14 ธันวาคม 2560

ยาคุมกับมะเร็งเต้านม OBG social conference

ขอขอบคุณเพจ OBG social conference ลงข้อมูลนี้นะครับ อ่านง่าย เข้าใจดีทีเดียว
เป็นการถือโอกาสแนะนำเพจทางสูติ-นรีเวช ที่ผมติดตามอยู่ด้วย ไม่ได้ตามเฉพาะเพจทางอายุรกรรมนะครับ อ่านสาขาอื่นด้วย ทางเพจได้เตือนเรื่องการแปลผลวารสาร ที่ผมเห็นด้วยทีเดียว
ก่อนจะไปที่การแปล ผมขอยกตัวอย่างนี้นะ สมมติมีข่าวออกมาว่า ผลงานวิจัยของสถาบันแล็บแพนด้าออกมาว่า รถยนต์ยี่ห้อ A พบว่าสัมพันธ์กับการเกิดอุบัติเหตุชนเกาะกลางอย่างชัดเจน เปรียบเทียบคนใข้รถยี่ห้อ A กับยี่ห้ออื่น พบว่าอุบัติเหตุชนเกาะกลางมากกว่าอีกกลุ่มเกือบ 10% เมื่อตามการใช้งานไป 10 ปี ...เอ้า เปลี่ยนยี่ห้อดีไหม อย่าใช้มันเลยยี่ห้อ A
เกิดถ้ารถยี่ห้อ A เป็นที่นิยมของกลุ่มชอบขับรถเร็ว คุณคิดว่า ผลการศึกษานี้มันเอียงไหม ...
เกิดถ้ารถยี่ห้อ A มีโปรโมชั่น ซื้อรถแถมเหล้ากินฟรีตลอดการขับขี่ คุณคิดว่าผลการศึกษานี้เอียงไหม
ยังมีตัวกวน ตัวแปรปรวนอีกมาก จึงบอกได้แค่แนวโน้มความสัมพันธ์ ไม่ใช่เหตุผลตรงๆ
สำหรับการศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบ case control คือ กลุ่มนึงกินยาคุม และกลุ่มนึงไม่กินยาคุม ติดตามไปสิบปี พบว่ากลุ่มที่กินยามีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านม สูงกว่า "กลุ่มไม่กินยา" อย่างมีนัยสำคัญ โดยการปรับแต่งตัวแปรต่างๆแล้ว อายุ การสูบบุหรี่ ชนิดของยาคุม
แต่กลุ่มไม่กินยา...เขาก็มีมะเร็งเต้านมนะ และถ้าคิดตัวเลขที่เกิดมะเร็งเต้านมในคนที่กินยา ตัวเลขที่เป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นนั่นมันไม่ได้มากเลย ... งง งง ล่ะสิ
เอ้านี้ เอาแบบสุดโต่งนะ การใช้ยา A เกิดนมใหญ่ขึ้น 10 รายจาก 100,000 ราย ส่วนถ้ารักษาด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่ยา A คือเป็นกลุ่มควบคุม จะนมใหญ่ขึ้น 5 รายจาก 100,000 ราย ผมพาดหัวข่าวแบบนี้เลย ถ้าใช้ยา A นมจะใหญ่ขึ้นกว่าไม่ใช้ หนึ่งเท่าตัว คิดเป็น 200% นี่คือการเปรียบเทียบ "relative"
แต่ถ้าดู absolute จะเห็นว่าคนที่นมใหญ่ขึ้น แค่ 5 จากแสนคน หรือ ต้องใช้ยา 200 คนถึงจะนมใหญ่ขึ้นสักคน ยากกว่าถูกเลขท้ายสองตัวอีกนะ
เรียกว่า การแปลผลต้องมีทักษะที่จะทราบว่า ผู้วิจัยบอกความจริงอะไร จะแปลอย่างไรมีข้อจำกัดอะไร (อย่างเช่น คนที่เขาคิดว่าเขาเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม เขาก็ไม่ใช้ยาคุมอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเก็บกลุ่มตัวอย่าง ทำให้การกระจายตัวของกลุ่มตัวอย่างจริงๆก็ไม่ได้กระจายทั่วๆเท่าๆกันจริงนัก)
การศึกษานี้เป็นการทำเพื่อพิสูจน์ข้อสงสัย ว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ... ไม่ใช่ว่าเป็นเหตุเป็นผลกันหรือไม่..ก็สรุปว่ามีความสัมพันธ์กันจริง คนที่ใช้ยาคุมก็ต้องตระหนัก ห้ามละเลยการคัดกรองมะเร็งเต้านม (ซึ่งไม่ว่ากินยาคุมหรือไม่ก็ควรทำอยู่แล้ว)
การศึกษานี้ไม่ได้หวังผลออกมา หรือเมื่อทำออกมาแล้ว ...จะเลิกใช้ยาคุมเพราะมันเสี่ยงกว่าตามการทดลอง อย่าตื่นกลัวจนเกินไปนะครับ ขนาดปัญหามันไม่ได้มากมายและอย่าลืมว่า พันธุกรรมเรื่องมะเร็งเต้านมเรา ต่างจากเดนมาร์กแน่นอน (เขาเป็นแดนโคนม...ไม่เชื่อดู..ขนาด)
สรุปได้ตามที่เพจ @OBG social conference ว่าเอาไว้คือ ใช้ยาคุมได้นะ ประโยชน์มากกว่าโทษ สำหรับคนที่ใช้อย่าละเลยการคัดกรองมะเร็งเต้านม สำหรับคนกลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านม การใช้ยาคุมคงต้องคุยปรึกษาผลดีผลเสียกับแพทย์ก่อนครับ (อันนี้คือกินเพื่อคุมกำเนิด การใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นจะสรุปตามนี้ไม่ได้นะครับ)
ขอขอบคุณเพจ @OBG social conference มา ณ ที่นี้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม