16 กุมภาพันธ์ 2563

mean arterial pressure 65

เล่าให้ฟังกับตัวเลข 65
ตัวเลข 65 ที่จะมาเล่าให้ฟังวันนี้คือตัวเลขของค่าความดันเลือดแดงเฉลี่ย (mean arterial pressure) อะฮ้า..ตอนนี้ทุกคนคงกำลังหลับตาคิดว่าความดันเลือดแดงเฉลี่ยคือเอาตัวบนบวกตัวล่างแล้วหารสอง ไม่ใช่นะครับ ความดันเลือดแดงเฉลี่ยมีสูตรคำนวณต่างหาก
ความดันเลือดแดงเฉลี่ย ชื่อก็บอกแล้วคือคิดว่าที่ค่านี้ตำแหน่งนี้ ประมาณการว่าอวัยวะทุกส่วนของร่างกายที่ความดันเลือดแดงประมาณนี้ เจ้าความดันเลือดแดงที่ไป ณ จุดต่าง ๆ มันจะบ่งบอกถึง perfusion pressure คือความดันเลือดที่ใช้เพื่อส่งอาหาร น้ำ ออกซิเจน ไปให้เนื้อเยื่อที่จุดต่าง ๆ ในลักษณะแปรผันตรงตามกัน ความดันดี อาหารและอากาศก็มาดีด้วย
แต่ร่างกายคนเรามีระบบเซฟตี้ที่ยอดเยี่ยมกว่านั้น ร่างกายคนเราพบว่าระดับที่ความดันเลือดแดงที่ประมาณ 60-70 มิลลิเมตรปรอทนี่แหละ ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้พอ โดยที่ไม่ต้องใช้แรงปั๊มจากหัวใจมากเกินไป ไม่ต้องใช้ระบบควบคุมหลอดเลือดมากเกินไป และถัวเฉลี่ยเลือดให้เพียงพอพอเพียง เรียกว่าใช้พลังงานทุกหยาดหยดให้คุ้มค่า และประโยชน์สูงสุด
เราเรียกระบบควบคุมนี้ว่า "autoregulation" ด้วยระบบประสาทอัตโนมัติ กล้ามเนื้อเรียบหลอดเลือด สารของเสียและคาร์บอนไดออกไซด์ที่คั่ง ตัวอย่างที่ดีคือ autoregulation ในสมอง เมื่อความดันเฉลี่ยถึงระดับหนึ่ง ความดันเพื่อใช้ส่งเลือดเข้าสมองจะคงที่ ควบคุมเลือดเข้าสมองให้คงที่ แต่เมื่อความดันเฉลี่ยเพิ่มจนถึงระดับหนึ่ง ระบบควบคุม autoregulation จะเริ่มใช้ไม่ได้ เลือดจะพุ่งเข้าสมองตามความดันเฉลี่ย แรงดันในกะโหลกจะสูงจนเป็นอันตรายได้
ระดับความดันเลือดแดงเฉลี่ยนี้ที่ยอมรับกันคือ ประมาณ 60-130 มิลลิเมตรปรอท เป็นที่มาของการรักษาความดันโลหิตเฉลี่ยให้ถึงประมาณ 60 มิลลิเมตรปรอท ในการรักษาภาวะช็อก เพื่ออย่างน้อยจะส่งเลือดไปเลี้ยงจุดต่าง ๆ ได้
สำหรับช็อกติดเชื้อ เรามีเป้าที่ว่า ความดันเลือดแดงเฉลี่ยที่ 65 มิลลิเมตรปรอท ก็จะน่าจะมีเลือดพอไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ สำหรับเมื่อมีอาการช็อกติดเชื้อนั้น ระบบ autoregulation จะเสียหาย เราจึงไม่สามารถคาดเดาเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ จากค่าความดันเลือดแดงเฉลี่ยได้อีก เราจึงใช้วิธีอื่นด้วยคือ ค่าความอิ่มตัวออกซิเจน ค่าแลคแตตในเลือด
ส่วนคำถามที่ว่าถ้าอย่างนั้น เราก็อัดความดันเลือดแดงมาก ๆ เลยสิเพื่อรับรองว่าเลือดจะได้ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้พอ ... ปรากฏว่า เมื่อเราเพิ่มความดันมากขึ้นไป อัตราการรอดชีวิตกลับไม่ได้เพิ่มขึ้น แถมยังมีอันตรายมากขึ้นอีก จากการที่
1. ต้องให้สารน้ำมากเกิน
2. ต้องใช้ยาเพิ่มความดันมากเกิน
3. หัวใจต้องทำงานหนักเกิน
เรียกว่าได้ค่ามากกว่า 65 อย่างที่ต้องการแต่ต้องเสี่ยงการทำงานอื่น ๆ ของร่างกายบกพร่องไป
เราจึงใช้ค่าที่ 65 นี่แหละกำลังดี ขึ้นลงเล็กน้อยตามแต่ละคน จากการศึกษา SEPSISPAM และ การศึกษา 65 trial เทียบว่าถ้าเราตั้งเป้าที่ 60-65 กับ มากกว่า 65 จะเป็นอย่างไร ก็ปรากฏว่าอัตราการเสียชีวิตและความเสียหายต่ออวัยวะต่าง ๆ ไม่ต่างกัน ถ้าเราตั้งเป้าต่ำกว่า ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาเพิ่มความดันมากมาย ผลเสียจากยาเพิ่มความดันก็ลดลง ทั้งหัวใจเต้นผิดจังหวะ แขนขาขาดเลือด ในอนาคตการตั้งระดับความดันเลือดแดงเฉลี่ยอาจปรับตามแต่ละคน เหมือนกับการศึกษาหลัง ๆ ของการให้สารน้ำเพื่อแก้ไขช็อก ที่ตอนแรกให้แบบมากล้นทุกคนจนถึงเป้า แต่หลัง ๆ บอกว่า ปรับตามแต่ละคนจะดีกว่า
ดังนั้นอย่าแปลกใจว่า เอ...ทำไมหมอบอกว่าช็อก ความดันต่ำ แต่ทำไมหมอถึงไม่ทำให้ความดันเพิ่มมาก ๆ ล่ะ ดูตัวเลขยังต่ำอยู่เลย ...ก็เพราะเรามีการศึกษาแล้วว่า แค่นี้ก็พอและไม่อันตรายมากไป เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประโยชน์สูงสุด
คุณล่ะ...คิดว่า 65 ok ไหม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม