12 ตุลาคม 2560

เรื่องเกี่ยวกับงู ในแง่ทางการแพทย์ สรุปให้จำง่ายใช้จริง

เรื่องเกี่ยวกับงู ในแง่ทางการแพทย์ สรุปให้จำง่ายใช้จริง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
1. เมื่อถูกกัด ไม่ต้องเสียเวลาตามหาตัวงู ถ้าเขายังอยู่ในที่เกิดเหตุ หรือพามาด้วยได้โดยไม่เสียเวลาและไม่เป็นอันตรายต่อคุณ หรือคนที่จะจับค่อยนำมาด้วย เพราะถึงไม่มีตัวงูเลย คุณหมอก็สามารถดูแลได้ ถ้ามีตัวงูก็จะช่วยได้ดีขึ้น
2. สิ่งที่ควรจะทำคือ เตรียมตัวไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ช่วงระหว่างรอจะเคลื่อนย้าย ให้ล้างแผลผ่านน้ำสะอาดไหลผ่านด้วยสบู่ ล้างบ่อยๆ ไม่ต้องขันชะเนาะ ถ้ามีเลือดออกให้กดแผลห้ามเลือด คิดอะไรไม่ออกหยิบโทรศัพท์เรียก 1669
3. ไม่ต้องประคบด้วยสิ่งใด เพราะอาจไม่สะอาด เวลาเคลื่อนย้ายจัดท่านิ่งๆ ถ้านำงูไปด้วยกรุณามัดปากถุงให้แน่น และระบุสถานะ มีชีวิตหรือไม่ ด้วยเสมอ (ผมเจอมาหมดแล้ว เปิดปากถุงออกมา โกยอ้าว ทั้งเขียวหางไหม้ เห่า แมวเซา เหลือมตัวเล็ก ที่เด็ดสุดคือ มันไม่ใช่งูมันคือตัวเงินตัวทอง)
4. ข้อนี้สำคัญที่สุด ไม่จำเป็นต้องได้ซีรุ่มต้านพิษงูทุกราย จะให้ในรายที่จำเป็นและมีข้อบ่งชี้ โดยต้องสามารถช่วยเหลือชีวิตได้ทันหากเกิดปฏิกิริยารุนแรงจากการใช้ซีรุ่ม มีการเฝ้าระวังตลอด ไม่ใช่ทุกที่ที่จะมีซีรุ่มแต่ทุกที่ดูแลรักษางูกัดได้
5. ก่อนจะไปดูแลเรื่องพิษอย่าลืมตรวจแผล ทำความสะอาด ทำแผล ประเมินแผลถูกกัด คิดถึงสัตว์อื่นๆด้วย ต้องระวังงูเห่า งูกะปะ พวกนี้จะทำลายเนื้อเยื่อรุนแรงติดเชื้อมาก อาจต้องให้ยาฆ่าเชื้อป้องกัน ส่วนงูอื่นๆสังเกตอาการติดเชื้อก่อนได้
6. พิษงูมีหลายระบบมาก แต่ที่เด่นๆในบ้านเรามีสองจุดห้าอย่าง หนึ่งพิษต่อระบบประสาท อันนี้จะทำให้เส้นประสาทควบคุมร่างกายไม่ได้ ขยับไม่ได้หายใจไม่ได้ หนึ่งคือพิษต่อระบบเลือดอันนี้เลือดจะไม่แข็งตัวซึมออกตลอดทั้งออกนอกตัวและในตัว อีกศูนย์จุดห้าคือพิษต่อระบบกล้ามเนื้อ พบน้อยมากพบบ้างคืองูทะเล
7. การรักษาตามอาการ ช่วยหายใจ แก้ปวด ดูแลแผล จัดการเรื่องการแข็งตัวของเลือดและติดตามผล ให้ยาฆ่าเชื้อเมื่อจำเป็นคือการดูแลหลัก ที่สำคัญคือต้องเร็ว ส่วนมากที่แย่เพราะมาช้า ชะล่าใจ การตรวจการแข็งตัวของเลือดเดี๋ยวนี้ใช้หลอดเดียว ไม่ต้องเขย่าแล้ว หรือถ้าเร็วให้ตรวจ coagulogram ก็ได้
8. หากมีความจำเป็นต้องให้ซีรุ่มต้านพิษงู (เป็นความจำเป็นทางการแพทย์เท่านั้น) นอกจากซีรุ่มตามชนิดงูที่ตรงตัว ซึ่งยากมากเพราะส่วนใหญ่งูหนีทัน หรือที่จัดการมาภายหลังก็ไม่รู้ว่าใช่ตัวการหรือไม่ ยังมีซีรุ่มรวมตามประเภทการออกฤทธิ์ของพิษงูด้วย
โรงพยาบาลไหนมี ต้องตรวจสอบชนิด การเก็บรักษา วิธีผสมและวันหมดอายุ โรงพยาบาลไหนไม่มีก็ต้องรู้ว่าหากจำเป็นจะไปนำมาจากที่ใด หรือจะส่งคนไข้ไปที่ใด ทันเวลาหรือไม่
9. การรักษาที่ลืมบ่อยมากคือ ลืมให้ยาป้องกันบาดทะยัก เพราะไปเพ่งพิจารณาเพียงพิษงู อาจรอให้การแข็งตัวของเลือดเป็นปรกติก่อนก็ได้ เวลากลับบ้านส่วนมากจะลืม
10. การศึกษาทางการแพทย์เกี่ยวกับประสิทธิภาพ ผลเสีย ความคุ้มค่า ของซีรุ่มต้านพิษงู เทียบกับการรักษามาตรฐานหรือยาหลอก เกิดขึ้นยากมากดังนั้น การรักษางูกัดจึงเป็นการตัดสินรายคน เฝ้าสังเกตอาการแล้วปรับแต่งการรักษา ไม่มีสูตรสำเร็จเลย
งูพิษต่อระบบโลหิตวิทยา https://www.facebook.com/medicine4layman/posts/1787007461615279
ปฐมพยาบาลผู้ถูกงูกัด http://medicine4layman.blogspot.com/2016/07/blog-post_1.html
การพิจารณาให้ซีรุ่มต้านพิษงู https://www.facebook.com/medicine4layman/posts/1460301207619241

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม