24 กุมภาพันธ์ 2563

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นภาวะฉุกเฉินทางอายุรศาสตร์

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นภาวะฉุกเฉินทางอายุรศาสตร์
เมื่อมีอาการ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง ตรวจร่างกายพบอาการแสดงของการระคายเคืองเยื่อหุ้มสมอง คือ stiffness of neck มีการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อต้นคอเวลาจับงอต้นคอ และหากอาการรุนแรงอาจจะมีซึมลง สับสน อาเจียน
เมื่อมีอาการดังกล่าวคิอถึงการติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมองทันทีและต้องวางแผนในใจทันที จะเจาะตรวจน้ำไขสันหลังได้เมื่อไรให้เร็วที่สุด และจะใช้ยาอะไรให้เร็วที่สุด หากรักษาช้าอาจเกิดความพิการที่กลับคืนได้ยาก
เมื่อสงสัยให้รีบทำการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง และให้ยาฆ่าเชื้อทันที พยายามให้ภายใน 1 ชั่วโมงหลังวินิจฉัยทางคลินิก ยิ่งให้ช้ายิ่งเกิดความพิการ สิ่งที่จะทำให้ช้าคือ รอทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองก่อนเจาะหลัง ตามคำแนะนำมาตรฐานทั่วไป เราตรวจร่างกายระบบประสาทและดูจอประสาทตาแล้วหากไม่สงสัยรอยโรคที่ต้องถ่ายภาพก่อน เราก็ให้เจาะหลังได้เลย หรือหากจะต้องรอ ก็ให้ยาฆ่าเชื้อไปก่อนแล้วรีบทำการตรวจน้ำไขสันหลังให้เร็ว
ข้อบ่งชี้การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ก่อนเจาะตรวจน้ำไขสันหลังคือ
1. มีอาการทางระบบประสาทที่บ่งชี้รอยโรคเฉพาะตำแหน่งในสมอง (focal neurological deficits)
2. ชักเกร็ง
3. ซึมมาก สับสนมาก (glasglow coma score น้อยกว่า 10)
4. ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
เมื่อเจาะตรวจและส่งเพาะเชื้อหรือส่งหาเชื้อแล้วให้ยาฆ่าเชื้อ เอาล่ะการให้ยาฆ่าเชื้อต้องอาศัยสมบัติทางเภสัชวิทยาที่ยาสามารถเข้าสู่เยื่อหุ้มสมองได้ดี ฆ่าเชื้อได้ดี จากข้อมูลระบาดแล้วยังไม่ดื้อยา ด้วยความที่ฉุกเฉิน เราก็จำไปใช้เลยนะ
ยาที่ใช้รับรองว่ามีทุกโรงพยาบาลคือ
ceftriaxone 2 กรัม ให้ทางหลอดเลือดดำทุก 12 ชั่วโมง
cefotaxime 2 กรัมให้ทางหลอดเลือดดำทุก 6 ชั่วโมง
เพิ่มยา amplicillin กรณีสงสัยเชื้อ Listeria ขนาด 2 กรัม ทางหลอดเลือดดำทุก 4 ชั่วงโมง
vancomycin ร่วมกับยา rifampicin ในกรณี แพ้ยาเซฟาโลสปอริน
หลังจากนั้น จะใช้ยาตามความไวของการเพาะเชื้อหรือข้อมูลการระบาดพื้นฐาน เราก็มีเวลาไปเปิดตำราคิดทบทวนได้ เอาที่ด่วนก่อน หรือจะต้องไปแยกเรื่องของเชื้อไวรัส เชื้อวัณโรค หรือเชื้อรา ก็คิดต่อเนื่องจากนี้ได้
อีกข้อที่สำคัญคือ หากสงสัยการติดเชื้อแบคทีเรีย แนะนำให้ยาสเตียรอยด์ dexamethasone 10 มิลลิกรัมทางหลอดเลือดดำวันละสี่ครั้ง เพื่อลดความพิการโดยเฉพาะหูหนวก (ESCMID guidelines 2016) โดยให้ยาพร้อมกับให้ยาฆ่าเชื้อ ประเด็นคือจะสงสัยเชื้อแบคทีเรียนี่แหละ โดยส่วนตัวผมจะรีบเจาะหลังแล้วไปดูกล้องเลย สงสัยก็ให้สเตียรอยด์พร้อมยาปฏิชีวนะ หรือหากไม่สามารถพิสูจน์ได้เร็ว ก็ให้ก่อนแล้วหยุดหากมีข้อมูลเพิ่มว่าเชื้อก่อโรคไม่ใช่แบคทีเรีย
การรักษาแบบฉุกเฉินที่เหมาะสมจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและอัตราความพิการได้มาก หลังจากให้การรักษาด่วนไปแล้วก็ยังไม่จบ ต้องติดตามอาการ ปรับยา รักษาผลแทรกซ้อน และคิดถึงโรคอื่นที่มีอาการเหมือนกันเพื่อแยกโรคเสมอ
ภาพ ... เพาะเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง streptococcus suis ไข้หูดับ พบมากในคนที่กินหมูดิบหรือเจ้าพนักงานเขียงหมู ผู้ป่วยรายนี้ กินหมูดิบครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม