28 ธันวาคม 2561

ภาวะเร่งด่วนทางอายุรกรรม



สรุปสิ่งที่ต้องจำส่งท้ายปี ภาวะเร่งด่วนทางอายุรกรรม
1.เจ็บแน่นหน้าอก เค้นแน่นรุนแรง เหงื่อออกมาก ใจสั่นหวิวคล้ายจะเป็นลม อาจปวดร้าวไปกราม ไปไหล่ ไปหาหมอโดยด่วนในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อแยกโรคสำคัญหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันและหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด เพราะหากรักษาได้ทันจะช่วยชีวิตได้เลย ไม่ต้องให้การรักษาใด ๆ ก่อน ตรงดิ่งไปโรงพยาบาลเลย
2.เป็นลม หมดสติ รีบพาไปโรงพยาบาล ไม่ว่าจะคืนสติดีแล้วหรือไม่ก็ตาม เพื่อแยกโรคสำคัญทางสมองเช่นลมชัก เลือดออกในสมอง โรคหัวใจโดยเฉพาะเต้นผิดจังหวะ แต่ควรตรวจสอบดูก่อนว่ามีชีพจรหรือไม่ ถ้าไม่มีให้กู้ชีพให้กดหน้าอกแล้วขอความช่วยเหลือ
3.แขนขาอ่อนแรงฉับพลัน พูดไม่ชัดฉับพลัน อยู่ดี ๆ เดินเซ ให้รีบไปโรงพยาบาลเพื่อแยกโรคหลอดเลือดสมองตีบ ในขณะนี้มีการรักษาทั้งให้ยาทางหลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดง การใส่สายสวน การทำลายลิ่มเลือด ขึ้นกับเวลาที่ไปถึง ให้ดีคือภายในสามชั่วโมงนับแต่เกิดเหตุ
4.ในผู้ป่วยเบาหวานที่ฉีดยาอินซูลินหรือยากินที่มีชื่อนำหน้าว่า Gli-- หากมีอาการหน้ามืด ใจสั่น หวิว เหงื่อออกมาก ตาพร่ามัว ต้องสงสัยภาวะน้ำตาลต่ำ ถ้ามีเครื่องเจาะให้เจาะปลายนิ้วดูต่ำหรือไม่ ถ้าต่ำหรือไม่มีเครื่องให้ดื่มน้ำหวานแค่แก้วเดียวพอแล้วรีบไปรพ. แต่ถ้าไม่รู้ตัวอย่ากรอกปากให้พาไปโรงพยาบาล เพราะอย่างไรต้องแยกโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่ดี
5.ไข้สูง หนาว เริ่มหอบ ตัวเย็น ชีพจรเบา ซึม ๆ หรือสับสน ให้รีบไปหาหมอเพราะต้องแยกภาวะช็อกจากการติดเชื้อ หากรักษาทันจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตมากมาย ระหว่างทางถ้ากินได้ให้กินยาลดไข้และดื่มน้ำบ่อย ๆ
6.หอบเหนื่อยเฉียบพลัน เจ็บหน้าอก มือเขียว ซึมลง หอบมาก นอกจากโรคในข้อหนึ่ง สิ่งที่สำคัญและต้องรีบไปหาหมอแยกโรคคือ ลิ่มเลือดดำอุดตันที่ปอด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเช่นขาขยับไม่ได้นอนติดเตียง หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
7.งูกัด ถ้านำงูตัวที่กัดมาได้ก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ไม่ต้องรัดขารัดแขนเหนือแผลใด ๆ ให้พาส่งโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการเลย และไม่จำเป็นต้องให้เซรุ่มแก้พิษงูทุกราย
8.ลมชักทันที อย่าตกใจ จับนอนให้ปลอดภัย นอนตะแคง ศีรษะตะแคง ไม่ต้องเอาอะไรไปงัดปากแล้วขอความช่วยเหลือ ไปโรงพยาบาลทันที มักจะหยุดเองในเวลาไม่เกิน 5 นาที
9.เรียนรู้ทักษะการกู้ชีวิตหากพบคนที่ไม่มีชีพจรหมดสติอยู่ เรียนรู้ทักษะการช่วยเหลือเวลาสำลักวัตถุไปอุดกั้นหลอดลม ถ้าเป็นไปได้รู้จักเครื่อง AED เครื่องช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติที่ติดตามสถานที่ต่าง ๆ
10.ข้อนี้สำคัญ รู้จักสถานพยาบาลใกล้เคียงที่บ้าน ที่ทำงาน เบอร์โทรศัพท์ที่นั้น ๆ หนทางขนส่ง มีรถไหม มีแท็กซี่ไหม อสม.อยู่ไหน กู้ภัยแถวนั้นติดต่อได้อย่างไร หรือถ้าคิดอะไรไม่ออกให้โทรสายด่วน "1669" ไม่ควรทำการช่วยเหลือเพียงลำพัง ให้ขอความช่วยเหลือเสมอ
สิ่งที่เชื่อที่แชร์ต่าง ๆ ไม่ว่าเข็มเจาะนิ้ว ไอแรง ๆ อมยาต่าง ๆ นอนพัก ... อย่าเพิ่งทำครับ ไปที่โรงพยาบาลก่อน โรคต่าง ๆ ที่เขียนมานี้ถ้าช่วยทันมันพลิกชีวิต พลิกนาทีวิกฤตได้เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม