12 กุมภาพันธ์ 2563

โรคหืดกำเริบ อัพเดต 2020

เอางานร้อน ๆ มาฝาก : โรคหืดกำเริบ อัพเดต 2020
เพิ่งตีพิมพ์เมื่อเช้า ดาวน์โหลดฟรี (สมัครสมาชิกก่อน) เรื่องราวของการจัดการโรคหืดกำเริบ แบบอัพเดตจากของเดิม...นั่นคือต้องอ่านของเดิมมาก่อนนะ แต่ผมขอเล่าแบบบ้าน ๆ เพื่อคนทั่วไปจะได้เข้าใจและนำไป "ประยุกต์" ใช้ ช่วยหมอได้อีกทาง
1. กำเริบ ... แน่ละว่ากำเริบแบบหอบแฮ่ก ๆ หืดขึ้นคอ อันนี้มันชัดเจน แต่อย่าลืมแบบไม่ชัดที่เราอาจพลาดไปว่านี่ก็กำเริบนะ เช่น ไอมากขึ้น เหนื่อยมากขึ้น และการประเมินด้วยเครื่องวัด peak expiratory flow rate ที่ห้องฉุกเฉินก็ช่วยแยกความรุนแรงได้ ..อย่าแปลกใจถ้าไปห้องฉุกเฉินแล้ว "ต้องเป่า"
2. สเตียรอยด์พ่น ... การควบคุมหอบหืดนั้น การใช้ยาสูดสเตียรอยด์สำคัญมาก ใส่ยมกยกกำลังสาม การขาดสเตียรอยด์เป็นสาเหตุอันหนึ่งของการกำเริบเลย และหากกำเริบแล้ว การเพิ่มขนาดยาสูดพ่นสเตียรอยด์จะช่วยลดการกำเริบต่อไปได้ดี แม้จะมีเชื้อราในปากมากกว่าก็ตาม และเมื่ออาการดีแล้วจึงลดขนาดสเตียรอยด์พ่น ในผู้ป่วยที่รู้จักตัวโรคและการใช้ยาที่ดี อาจแนะนำให้เพิ่มยาสูดพ่นสเตียรอยด์เมื่อมีอาการกำเริบแบบไม่รุนแรงได้ เรียกว่าการทำ asthma action plan เมื่ออาการดีให้มาปรับลดทีหลัง ปัจจุบันยาสูดสเตียรอยด์ในการรักษาโรคหืดจะมาร่วมกับยาสูดขยายหลอดลม ก็ใช้อันนั้นได้เช่นกัน
3. การให้ยาปฏิชีวนะ macrolide เพื่อกันการกำเริบ ... อันนี้ต้องแยกกันก่อน ถ้ากำเริบเพราะการติดเชื้อก็กินเพื่อรักษาการติดเชื้อ หากจะกินเพื่อป้องกันการกำเริบ อันนี้มีทั้งข้อมูลที่บอกว่าได้ผลและไม่ได้ผล การให้เพื่อ "ป้องกัน" จะต้องพิจารณาผลดีผลเสียเป็นรายคนไป
4. การใช้ยาที่ห้องฉุกเฉิน
4.1 แน่นอน ยาสูดพ่นแบบออกฤทธิ์เร็ว และยาฉีดสเตียรอยด์ ต้องใช้แน่ ๆ ข้อมูลที่น่าสนใจตรงนี้คือ ระหว่างใช้ยาพ่นแบบกดสูด หรือใช้อุปกรณ์การพ่นยา ความสำเร็จไม่ต่างกัน เมื่อพ่นถูกวิธี ดังนั้นถ้าโรคกำเริบและยังมีแรงสูด มีสติดีพอ ใช้ยาพ่นขยายหลอดลมแบบที่ไว้ใช้แก้ไขอาการเฉียบพลันได้ ยิ่งอยู่ไกลมือหมอ ก็ใช้ไปก่อน พอมาถึงโรงพยาบาลส่วนมากจะได้รับการพ่นยา เพราะคนที่มาโรงพยาบาลมักจะหอบมากจนแรงสูดไม่ดี การกดยาไม่ได้จังหวะ
4.2 ยา magnesium sulfate เป็นยาอีกหนึ่งตัวที่ใช้รักษาหืดกำเริบได้ ยาตัวนี้น่าจะมีทุกที่เพราะเป็นยาฉุกเฉินในการรักษาครรภ์เป็นพิษนั่นเอง แต่เนื่องจากยาก็ไม่ได้ปลอดภัย การติดตามการทำงานของไต การติดตามการทำงานของกล้ามเนื้อจึงสำคัญมาก ใน รพ.ที่ไม่มีเครื่องช่วยหายใจ อาจใช้ยาตัวนี้ได้
5. สารชีวภาพ ... เพื่อไปปรับแต่งภูมิคุ้มกัน มีบทบาทมากขึ้นในการควบคุมโรคหืดเรื้อรังโดยเฉพาะพวกที่คุมอาการไม่อยู่ แต่ยาตัวนี้ยังแพงมาก ราคาสูงลิบ ถ้าจะเอามาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ไหม มันก็พอมีข้อมูลกับยา benralizumab ซึ่งข้อมูลที่มีมันยังน้อย แม้จะได้ผลก็ตาม อีกอย่างมีใช้น้อยมากในประเทศ แพงมากด้วย ตอนนี้อาจยังไม่คุ้มค่า
ที่มา
Zaidan MF, Ameredes BT, Calhoun WJ. Management of Acute Asthma in Adults in 2020. JAMA. 2020;323(6):563–564. doi:10.1001/jama.2019.19987

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม