สวัสดีครับ แฟนเพจอายุรศาสตร์ง่ายนิดเดียวทุกท่าน วันนี้ผมมาทำหน้าที่แทนลุงหมอหนึ่งวัน ผมชื่อดีดี้ ลุงหมออยากให้มาเล่าเรื่องราวการเดินทางของดีดี้ครับ เรามาฟังเรื่องราวของดีดี้กันนะครับ
ดีดี้เกิดและเติบโตที่ชั้นไขมันใต้ผิวหนังของคนเรานี่แหละครับ ตัวของดีดี้เป็นโคเสลเตอรอลแบบหนึ่ง ดีดี้มีชีวิตเรียบง่ายจนกระทั่งมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นในชีวิต นั่นคือดีดี้ถูกปลุกความมั่นใจในตัวเองขึ้นมา สิ่งที่มาปลุกมากระตุ้นดีดี้คือรังสีแม่แหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า UVb รังสี UVb นี้จะมีมากมายในแสงแดดนั่นเองครับ แต่จะมีมากเวลาแดดจัด ๆ ตั้งฉากกับผิวหนัง ช่วงหลัง ๆ นี้ดีดี้ไม่ค่อยมีแรงบันดาลใจมาปลุกนะครับ เพราะโดนสกัดดาวรุ่งด้วยครีมกันแดด ร่ม เสื้อแขนยาว ฝุ่นละอองต่าง ๆ
เมื่อรังสี UVb มากระตุ้นเรา ดีดี้นี่ตื่นเลย ตื่ง.. ตื่ง.. มีเรื่องแล้ว คราวนี้ดีดี้พร้อมแล้ว ได้รับพาสปอร์ตและวีซ่าเลย ชื่อทางการคือ วิตามินดีสาม (cholecalciferol) พร้อมเดินทางออกจากผิวหนังแล้ว
สำหรับการเดินทางของดีดี้ ดีดี้มาต่อรถที่หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังครับ รอไม่นานรถโดยสารก็มาถึง รถโดยสารพิเศษนี้จะมารับเฉพาะดีดี้เท่านั้นเรียก vitamin D binding protein ในการเดินทางเที่ยวแรกนี้จุดมุ่งหมายแรกของเราคือที่ตับนะครับ เมื่อไปถึงที่ตับเราจะได้ประทับตราว่าสำเร็จเพื่อที่จะไปจุดหมายต่อไป แหม..ยังกะแข่งแรลลี่
ระหว่างการเดินทางนี้นะครับ ดีดี้เห็นเพื่อนร่วมทางที่จะไปจุดมุ่งหมายเดียวกันและอีกไม่นานเราต้องมาร่วมทีมกัน เพื่อนนี้มาจากแดนไกล..อ๊ะ ๆ ไม่ใช่คนที่คุณก็รู้ว่าใครนะ เขามาจากต่างโลกครับ เขาชื่อว่า ดีสอง หรือชื่อเต็มคือ วิตามินดีสอง (ergocalciferol) เรามารู้จักเพื่อนร่วมอุดมการณ์และเดินทางกันสักหน่อยครับ
ดีสองนั้นมีต้นกำเนิดจากการสังเคราะห์และกระตุ้นด้วยรังสี UVb เหมือนกันแต่ว่าเขาเกิดมาจากพืชครับ มนุษย์เราไม่มีดีสองจะต้องได้รับจากการกินเท่านั้น คุณดีสองเนี่ยเขามาจากลำไส้ นั่งรถที่ชื่อ Vitamin D binding protein มาเหมือนกันและมาที่จุดมุ่งหมายเดียวกันคือที่ตับนั่นเอง
แหม...รถมาถึงที่หมายแล้ว ตอนนี้เรามาที่ตับแล้วนะครับ
ที่ตับ..ตับ ตับ ดีดี้กับดีสองเราได้พบกัน ต่อไปนี้เราจะมาเป็นบัดดี้ร่วมงานร่วมทางกัน ก่อนอื่นเราต้องมาฝึกงาน ผ่านงานที่ตับก่อน
ที่ตับเราทั้งสองจะได้รับการฝึกเรียกว่าวิชา hydroxylation เมื่อจบหลักสูตรเราทั้งคู่จะได้ชื่อว่า 25(OH)D3 และ 25(OH)D2 ตามลำดับและเมื่อเราทั้งคู่รวมกันนี่แหละคือ ปริมาณวิตามินดีที่วัดได้และนำไปใช้ ปกติถือว่าค่าที่น้อยกว่า 30 นาโนกรัมต่อเดซิลิตรจะเรียกว่าขาดวิตามินดี
รู้ไหมครับว่าในกทม.นั้น ประชากรขาดวิตามินดีเกือบร้อยละเจ็ดสิบ ภาพรวมของทั้งประเทศประมาณ 31.8 และมีคนไทยร้อยละสี่สิบห้าที่ขาดวิตามินดี ทั้ง ๆ ที่อาหารการกินเราสมบูรณ์และมีแสงแดด UVb ที่ดี
ครีมกันแดด ขาวใส ไม่ถูกแดด อันนี้สำคัญเลยครับและอาจต้องปริโภคปลาเยอะขึ้น ปลามีดีดี้มากมายเลยนะครับ
หลังจากที่เราผ่านการฝึกที่ตับแล้ว คุณตับบอกว่าเราทั้งสองยังมีวิชาไม่แก่กล้าพอ คุณตับจึงฝากฝังให้ไปฝึกปรือวิทยาปรายุทธกันอีกที่ ที่ซึ่งถือว่าเป็นตักศิลาวิชา hydroxylation ของเราคือที่ไต ว่าแล้วดีดี้กับน้องดีสองที่อัพเกรดตัวเองแล้วก็เดินทางด้วยรถคันเดิม vitamin D binding protein ไปสู่จุดหมายที่สองของเรา โรงเรียนไต
และแล้วก็มาถึงไต เดินช้า ๆ อย่าวิ่งและกระโดดนะ เดี๋ยวจะ "ตะเตือนไต"
ที่ไต เราได้รับการฝึกวิชา hydroxylation ขั้นสูงจนจบ ได้ติดตราความสามารถอัพเกรดตัวเองเป็น 1,25 (OH)2 D3 และ 1,25 (OH)2 D2 เรียกพวกเราสั้น ๆ ว่า active vitamin D คู่ดูโอมหาประลัยพร้อมถล่มทุกทีม เอ๊ย...พร้อมจัดการงานทุกอย่าง
คุณ ๆ จะเห็นว่าถ้าไม่มีคุณตับและไม่มีโรงเรียนไต พวกเราจะไม่เก่งถึงขั้นนี้ หลาย ๆ คนตับวายไตวาย ก็ไม่สามารถฝึกฝนควบคุมดีดี้และดีสองได้ จำเป็นต้องซื้อตัวผู้เชี่ยวชาญนำเข้ามาแทน คือยา calcitriol นั่นเอง
แต่ถ้าตับไตยังดี แต่ว่าขาดวิตามินดี เราจะให้กินวิตามินที่ยังไม่ได้รับการฝึกวิชา ร่างกายจะได้เอามาฝึกฝนขัดเกลาควบคุมให้ทำงานได้ดี มีคุณธรรม และไม่ให้มีปริมาณมากเกินไป โดยคุณตับและโรงเรียนไต แม้การทำงานเสื่อมลงแต่ก็จะยังพอสอนพอควบคุมได้ การกิน calcitriol นั้นเนื่องจากเขาเป็นคนนอกเนอะ (ไม่เกี่ยวอะไรกับนายกคนนอกนะ) เขาอาจจะทำงานแบบไร้การควบคุม เกิดปัญหาแคลเซียมเกินได้ เราจะใช้ calcitriol เมื่อใช้รูปแบบปรกติไม่ได้หรือไตวายตับวายมาก ๆ เท่านั้น
เอ้า..ไปเกี่ยวอะไรกับแคลเซียม ก็คือที่จะบอกต่อไปนี่แหละครับ พวกเราทั้งดีดี้และดีสองที่วิชากล้าแกร่งและรวมตัวกับเป็นขบวนการวิตามินดีแอคตีฟ จะทำหน้าที่ช่วยฮอร์โมนพาราไทรอยด์ในการดูดซึมแคลเซียมจากไตและทางเดินอาหาร การสร้างและการสลายกระดูกเพื่อการปรับแคลเซียมและฟอสเฟตในเลือด
หมดเวลาพอดี ท่านจะได้เข้าใจการเดินทางและชีวิตของดีดี้นะครับ ส่วนมากเนื้อหามาจาก
ข้อแนะนำเกี่ยวกับการขาดวิตามินดีในคนไทย โดยสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย มาจากวิกิพีเดีย, Harrison, JAMA และอื่น ๆ
พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น