06 ตุลาคม 2560

อิไต อิไต

อิไต อิไต .. โอ๊ย โอ๊ยยย
อิไต เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่าเจ็บ ..แล้วมาตั้งชื่อโรคได้อย่างไร ต้องขอย้อนไปที่มาก่อน โรคนี้ถูกบรรยายครั้งแรก ที่จังหวัดโทยามะของญี่ปุ่น
ในช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้งญี่ปุ่นต้องการโลหะมากมาย อุตสาหกรรมการถลุงโลหะโดยเฉพาะสายแร่เงินและสังกะสี ที่ทำมากในจังหวัดโทยามะ โรงงานของบริษัทมิตซุยและโคมิโอกะเป็นโรงงานถลุงแร่สำคัญตอนนั้น ตั้งอยู่ใกล้ๆแม่น้ำจินสุ สายน้ำหลักของการเกษตรในจังหวัดโทยามะ
...โรงงานทั้งสองปล่อยขี้แร่และสารปนเปื้อนลงในแม่น้ำจินสุ...
หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติเกือบสิบปี ประชาชนในจังหวัดโทยามะ เริ่มมีอาการแปลกๆ ปวดแขนขารุนแรงมาก ไตวาย ปวดกระดูกสันหลัง กระดูกผุบาง พิการผิดรูป บางคนมีท่าเดินแปลกๆที่คล้ายๆเป็ด (เป็ดจริงๆนะครับ ไม่ใช่ลิ้วพูน) คือเดินกางขาออกเพื่อทรงตัว เรียกว่าเดินแบบนี้ว่า waddling gait (แต่ในโรคนี้เกิดจากกระดูกไม่แข็งแรงนะ ไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้อพิการ)
พบมากมายที่จังหวัดโทยามะ ทางรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นก็ลงไปสำรวจ ในปี 1955 เริ่มสงสัยว่าโรคนี้เกิดจากพิษแคดเมียม การศึกษาเพื่อหาสาเหตุดำเนินไปเกือบ 10 ปี จนมั่นใจว่าอาการทั้งหลายเกิดจากการปนเปื้อนและพิษของแคดเมียมปริมาณสูงที่มาจากการผลิตสังกะสี ตกค้างมากว่า 20 ปี
ปี1968 โลกจึงได้รู้จักโรคกระดูก ที่มีอาการเจ็บมากเวลาขยับ เรียกชื่อโรคตามเสียงร้องแห่งความเจ็บปวดทรมานว่า "อิไต อิไต"
พิษของแคดเมียม มีได้หลายระบบอวัยวะที่เป็นหลักๆคือที่ไตและกระดูก แคดเมียมเข้าสู่ร่างกายหลักๆได้สองทางคือจากการสูดเอาควันที่ปนเปื้อนแคดเมียมเข้าไป และจากน้ำหรืออาหารที่มีเกลือแคดเมียมละลายอยู่ ตกค้างอยู่เป็นปริมาณมาก ในธรรมชาติจะมีแคดเมียมอยู่บ้างแต่ก็ไม่เป็นระดับที่จะเกิดอันตราย อันตรายจะเกิดจากการรับเอาแคดเมียมปนเปื้อนปริมาณสูงเข้าสู่ร่างกาย
การสูดควัน ก็จากควันอุตสาหกรรมที่มีแคดเมียม การทำถลุงแร่ ***แต่ว่า สิ่งที่ทุกคนมองข้ามคือ ควันบุหรี่นี่แหละ ที่มีแคดเมียมปริมาณสูง*** แต่ละมวนมีแคดเมียม 2 ไมโครกรัม ยิ่งถ้าใช้น้ำที่ปนเปื้อนแคดเมียมในการทำใบยาสูบจะยิ่งสูงขึ้น
การกิน ก็มาจากน้ำที่ปนเปื้อนแคดเมียมอุตสาหกรรม หรือสัตว์เลี้ยงที่บริโภคน้ำปนเปื้อนแคดเมียม น้ำในธรรมชาติมีแคดเมียมแต่ระดับต่ำมาก น้ำดื่มต้องไม่มีแคดเมียมเกิน 0.005 ไมโครกรัมต่อลิตร (ATSDR 1999) รวมๆแล้วองค์การอนามัยโลกกำหนดแคดเมียมเข้าตัวไม่ควรเกิน 7 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ต่อหนึ่งสัปดาห์
ถ้าไม่กินอาหารหรือสูดควันปนเปื้อนไม่มีทางเกิน หรือเกิดพิษได้เลย แคดเมียมส่วนเกินเมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะไปสะสมที่ท่อไต และมีการจับทำลายที่ตับโดยเซลตับจับเป็นสารประกอบต่างๆ ถ้ามากเกินก็กำจัดไม่ไหวเหมือนกัน
ภาวะพิษเฉียบพลันจะเกิดปอดอักเสบได้ ถ่ายเหลวได้ ในภาวะพิษเรื้อรังอวัยวะหลักที่เกิดคือ ไตวาย กระดูกพรุนซึ่งเป็นผลมาจากแร่ธาตุต่างๆที่จะไปสร้างความแข็งแรงกระดูกสูญเสียไปทางท่อไต (renal tubular osteomalacia) แคลเซียมและแร่ธาตุไม่สะสมที่กระดูกทำให้เปราะบางหักง่าย และปวดมากเพราะแคดเมียมไปแทนที่ การศึกษาที่เบลเยี่ยมในปี 1989 ศึกษาระดับแคดเมียมในคนที่เคยสัมผัสมาบ้าง มากกว่าคนปรกติ แต่ยังไม่มีพิษนะครับ ระดับที่ 1 ไมโครกรัมต่อกรัมครีอะตินีนในปัสสาวะ (หน่วยที่วัดระดับสาร เทียบกับของเสียมาตรฐานที่ขับออกมาทางปัสสาวะ ยิ่งมากแสดงว่าออกมามาก )
**แต่ในคนที่เป็น อิไตอิไต ระดับแคดเมียมในปัสสาวะสูงถึง 30 ไมโครกรัมต่อกรัมครีอะตินีน**
การรักษาไม่มีคำแนะนำที่เป็นคำแนะนำชัดๆ เพราะจำนวนผู้ป่วยน้อย ในปัจจุบันคงนำมาศึกษาได้น้อยลง การรักษาที่พบว่าได้ผลคือการทำ "คีเลชั่น" หรือขับแคดเมียมออกจากร่างกาย โดยใช้ยา EDTA ซึ่งการรักษาทำเพียงแค่ขับแคดเมียมออกไปเท่านั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่กลับ
ดังนั้นการป้องกันการปนเปื้อนจึงเป็นมาตรการสำคัญที่สุด
เห็นไหมครับว่า "อิไต อิไต" ไม่ได้มีความสุขอย่างที่ท่านเคยเข้าใจ
ที่มา
1.Journal of Occupational Medicine and Toxicology 2006, 1:22
2.The Scientific World Journal Volume 2013 (2013), Article ID 394652
3.Agency for Toxic Substances and Disease Registry Case Studies in Environmental Medicine (CSEM) Cadmium Toxicity
4.wikiwand

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม