24 ธันวาคม 2560

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวเรื่อง การตรวจสุขภาพ ตอนที่ 2

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวเรื่อง การตรวจสุขภาพ ตอนที่ 2
สำหรับคนที่ป่วยนะครับ ไม่แนะนำให้ไปตรวจสุขภาพเพื่อหาความผิดปกติเพื่อวินิจฉัยโรค สิ่งที่จะได้คือการตรวจที่เกินความจำเป็น และไม่สามารถแปลผลได้อย่างแม่นยำ เพราะเมื่อป่วย ร่างกายจะผิดปกติหลายประการ การไปจับเอาข้อที่ไม่สำคัญยกมาเป็นประเด็นสำคัญ นอกจากไม่ช่วยอะไร และยังพาไปสู่ความกังกลใจและการตรวจที่เกินความจำเป็น
เช่นปวดจุกแน่นท้องแสบท้อง หลังกินยาแก้ปวด แทนที่จะไปตรวจซักประวัติตรวจร่างกายกลับไปตรวจสุขภาพ เกิดมีอะไรผิดปกติขึ้นมาสักอย่างเช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจเต้นแทรกขึ้นมาเล็กน้อย (PVCs) ก็จะถูกหยิบยกมาเป็นข้อวินิจฉัย ถูกจับตรวจสารพัดโดยไม่ได้แก้ไขเรื่องการกินยาแก้ปวดหรือให้ยาเพื่อปกป้องเลย และเจ้าคลื่นไฟฟ้านั่นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย สุดท้ายอาจจะจบท้ายด้วยกระเพาะอาหารทะลุก็ได้
ดังนั้นถ้าป่วย ไม่ว่าป่วยมานานแล้ว หรือเป็นการเจ็บป่วยเฉียบพลัน ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยตามกระบวนการทางการแพทย์นะครับ ไม่ควรเลือกการตรวจสุขภาพเพื่อ..วินิจฉัย
สำหรับผลเสียที่จะเกิดได้ ผมคิดว่ามีความสำคัญอยู่สองอย่างคือ คิดมากเกินไป และ ไม่คิดอะไร มาดูแต่ละอันกัน
ตัวอย่างที่เป็นประเด็นร้อนเมื่อสองปีก่อน คือ การตรวจเลือดวัดค่า PSA (prostatic specific antigen) ที่นิยมตรวจในโปรแกรมสุขภาพ ด้วยประโยค คัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
ความเป็นจริงคือ นอกจากไม่เฉพาะเจาะจงอะไรกับมะเร็งเลย ยังทำให้เกิดความกังวลและเครียดกับคนที่ได้รับการตรวจ ต้องไปหาคำตอบว่าเกิดจากอะไร อาจต้องไปตัดชิ้นเนื้อ เอกซเรย์ อัลตร้าซาวนด์ และเกิดค่าใช้จ่ายกับอันตรายจากการผ่าตัด โดยที่ค่า PSA ที่สูงนั้น ไม่ได้หมายถึงโรคมะเร็งเท่านั้น
หมอที่ได้รับปรึกษาเองก็กังวล ถ้าเกิดไม่ทำอะไรแล้วเกิดคนไข้เป็นอะไรขึ้นมา ก็อาจเกิดปัญหาได้อีก หลายๆคนจึงเลือกจะทำการตรวจต่อไป ในขณะที่อีกหลายคนก็ไม่ตรวจต่อไปท่ามกลางข้อสนเท่ห์ของผู้ป่วยว่า มันเกิน"ค่าปกติ" นะ
ส่วนที่ว่าไม่คิดอะไร ก็คือ ประมาท เช่น ไปตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจพบว่าปรกติ จึงมั่นใจและประมาทว่าไม่เป็นโรคและจะไม่เป็นโรค เมื่อเกิดอาการเจ็บหน้าอกก็คิดว่าเคยตรวจคลื่นไฟฟ้ามาแล้วว่าปกติ หรือเคยเดินสายพาน เคยทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มาแล้วว่าปกติ จึงไม่ไปตรวจซ้ำ
อันนี้อันตรายมากๆ เพราะคลื่นไฟฟ้าหัวใจมันแปลผล ณ ปัจจุบันตอนที่ทำการตรวจเท่านั้น มันไม่ได้คาดเดาอนาคตว่าจะไม่เกิดอีก
หรือตรวจพบ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ตรวจครั้งใดก็พบมาตลอดห้าครั้งห้าปี ตัวเองก็ปรกติดี จึงไม่ได้สนใจอะไร ไม่มีการตรวจประเมินเรื่องการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีต่อไป ว่าเป็นแบบใด ขั้นใด ต้องรักษาหรือไม่ เพราะส่วนมาก ส่งผลไปให้ที่บ้านและแนะนำไปพบแพทย์
...เมื่อปกติดีจึงไม่ไปพบแพทย์...
มันจึงสับสนไปหมด อะไรที่ควรตรวจ ไม่ได้ตรวจ ...อะไรที่ไม่น่าตรวจ ก็ได้รับการตรวจมากมาย...อะไรที่แปลผลไม่ได้ ก็ถูกแปลผลอย่างเกินเลย...อะไรที่สำคัญก็ไม่ได้รับการใส่ใจ...
ทำให้การตรวจสุขภาพประจำปี ดูไม่มีความจำเป็นมากนัก ตรวจมากมายมหาศาลแต่ว่าใช้ได้น้อย
ถ้าจะยกตัวอย่างที่ชัดๆ คือ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการทำ Pap Smaer กลับละเลยกันทั้งๆที่ประโยชน์สูงมากและคุ้มค่า แต่คนกลุ่มเดียวกันกลับเลือกตรวจ tumor marker ทุกปี ทั้งๆที่มันไม่ได้มีการศึกษาและข้อบ่งชี้ในการตรวจเพื่อคัดกรองเลย
ยิ่งเราหลงในเทคโนโลยีที่ดูว่าดี แล้วเอามาจับแพะชนแกะ เอาการตรวจที่ใช้วินิจฉัยมาตรวจเพื่อคัดกรองเพียงเพราะมันดูดี ละเอียดดี ชอบเลย เอาละเอียดๆเลยนะ ตัวอย่างที่ดีคือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจ (CTA coronary and Coronary Calcium Score) ในคนที่ไม่มีอาการใดๆ มันไม่มีข้อมูลสนับสนุนเลยว่าเกิดประโยชน์ !!
แต่มันหรู ดูดี จำเพาะสูงในคนที่มีอาการและความเสี่ยง ไม่ใช่คนที่ไม่มีอาการ ทุกๆสมาคมแพทย์ไม่เคยแนะนำการตรวจแบบนี้เพื่อ "คัดกรองในคนปรกติที่ไม่มีอาการและความเสี่ยง" แต่อย่างใด
ผ่านมาสองตอน ผมจะสรุปว่า การตรวจโรคเพื่อคัดกรองมีไม่กี่อย่างเท่านั้นที่เกิดประโยชน์ ไม่ควรใช้การทดสอบมากมายมหาศาลเพื่อคัดกรอง ควรทำตามประวัติและความเสี่ยงที่มี
คนที่มีความผิดปกติหรือป่วย ให้เข้ารับการตรวจรักษาปรกติไม่ใช่การตรวจสุขภาพ
และถึงแม้ตรวจแล้วก็ต้องใช้ทักษะการแปลผล และสติสัมปชัญญะในการแปลผล ทั้งผู้ตรวจและผู้ให้การตรวจครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม