11 กุมภาพันธ์ 2563

traveller diarrhea

ท้องเสียถ่ายเหลวแบบ traveller diarrhea
traveller diarrhea คือ อาการถ่ายเหลวที่เกิดจากการเดินทางท่องเที่ยว แล้วอาจจะไปเจอเชื้อโรคที่ไม่เคยเจอ อาหารแปลก ๆ ที่ไม่คุ้นเคยแล้วมีอาการถ่ายเหลว โดยทั่วไปก็อาการไม่มาก นั่งห้องน้ำสักครู่ก็ไปลุยต่อ แบบปานกลางคือแผนการเดินทางเริ่มติด ๆ ขัด ๆ เพราะท้องเสีย แบบรุนแรงคือเสียแผนเลย ต้องนอนพักหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
++ ไม่ได้ใช้ปริมาณการถ่ายออกมาแต่อย่างใด ++
แน่นอนว่านอกจากการล้างมือ การดูแลเรื่องความสะอาดอาหารการกินแล้ว การป้องกันและการรักษาเป็นสิ่งที่กล่าวถึง เช่นกัน ในแนวทางการดูแลรักษาของ international society of travel medicine ออกคำแนะนำมาในปี 2017
การป้องกัน
..ไม่แนะนำป้องกันทุกรายและไม่แนะนำป้องกันทุกครั้ง แต่ให้เลือกป้องกันเฉพาะคนที่เกิดถ่ายเหลวแล้วจะมีปัญหา (หลักฐานสนับสนุนอ่อนมาก) แล้วคำว่ามีปัญหาคืออะไร ในแนวทางยกตัวอย่างกรณีแบบนี้นะครับ
- หากเกิดถ่ายเหลวรุนแรงจะไม่สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้สะดวก
- ไปแข่งขันกีฬา ที่หากถ่ายเหลวขึ้นมา อาจจะหลุดวงโคจรลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีก
- เกิดถ่ายเหลวขึ้นมาแล้วอาจมีปัญหาค่าใช้จ่าย
ไม่ได้แนะนำทุกราย เพราะถ้าใช้มากเกินโดยไม่จำเป็นเชื้อจะดื้อยา หรือเกิดอันตรายจากการใช้ยา ให้ระวังเรื่องสุขอนามัย หรืออย่าไปกินอะไรที่มันแผลง ๆ จนเกินไป
ถ้าจะป้องกัน ใช้ bismuth subsalicylate มีหลักฐานสนับสนุนมากที่สุด รองมาด้วยยา rifaximin แม้ข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพมีน้อยกว่า แต่หลักฐานมากกว่าว่าผลข้างเคียงไม่ค่อยมาก
ไปย้อนดูการศึกษาต้นทาง ส่วนมากก็ศึกษาที่คนสุขภาพดีเช่นทหารหรือนักวิจัย ที่เข้าไปทำงานในประเทศเม็กซิโก มีรายงานวิจัยจากอาเซียนเราบ้างเล็กน้อย
สรุป..เรา ๆ ท่าน ๆ ที่ไปเที่ยวกันก็ไม่ต้องป้องกันด้วยการกินยานะครับ
การรักษา
ถ้าอาการไม่รุนแรง ก็แค่ดื่มน้ำเกลือแร่ก็พอ หรือสามารถใช้ยาลดการเคลื่อนที่ของลำไส้ loperamide ในช่วงสั้น ๆ ...ย้ำนะครับ ยาลดการเคลื่อนที่หรือยาหยุดถ่าย มีข้อบ่งใช้น้อยมาก นี่คือหนึ่งในนั้น ถ้าเป็นการถ่ายเหลวติดเชื้อห้ามใช้นะครับ
ถ้าอาการปานกลาง ก็ยังแนะนำดื่มน้ำเกลือแร่ ประคับประคองแต่ไม่มีคำแนะนำการใช้ยาลดการเคลื่อนที่ลำไส้แล้วนะครับ
และถ้าอาการรุนแรง ก็แนะนำว่าควรใช้ยาฆ่าเชื้อ อันนี้คำแนะนำหนักแน่น หลักฐานเพียบ
ใช้ยาอะไร ยาที่แนะนำคือ azithromycin 1000 มิลลิกรัม ครั้งเดียวพอ หรือ rifaximin วันละ 600 มิลลิกรัมเป็นเวลาสามวัน ... ส่วนยายอดฮิต fluoroquinolone ไม่ว่าจะเป็น ofloxacin, levofloxacin, ciprofloxacin สามารถใช้ได้หากเชื้อในบริเวณนั้นไม่ดื้อยา จากข้อมูลประเทศในกลุ่มอาเซียนของเรา อัตราการดื้อยา fluoroquinolone เริ่มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนผลข้างเคียงที่สำคัญอันหนึ่งของยา fluoroquinolone หาอ่านได้จากโพสต์อันลือลั่นโพสต์นี้
หวังว่าเราคงจะเข้าใจและไม่ใช้ยาฆ่าเชื้อกันเกินจำเป็นนะครับ
ส่วนประเด็นสำคัญที่สุดคือ ผมไปกินเมนูที่เห็นตามภาพแล้วท้องเสีย สงสัยจะกินคนเดียว เลยเอามาฝากเพื่อน ๆ ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม