12 ธันวาคม 2560

Gag reflex

ท่านเคยโดนคุณหมอเอาไม้กดลิ้นแตะด้านลึกของลิ้นแล้วขย้อนหรือไม่ครับ  ..เราเรียกว่า Gag reflex..

  Gag reflex เป็นการตอบสนองของร่างกายที่ใช้ปกป้องร่างกายจากการสำลักหรือกลืนของลงหลอดลม เมื่อมีอะไรแตะ เพดานอ่อนและลิ้นไก่จะยกตัวขึ้น กล้ามเนื้อหอคอยจะบีบตัว ปิดไม่ให้ลงหลอดลมและขย้อนสิ่งแปลกปลอมออกมา บางคนก็ถึงขั้นอาเจียนเลย
  การทำงานของ Gag reflex คือการรับประสาทรับความรู้สึกบริเวณโคนลิ้นและคอหอย (จากการถูกสัมผัสในการทดสอบ)  ผ่านเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 ชื่อ glossophayngeal nerve นำความรู้สึกเข้าไปที่ก้านสมองส่วน medulla oblongata แล้วไม่ต้องประมวลผลใดๆ เป็นช่องทางด่วนเลยว่าถ้าสัญญาณนี้เข้ามา ให้ส่งสัญญาณออกไปทันที ผ่านทางเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 ชื่อ vagus nerve ให้กล้ามเนื้อรอบคอหอย (constrictor muscle) บีบตัวขย้อนออก

   การทำงานแบบไม่ต้องผ่านกระบวนการคิดและแปลผลนี่แหละที่เรียกว่า รีเฟลกซ์ (reflex) เพราะถ้าผ่านกระบวนการคิดก็จะมีอีกหลายขั้นตอน ช้าเกินไป เหมือนเวลาเราเดินไปเหยียบเข็มหมุด แล้วชักเท้ขาระตุกขึ้นมาทันที อันนี้ก็เป็นรีเฟล็กซ์ระดับไขสันหลังเช่นกัน

  การแปลผลต้องใช้ความรู้เรื่องกายวิภาคระบบประสาทพอสมควร คือการรับความรู้สึกแยกรับซ้ายและขวา แต่เวลาขย้อนนั้น พร้อมกันทั้งซ้ายและขวา การตรวจแตะแล้วดูการตอบสนองทั้งซ้ายและขวาจึงเป็นการตรวจที่ถูกต้องและแยกได้ว่า ตกลงเส้นประสาทเส้นใดเสีย เส้นเก้าหรือสิบ ซ้ายหรือขวา   โดยส่วนมากที่จะเสียมักเป็นความผิดปกติที่เส้นประสาทโดยตรง หรือที่ก้านสมองส่วน medulla oblongata เช่น หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้านสมองตีบตัน
   ความเสียหายที่สมองด้านบน ที่เราพบบ่อยๆเวลาอัมพาตนั้น มักไม่ค่อยเสียหายตรงนี้ เพราะมีการควบคุมจากสมองใหญ่ทั้งสองด้านนั่นเอง

   การสูญเสีย gag reflex ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญในการสูดสำลัก และติดเชื้อในปอดจากการสูดสำลัก อันตรายลำดับต้นๆของการเสียชีวิตในผู้ป่วยอัมพาต การตรวจ gag  จึงมีความสำคัญ
   แต่ว่าการตรวจ Gag Reflex ก็ไม่ได้แนะนำให้ทำทุกราย เพราะมันเป็นการตรวจที่รุกล้ำ และไม่สุขสบาย จึงแนะนำทำการตรวจเฉพาะรายที่สงสัยโรคของระบบประสาทที่การตรวจมีประโยชน์ เช่น ตรวจสอบการป้องกันการสำลักในอัมพาต ตรวจสอบการทำงานของศูนย์ควบคุมที่ก้านสมอง การทำงานเส้นประสาท โรคของสารสื่อประสาท หรือ กล้ามเนื้อบริเวณคอหอย

  สำหรับการศึกษาหาความสัมพันธ์ของรีเฟล็กซ์การขย้อนและโรคปอดอักเสบจากการสูดสำลักก็ไม่ได้พบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนนัก  แต่ก็เป็นข้อมูลพื้นฐานในการระมัดระวังเรื่องการกลืนการสำลักได้ดีครับ หรือใช้เป็นตัวพยากรณ์โรคตัวหนึ่งเท่านั้น ในหลายๆปัจจัยที่มีได้ครับ  ตามที่ค้นมาและสามารถสืบๆหาวารสารมาอ่านได้  ส่วนมากเป็นวารสารทางแพทย์โสต ศอ นาสิกและลาริงซ์วิทยา ผมไม่ได้เป็นสามชิกครับ

Head Neck. 1996 Mar-Apr;18(2):138-41.
Clin Otolaryngol Allied Sci. 1993 Aug;18(4):303-7.
Rev Lat Am Enfermagem. 2015 Apr 14:0

   สำหรับคนที่ไม่ได้สงสัยความผิดปกติตรงนี้อาจลองคัดกรองก่อนโดยการให้ดื่มน้ำเปล่าครับ ถ้าดื่มได้ราบรื่นดี ก็ไม่น่าจะมีปัญหากระบวนการขย้อนครับ เพราะการกดโคนลิ้น บางครั้งก็ทำให้คนไข้คนนั้นไม่อยากไปหาหมอเลยก็ได้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม