20 ธันวาคม 2560

หนาวมากๆ จะอันตรายหรือไม่

หนาวมากๆ จะอันตรายหรือไม่ จะหนาวตายได้ไหม คนนะไม่ใช่หมีขั้วโลก
มนุษย์รับความรู้สึกอุณหภูมิด้วยตัวรับที่ผิวหนัง และส่งสัญญาณสู่ไขสันหลังขึ้นไปที่ระบบประสาทที่สมองส่วนทาลามัส เพื่อรับรู้ร้อนเย็นโดยเป็นการรับรู้แบบเปรียบเทียบ คือเปรียบเทียบกับอุณหภูมิกายส่วนกลาง (core temperature) หากร้อนกว่าเราก็จะเริ่มระบายความร้อน หากเย็นกว่าเราก็เริ่มสร้างความร้อน เพื่อพยายามรักษาอุณหภูมิกายส่วนกลางให้คงที่มากที่สุด อุณหภูมิกายส่วนกลางก็ตีกลมๆ 37.0 องศาเซลเซียส
ทำไมต้อง 37 องศา เพราะการทำงานส่วนมากของร่างกายโดยเฉพาะการส่งกระแสไฟฟ้าของระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานได้ดีที่ตรงนี้ ยังรวมไปถึงการทำงานอื่นๆด้วยเช่นระบบฮอร์โมน ระบบโลหิต การควบคุมเกลือแร่ ถ้าผิดไปการทำงานต่างๆจะเริ่มรวน แต่อย่าลืมว่านี่คืออุณหภูมิกายส่วนกลางนะครับไม่ใช่อุณหภูมิอากาศหรือน้ำรอบๆ การวัดอุณหภูมิกายส่วนกลางจะใช้วิธีใส่ตัววัดลงไปในหลอดอาหาร ในกระเพาะปัสสาวะหรือในทวารหนัก ก็จะได้ค่าใกล้เคียงกับอุณหภูมิกายส่วนกลางมากที่สุด การวัดด้วยเทอร์โมมิเตอร์แบบต่างๆ ไม่ใช่ส่วนกลางนะครับเพียงแต่พอนำมาใช้ได้เพราะสะดวกกว่า
ร่างกายจะมีกลไกที่ช่วยรักษาอุณหภูมิให้คงที่ เมื่อหนาวๆ ร่างกายจะเริ่มลดเลือดที่ไปเลี้ยงผิวหนังเพื่อลดการสูญเสียความร้อน จะเห็นสีซีดจางลงบางคนออกสีม่วงๆก็มี ข้อนี้จะขัดกับการดื่มเหล้าเพราะการดื่มเหล้าจะทำให้หลอดเลือดส่วนปลายขยายออก สูญเสียความร้อนมากขึ้น จึงไม่ควรดื่มเหล้ามากๆในช่วงที่อากาศหนาวนะครับ ความเชื่อเรื่องกินเหล้าแก้หนาวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ต่อมาก็จะเริ่ม shivering มีการสั่นพร้อมๆกันของกล้ามเนื้อเพื่อสร้างความร้อน สร้างได้มากนะครับที่เห็นสั่นๆเนี่ย และส่วนมากเป็นการสั่นที่เราควบคุมไม่ได้ผ่านระบบประสาทอัตโนมัติ (โดยสมองส่วนใต้ทาลามัส หรือ ไฮโปทาลามัส ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิกายนั่นเอง) มีขนลุกด้วย แต่การสั่นต้องใช้พลังงานและมีจุดที่กล้ามเนื้ออ่อนล้าได้
ร่างกายส่วนอื่นก็จะช่วยสร้างความร้อนและลดการสูญเสีย เช่น เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนที่มีการสร้างน้ำตาลและพลังงาน การสลายไขมัน ลดการทำงานของไต เพื่อให้ร่างกายมีอุณหภูมิคงที่
แต่ถ้าเราไม่ช่วย ไม่รักษาความอบอุ่น ไม่เพิ่มการเคลื่อนที่ ความร้อนที่ร่างกายสร้างได้ก็จะสูญเสียไปกับสิ่งแวดล้อมเสียหมด เสียกับสิ่งแวดล้อมน้ำเย็นๆมากกว่าลมและอากาศ เพราะปัจจัยเรื่องลมมีควมสำคัญมากด้วย คราวนี้อุณหภูมิกายจะเริ่มลดลงแล้ว นี่เองที่เรียกว่า "cold stress" โดยเมื่อแกนกลางเริ่มเย็นตัวลงร่างกายจะเริ่มรวน สิ่งที่รวนมากสุดเร็วสุดและอันตรายคือ ความเร็วในการสื่อประสาท ทั้งในสมอง เส้นประสาท และกล้ามเนื้อ ทำให้เคลื่อนไหวช้า เคลื่อนที่ไม่ได้ดังใจ ดูแข็งๆขัดๆ
และถ้าเริ่มต่ำกว่า 34 จะเริ่มมีอาการสับสน หลงลืม พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง หายใจเร็วหอบ หัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะออกมาก และหากต่ำลงไปอีกคราวนี้ก็จะเริ่มเป็น "ขาลง"ของร่างกาย ใจเต้นช้า หายใจช้า สับสน ความคิดบิดเบี้ยวเพราะกระแสประสาทรวนหมดเลย หากลดต่ำลงไปถึง 32 การใช้ออกซิเจนจะเริ่มลดลง เซลจะเริ่มบาดเจ็บ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้าต่ำลงกว่า 26 ระบบการจัดการกรดด่างจะหยุดทำงาน ไม่มีปฏิกิริยากล้ามเนื้อ ต่ำกว่า 19 คลื่นไฟฟ้าสมองไม่สร้าง ต่ำกว่า 18 ไม่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
ต่ำกว่า 15 อันนี้ติดคุกแน่ๆนะครับ ไม่มีข้อลดหย่อนใดๆ ... ไม่ใช่ละ ต่ำกว่า 16 เป็นตัวเลขที่ถือว่าเป็นจุดต่ำที่สุดที่จะอยู่รอดได้จากภาวะ "accidental hypothermia"
เมื่อร่างกายเข้าสู่ความไม่สมดุล ขาดการปกป้อง ขาดพลังงานในการสร้างความร้อน กล้ามเนื้อสั่นจนถึงขีดสุดคราวนี้จะทรุดลงและอุณหภูมิจะลดลงอย่างรวดเร็ว จนสมองไม่สามารถสั่งงานให้ต่อสู้กับความหนาวเย็นได้ ก็จะหมดสติและนอนรอความตายอย่างไม่รู้ตัวเลย ซึ่งถ้ากินเหล้าก็จะยิ่งควบคุมสมองยากขึ้นนะครับ โอกาสหนาวตายมากขึ้นด้วยซ้ำ ในกลุ่มเด็กที่มีพื้นที่ผิวกายมากก็จะสูญเสียความร้อนมาก ในกลุ่มผู้มีประสบการณ์ทางอายุก็จะมีพลังงานสำรองน้อย จะเกิดอันตรายได้ง่าย
ดังนั้นเราจึงควรสวมเสื้อผ้าเพื่อปกคลุมให้มากที่สุด ลดการสูญเสียความร้อน อาหารก็น่าจะเป็นอาหารอุ่นๆ (ใครกินไอศกรีมก็ดูแปลกๆนะ) หากจะออกกำลังกายก็ควรสวมชุดป้องกันลมหรือออกกำลังในที่อบอุ่น ไม่ควรโชว์พาว กินอาหารให้เพียงพอและเดินออกแรง ให้เกิดพลังงานเพื่อความอบอุ่น หลีกเลี่ยงลมแรง และที่สำคัญไม่ดื่มเหล้าแก้หนาวนะครับ อันนี้ตายได้นะครับ จิบเล็กๆน้อยๆได้ แต่ให้กระดกยกลังแก้หนาวนั้นไม่ดีแน่ๆครับ
คงสรุปได้เองนะครับ ว่าหนาวนี้ จะทำอะไร
#จะนั่งกินลมดื่มบรั่นดีหรือจะสะกิดสามีเข้าห้องเรียน#
ปล. คนโสดจะหนาวนาน คนขึ้นคานจะหนาวตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม