตุ้นอินซูลินได้โดยไม่ทำให้ระดับน้ำตาลต่ำจนอันตราย
มีการศึกษาว่าสามารถลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ สามารถลดการเกิดไตเสื่อมในโรคเบาหวานได้ และด้วยผลการศึกษาเหล่านี้ ทำให้ปัจจุบันยาได้รับการบรรจุในแนวทางการรักษาว่าสามารถใช้เป็นยาตัวแรกในการรักษาเบาหวานได้เลย โค่นบัลลังก์ยา metformin ที่มีมายาวนานได้ (คือยาตัวแรกปัจจุบันนี้มีหลายตัวนะครับ แต่ก่อนมีแต่ metformin)
ต่อมาจากผลลดน้ำหนักของยา จึงสามารถใช้ยานี้และมีการรับรองยานี้เพื่อลดน้ำหนัก (เฉพาะในต่างประเทศ) เพื่อเสริมจากการคุมอาหารเท่านั้น
ใช้ได้ทั้งยากินและยาฉีด นอกจากลดน้ำหนักแล้ว ยังลดอันตรายจากโรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับได้ด้วย
ผลอันนี้ทำให้ยาขาดตลาดเลยทีเดียว !!
แต่ว่าก็มีรายงานปัญหาทางจิตเวชและการฆ่าตัวตายหลังจากใช้ยา ว่ามีผลมากกว่ายาอื่นเช่นกัน
นับว่าปีสองปีนี้คือช่วงเวลาทองคำของ GLP-1a หลังจากก่อนหน้านี้คือความมหัศจรรย์ของ pembrolizumab ตามมาด้วย SGLT2i ต่อมาด้วย mRNA vaccine
ความมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีที่สิ้นสุด

บทความที่ได้รับความนิยม