02 ธันวาคม 2560

ไนเตรตไม่ช่วยอะไร

ข่าวการเสียชีวิตของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน และคุณ โจ บอยสเก๊าต์ ช่างเป็นที่น่าเศร้านัก สิ่งที่เราพบเห็นบ่อยๆกับเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันยังมีมาอย่างต่อเนื่อง ในปีที่แล้วผมได้ยกกรณีศึกษากับคุณสามารถ พยัคฆ์อรุณ แต่ในปีที่แล้วคุณสามารถสามารถผ่านพ้นเหตุการณ์มาได้
เอาล่ะ สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ผมขอส่งคำเตือนถึงประชาชนเราๆท่านๆทุกคน ให้เข้าใจและสามารถช่วยตัวท่านและคนที่ท่านรักได้ สิ่งต่างๆเหล่านี้ผมเอง องค์กรภาครัฐ คณะแพทย์ได้ทำการประชาสัมพันธ์มาตลอด และครั้งนี้ผมก็จะส่งข้อมูลนั้นอีกครั้ง
1. หลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ เรารู้แต่ว่าใครเสี่ยงมากน้อยกว่ากัน แต่ไม่สามารถหยั่งรู้หรือคาดเดาเวลาที่จะเกิด ไม่สามารถคาดเดาจากอาการใดๆได้ เราทำได้สองอย่างคือ ลดความเสี่ยงและรีบส่งหาหมอเมื่อเกิดอาการ
2. เมื่อเกิดเหตุเจ็บแน่นหน้าอกเฉียบพลัน สิ่งที่ควรทำคือไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดให้เร็วที่สุด ไม่ต้องคิดหาสาเหตุหรือทดลองการรักษาเองอย่างใดทั้งสิ้น ถ้ามีรถไปส่งให้ไปเลย ถ้าไม่มีรถโทร 1669 จำเลขนี้ไว้ เจ้าหน้าที่เขารู้จักอาการนี้ดีมาก
3. โรงพยาบาลทุกโรงพยาบาล มีมาตรการการรักษาและดูแลภาวะเจ็บหน้าอกเฉียบพลันอยู่แล้ว มีมาตรการรักษาและส่งต่อที่พร้อมทั่วประเทศแล้ว ที่มีพร้อมเพราะผลการศึกษาและการติดตามบอกเราแล้วว่า ยิ่งเร็วยิ่งดี โอกาสรอดยิ่งมาก โอกาสตายยิ่งลด ดังนั้นไม่ต้องเสียเวลารอ
4. ส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตมักจะเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง โอกาสรอดชีวิตไม่มากแม้จะช่วยทันทีก็ตาม แต่อย่างไรก็ต้องช่วยดังนั้นประสิทธิภาพจะสูงสุดหากทุกคนช่วยเป็น จะหาคนที่มาเป็นหน้าห้องฉุกเฉินยากมาก
5. การรักษาเพิ่อให้รอดชีวิตนั้น เกินความสามารถของเราๆท่านๆที่จะแสดงด้วยมือเปล่าได้ ต้องใช้ยาและเครื่องมือทั้งสิ้น ขั้นตอนต่างๆพิสูจน์และยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าว่าได้ประโยชน์และต้องทำ ทั้งการใช้ยาต้านการแข็งตัวเกล็ดเลือด ยาละลายลิ่มเลือด การใส่ขดลวดค้ำยัน และตอนนี้ประเทศไทยเราทำได้ดี ขอให้รีบส่งรพ.ทันที
6. การใช้ยาต่างๆ ขอให้คุณหมอและทีมเป็นผู้ให้ เราทำสองอย่าง ถ้าไม่มีชีพจรให้ช่วยชีวิต ถ้าไม่ต้องช่วยชีวิตให้รีบส่งรพ. เพราะต้องใช้ algorithm ที่ชัดเจน
**7. #ยากลุ่มไนเตรต ที่ช่วยลดอาการเจ็บหน้าอกนั้น จากแนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบบ STEMI หรือ NSTEMI หรือ Stable Ischemic Heart Disease มีบทบาทแค่โรคหลอดเลือดหัวใจที่มีภาวะความดันโลหิตสูงมากหรือหัวใจวายเฉียบพลันเท่านั้น ที่พอมีประโยชน์ลดอาการ ลดความดัน แต่การศึกษาเชิงประจักษ์ทั้งหมด บอกว่ายาไนเตรตไม่ลดอัตราการเสียชีวิต ลดอัตราการเกิดโรคหัวใจหรืออันตรายจากโรคหัวใจขาดเลือดได้เลย
หรือแม้แต่การลดปริมาณเลือดที่จะเข้าหัวใจและออกได้ดีขึ้น เป็นเพียงคำแนะนำระดับผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ไม่ได้เกิดจากการศึกษาที่ดี ส่วนมากมาจากทฤษฎี การติดตามคนไข้ การศึกษาในสัตว์ทดลอง และส่วนมากที่ได้ผลคือรูปแบบหยดเข้าหลอดเลือด ไม่ใช่แบบยาอมใต้ลิ้นหรือยากิน และประโยชน์ที่ได้ส่วนมากคือการลดอาการเจ็บปวดเท่านั้น ไม่ได้ช่วยอะไรกับอัตราการเสียชีวิตหรือผลที่ตามมาเลยแม้แต่น้อย (ESC,ACC ทุกแนวทางกล่าวเหมือนกัน)
และคำแนะนำให้ใช้นั้น แนะนำว่าใช้ได้เพื่อลดอาการ หรือความดันโลหิตสูง หรือ หัวใจวาย **ถ้าการให้ยาไนเตรตนั้น ไม่ไปขวางการรักษาที่จะได้ประโยชน์สูงกว่า หรือการให้ยาไม่ทำให้ระยะเวลาในการช่วยเหลือในสิ่งที่เกิดประโยชน์มาก ไม่ถูกเลื่อนออกไป
8. ส่วนการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบบเรื้อรังนั้น จะเกิดขึ้นเมื่อคุณหมอบอกว่าเป็นแบบตีบเรื้อรัง ห้ามคิดว่าฉันเรื้อรังจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามันไม่ใช่เฉียบพลัน คือ มีอาการเมื่อออกแรง หายได้ คลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่เปลี่ยน สารบ่งชี้การบาดเจ็บกล้ามเนื้อหัวใจในเลือดไม่สูง ..ส่วนมากก็จะวินิจฉัยได้จากอาการ การตรวจเดินสายพาน เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แม้การวินิจฉัยที่เป็นมาตรฐานคือการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ แต่ว่ายังไม่เป็นที่แนะนำทุกคนเพราะประโยชน์ที่ได้อาจไม่มากนัก
9. อันตรายที่สำคัญที่สุดคือ ความคิดของเราเอง ที่ว่าเคยตรวจมาแล้วปกติดี แสดงว่าหัวใจฉันดี หรือคงไม่เป็นโรคนี้ ตรวจทุกปีปกติ ...เพราะไม่มีการตรวจใดๆบอกถึงความผิดปกติที่จะเกิดเฉียบพลันได้ และการตรวจว่าปกติมันคือการตรวจ ณ ขณะนั้นเท่านั้น ท่านอาจเกิดอุดตันทันทีขณะออกจากห้องตรวจก็ได้
10. ท่านใดเสี่ยง ลดความเสี่ยงตั้งแต่วันนี้ไม่ต้องรอ จะปฏิบัติตัว จะกินยาก็เริ่มทำได้เลย สืบหาหนทางจะไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และถ้าเป็นไปได้เป็นโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการตรวจสวนหัวใจและขยายหลอดเลือดตลอดเวลาได้ก็ดีมาก ติดต่อไว้ ดูที่ดูทางไว้ ขอเบอร์ไว้เลย บอกคนที่บ้านไว้ด้วย เขียนเบอร์โทรตัวโตๆเอาไว้เลย
โอกาสเป็นของทุกคน ขึ้นกับว่าจะแสวงหาหรือไม่....แต่ความสำเร็จ เป็นของคนที่พร้อมกว่าเท่านั้น
ความดีและประโยชน์จากบทความนี้ ขออุทิศให้แก่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม