22 กุมภาพันธ์ 2563

บาดทะยัก โรคที่ป้องกันง่ายมากแต่รักษายากที่สุด

บาดทะยัก โรคที่ป้องกันง่ายมากแต่รักษายากที่สุด
โรคบาดทะยัก เกิดจากเชื้อโรคที่ไม่ใช้ออกซิเจนหายใจชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Clostridium tetani หลาย ๆ คนคิดว่าโรคนี้หมดไปแล้ว แต่ว่ายังนะครับ ยังพบอยู่ประปราย เราจะมาดูว่าทำไมมันจึงถูกคิดว่าหายไป และทำไมมันจึงไม่หายไป
ถ้าคุณยังจำภาพฟันผุและมีหนองใต้คางเมื่อวานนี้ได้ หนึ่งในเชื้อโรคที่อาจก่อโรคได้คือ Clostridium perfringens ที่สามารถทำให้เกิดแก๊สในเนื้อเยื่อที่เรียกว่า gas gangrene ทำให้ต้องผ่าตัดระบายหนองและให้ยาเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจน เจ้า Clostridium tetani เป็นญาติกับเจ้า perfringens นี่เอง และถ้าผมเล่าเรื่องกรณีศึกษารายนี้เพิ่มขึ้นอีกคือ ผู้ป่วยใช้เส้นลวดไปแคะและแยงจุดที่ปวดฟันอีกด้วย ทำให้เป็นเหตุมากล่าวถึงบาดทะยักในวันนี้
เมื่อเกิดบาดแผลเกิดขึ้น โอกาสจะเกิดบาดทะยักเกิดขึ้นทันที หนึ่งในมาตรการการรักษาแผลคือให้ยาฉีดป้องกันบาดทะยัก ถ้าไม่เคยฉีดยามาก่อนก็ให้ฉีดจนครบสามเข็ม ในอดีตเราจะใช้ tetanus toxoid แต่ปัจจุบันจะแนะนำให้มีการใช้ dT คือ diphtheria-tetanus คือมีการป้องกันคอตีบร่วมด้วย และหากไม่เคยฉีดวัคซีนไอกรนมาก่อนหรือยังไม่กระตุ้น แนะนำให้มีวัคซีน Tdap คอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก หนึ่งครั้งในช่วงชีวิต
แต่ถ้าเคยได้รับวัคซีนมาก่อนให้มาพิจารณาที่ลักษณะบาดแผล
ถ้าบาดแผลสกปรก มีฝุ่น ผง สนิม สิ่งสกปรก น้ำลาย สัตว์กัด ให้ฉีดกระตุ้นหากได้รับวัคซีนมาเกิน 5 ปี
ถ้าบาดแผลเล็กน้อยและไม่สกปรก ให้ฉีดกระตุ้นหากได้รับวัคซีนมาเกิน 10 ปี
*** ดูว่าง่าย แต่ว่ามีคนที่เข้ารับการฉีดและฉีดครบตามกำหนด .. มีน้อยมาก โรคบาดทะยักจึงยังอยู่ ***
หากมีอาการของโรคแล้ว หรือ ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนและเกิดแผลสกปรก ... ให้ฉีด tetanus human immunoglobulins เพื่อรักษาและป้องกันด้วย ถ้าใครเคยอ่านแนวทางหรือเคยมีแผลในยุคก่อนหน้านี้ จะคุ้นเคยกับ tetanus antitoxin อันมีที่มาจากสัตว์ทดลอง โดยเฉพาะม้า ทำให้มีโอกาสเกิดปฏิกิริยากับร่างกายมนุษย์ได้และยังต้องใช้ขนาดยาในขนาดสูงด้วย
ปัจจุบันใช้ human TIg ที่มาจากวิศวกรรมพันธุศาสตร์ เป็นโปรตีนอิมมูโนโกลบูลินที่มาจากมนุษย์ เข้ากันได้กับมนุษย์ โอกาสเกิดปฏิกิริยาลดลงมาก ใช้ขนาดยาลดลงมาก ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ตอนนี้เราไม่ค่อยมียาหรือโปรตีนจากสัตว์มาใช้ในคนแล้ว การศึกษาการใช้ human TIg พบว่าลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคบาดทะยักในผู้ที่เป็นบาดทะยัก (แต่อัตรานั้นยังสูง ป้องกันจึงดีกว่ารักษา)
ขนาดที่ใช้ .. ป้องกัน .. 250 IU ฉีดเข้ากล้าม
ขนาดที่ใช้ .. รักษา ..... 5000 IU ฉีดเข้ากล้ามและฉีดรอบแผล
ผู้ป่วยฟันผุรายนั้นได้รับการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนและอิมมูโนโกลบูลิน เพราะไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน และเป็นแผลสกปรกติดเชื้อในชั้นลึก
สำหรับคุณ การฉีดวัคซีนบาดทะยักให้ครบและบันทึกเอาไว้ เป็นสิ่งสำคัญมากนะครับ
น่าอ่านแต่ไม่ฟรี
Lam Minh Yen,C Louise Thwaites.Tetanus.VOLUME 393, ISSUE 10181, P1657-1668, APRIL 20, 2019
https://www.thelancet.com/…/PIIS0140-6736(18)3313…/fulltext…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม