18 ธันวาคม 2560

ถ้าสามารถเจาะตรวจน้ำไขสันหลังได้อย่างปลอดภัยขึ้นจะดีไหม วารสาร Lancet ฉบับ 15 ธันวาคม 2560 ลงตีพิมพ์เรื่องราวของการเจาะตรวจน้ำไขสันหลังด้วยวิธีสองแบบว่าแตกต่างกัน และอาจเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติในอนาคต
การเจาะตรวจน้ำไขสันหลังถือเป็นวิธีตรวจที่ปลอดภัยมากวิธีหนึ่ง ผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้บ่อยคือ การฉีกขาดของเยื่อหุ้มสมองที่ต้องเจาะทะลุเข้าไป ทำให้มีน้ำไขสันหลังรั่วออกมาเป็นสาเหตุให้มีอาการปวดหัวหรือปวดหลัง จากการเจาะ ในรายที่ปวดมากอาจต้องให้สารน้ำชดเชยหรือบางรายต้องไปอุดรูรั่ว (epidural blood patch)
เข็มเจาะน้ำไขสันหลังแบ่งเป็นสองแบบ แบบแรกที่นิยมใช้กันมากเป็นเข็มปลายตัดปากฉลาม คมกริบทะลุทุกสรรพสิ่งจนถึงช่องเก็บน้ำไขสันหลังและไหลออกมา แบบที่สองเป็นแบบปลายมน แต่มีรูเปิดข้างๆให้น้ำไหลออกมาเวลาเข้าสู่ช่องเก็บน้ำไขสันหลัง
ถ้าเราคิดว่าเยื่อหุ้มสมองชั้นดูราและอาราคนอยด์ เปรียบเสมือนเสื่อที่สานกันถี่ๆ หุ้มไขสันหลังและน้ำเอาไว้ การใช้เข็มแบบแรกเสมือนการใช้มีดแทงลงไปตรงๆ เยื่อจะฉีกขาด มีรอยรั่วหลังจากถอนเข็มแล้ว แต่การใช้เข็มแบบปลายมน มันจะเหมือนเราเอาตะเกียบแหวกเสื่อ มันแค่แยกออกและฉีกเล็กน้อย การรั่วซึมและการบาดเจ็บน้อยกว่ามากๆ
ถ้าเราคิดตรงไปตรงมาแบบนี้ เข็มแบบที่สองน่าจะดีกว่า แต่ว่ายุคปัจจุบันต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์มาพิสูจน์ด้วย เดิมทีก็มีการศึกษานะครับแต่เป็นการศึกษาขนาดเล็กๆในแต่ละที่ ดังนั้นจึงเกิดการศึกษานี้ขึ้นเป็นการรวบรวมการศึกษายิบย่อยที่มีรูปแบบและเป้าประสงค์คล้ายกัน มาทบทวนแบบเป็นระบบ (systematic review) ว่าเข็มแบบไหนเกิดอุบัติการณ์ปวดหัวหลังเจาะมากกว่ากัน
รวบรวมมา 110 การศึกษา ประมาณสามหมื่นราย เป็นเข็มทิ่มแทง 18,000 เข็มแหวก 13,000 ตรงนี้จะเห็นได้ว่า แม้จะมีเข็มแหวกออกมานานแล้วแต่คนก็ยังใช้เข็มทิ่มแทงมากกว่า เพราะคุ้นชินมากกว่า ใช้งานง่ายกว่า แต่บอกก่อนว่า ประชากรส่วนมากในการศึกษานี้ ได้รับการเจาะไขสันหลังเพราะต้องการฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลังเพื่อระงับความรู้สึก มีส่วนน้อยเท่านั้นที่เจาะเพื่อตรวจน้ำหรือให้ยา
ปรากฏว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการใช้เข็ม atraumatic เข็มแหวก เกิดปวดหัว 4.2% ส่วนที่ใช้เข็มตัดแบบเดิม เกิดปวดหัว 11% ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
หรือแม้ไปดูวัตถุประสงค์อื่นๆ ไม่ว่าปวดหลัง หรือต้องรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อลดปวดก็ไม่ต่างกัน ความสำเร็จในการทำหัตถการก็ไม่ต่างกัน (การใช้เข็ม atraumatic ต้องมีทักษะและขั้นตอนยุ่งยากกว่า อย่าลืมว่าส่วนมากของการศึกษามาจากวิสัญญีแพทย์ ที่ถนัดทั้งสองแบบ หมอบ้านๆอย่างผมไม่ถนัดแบบ atraumatic เลย)
ก็สรุปว่า การใช้เข็มแบบแหวกนั้น สามารถลดการเกิดผลข้างเคียงหลังเจาะลงได้โดยอัตราความสำเร็จพอๆกัน (ในมือคนที่ทำเป็นและคุ้นเคยทั้งสองแบบนะ)
แต่จะนำมาใช้ได้ไหม ... ลองเหลือบมองดูตัวเลข ผลข้างเคียงของเข็มทิ่มแทงก็ประมาณ 11% ไม่ได้มาก จึงต้องนำมาคิดว่า การเปลี่ยนมาใช้เข็มที่ปลอดภัยกว่า แต่ถ้าราคาแพงมากอาจไม่คุ้ม หรือ คนใช้ไม่ชำนาญพอ จากที่ใช้เข็มแบบเดิมทำครั้งเดียว พอมาใช้เข็มใหม่แล้วไม่ถนัด จิ้มตั้งหลายรอบ ผลข้างเคียงและการบาดเจ็บมากขึ้นเสียอีก
เรียกว่า generalizability ไม่ได้ชัดเจนครับ และสำหรับทางอายุรศาสตร์เราใช้การเจาะเพื่อตรวจน้ำไขสันหลังหรือให้ยา มากกว่าการระงับความรู้สึกครับ การนำมาใช้อาจต้องระวังการแปลผลดีๆด้วย
นี่แหละ..แทงข้างหลัง ทะลุถึงหัวใจของจริง..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม