09 ธันวาคม 2560

prone positioning

ถามจริงๆ ชอบท่าไหน..นอนหงาย นอนคว่ำ หรือตะแคง..หรือสลับกันครบทุกท่า
คุณเคยเห็นพยาบาลจับคนไข้ "คว่ำ" ไหมครับ เรามักจะเห็นผู้ป่วยหนักในไอซียูนอนหงาย มีท่อช่วยหายใจ หอบมาก แทบขยับไม่ได้ แต่ในบางกรณีเราก็จับคนไข้นอนคว่ำครับ กรณีที่ว่านี้คือ การมีภาวะการหายใจล้มเหลวอย่างรุนแรงที่เรียกว่า ARDS ภาวะนี้จะมีการรั่วของสารน้ำ สารอักเสบมาอยู่ในปอดและถุงลม ทำให้การแลกแก๊สทำไม่ได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจที่มีแรงดันสูง ผู้ป่วยจะอึดอัดทรมาน เกือบทุกรายต้องให้ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อให้ไม่ต้านเครื่อง ทำให้สามารถบังคับปอดและกล้ามเนื้อได้
การทำ คว่ำ หรือ prone positioning เป็นการเล่นกับพยาธิสภาพของปอด โดยเพิ่มเลือดไปเลี้ยงส่วนที่เต็มไปด้วยน้ำ เพิ่มลมที่ไปส่วนหลัง(ที่พลิกมาด้านหน้า) เพิ่ม FRC ..และอีกหลายประการ สรุปว่า สามารถลดอัตราการเสียชีวิตและเพิ่มกลศาสตร์ของลมที่ไหลเวียนได้ดี จากการศึกษาหลักที่ชื่อว่า PROSEVA สามารถลดอัตราการเสียชีวิตที่ 28 วันลงจาก 32% เป็น 16% ในกลุ่ม โรครุนแรง (PF ratio น้อยกว่า 150)
ดังนั้นคุณๆ อย่าแปลกใจถ้าหากไปเยี่ยมผู้ป่วยในไอซียูแล้วมีบางราย จับคว่ำ ยิ่งโรครุนแรงนั้น การทำแบบนี้ตั้งแต่ต้นและใช้เวลานานพอ ประมาณ 12-16 ชั่วโมงต่อครั้ง ดูแล้วอึดอัดแทนแต่ว่ามีประโยชน์ต่อคนไข้นะครับ
แต่...ไม่ง่าย !!!
เพราะทีมการรักษาเราใช้การนอนหงายเป็นมาตรฐานการรักษามานาน การจะจับคว่ำจึงดู ..ค้านสายตา... ต้องทำความเข้าใจกันดีๆ การจับคว่ำมันต้องใช้ความร่วมมือและทักษะที่ต้องอบรม ตำแหน่งสายสวน ตำแหน่งสายน้ำเกลือ ต้องจัดให้เหมาะสม สายติดคลื่นไฟฟ้าหัวใจก็อาจถูกรบกวน การให้อาหารก็จะต้องลดลงหรือมีมาตรการเพิ่ม เช่น ใช้เครื่องปั๊มเพื่อค่อยๆให้ช้าๆ ใช้หมอนรองใบหน้า สะโพก
ต้องคุยกันดีๆในทีม และคุยกับญาติด้วย ข้อที่ต้องระวังคือ มีแผลหรือรอยผ่าด้านหน้าลำตัว แรงดันในกระโหลกหรือช่องท้องสูง อ้วนมาก หรือ กำลังหัวใจวาย
สิ่งที่ต้องระวังคือ ท่อช่วยหายใจหลุด หรือ เสมหะอุดตัน ดังนั้นต้องมีการอบรมและฝึกอย่างถูกวิธี และติดตามอย่างสม่ำเสมอครับ
การศึกษาที่เพิ่งลงใน intensive care medicine ชื่อ APRONET study ศึกษาเรื่องการใช้ท่าคว่ำในไอซียู ประมาณ 20 ประเทศส่วนมากในยุโรป ว่ามีการใช้ prone มากน้อยแค่ไหน ต้องบอกก่อนว่าการศึกษา ARDS ส่วนมากอยู่ที่ยุโรป ก็พบว่ามีการใช้ท่าคว่ำประมาณ 32% ในผู้ป่วยกลุ่มอาการรุนแรง และประมาณ ไม่เกิน 10% ในอาการไม่รุนแรง ยิ่งอาการขาดออกซิเจนรุนแรงมากตั้งแต่ต้นก็จะมีโอกาสใช้ท่าคว่ำมากขึ้น ... แค่ 32% เองนะ ขนาดในแหล่งที่ทำการศึกษามากๆเองก็ตาม ผลที่ออกมาจริงๆก็ดีขึ้นทั้งหมด
สาเหตุที่ไม่คว่ำ ก็เพราะอาการไม่หนัก การไหลเวียนโลหิตยังไม่ดี หรือ ตัดสินใจไม่รักษาแบบเต็มกำลังหรือต้องการยุตินั่นเอง
เรายังมีโอกาสพัฒนาการดูแลผู้ป่วยในไอซียูอีกมากครับ หนึ่งในการดูแลนั้นคือ ท่าคว่ำ ที่ถ้าทำได้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยอีกมากครับ
ตกลงคุณ ชอบหงาย ชอบคว่ำ ชอบตะแคง ...หรือ ไม่ทำอะไรหรอก นั่งอยู่บนภูดูเขาคว่ำกัน แล้วแต่คุณตัดสินใจนะครับ
ปล. สาวมหาสารคามง๊ามงาม ท่าทางเกษียณแล้วคงได้ที่อยู่เปิดร้านหนังสือ ขายกาแฟ ทำขนมต้ม และ เล่านิทานก่อนนอนให้น้องๆฟังแล้ว ฮี่ๆๆๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม