11 เมษายน 2560

ความทนน้ำตาล (glucose tolerance)

มีแฟนเพจถามไถ่กันเข้ามา ความทนน้ำตาล (glucose tolerance) คืออะไร ทำไม ทำไม ต้องทนน้ำตาล ... เพราะผม ไม่ทนน้ำตาล น้องน้ำตาล ทนไม่ได้ ใจละลาย

ร่างกายมนุษย์เราใช้พลังงานหลักคือ กลูโคส ซึ่งเป็นหน่อยย่อยที่สุดของน้ำตาลต่างๆไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลทราย (ซูโครส) น้ำตาลในนม (แลคโตส) หรือโมเลกุลของแป้ง ข้าว ก็เกิดจากน้ำตาลชนิดต่างๆมาจับตัวกันทางเคมี ก่อนที่ร่างกายจะนำข้าวแป้งน้ำตาลต่างๆไปใช้ก็ต้องย่อยสลายจนได้กลูโคส
เมื่อร่างกายได้กลูโคส ก็จะนำส่งกลูโคสผ่านระบบคมนาคมชั้นยอดคือหลอดเลือดไปถึงอวัยวะต่างๆที่ต้องการ แต่.แต่..การจะนำกลูโคสเข้าสู่เซลต่างๆนั้น จำเป็นต้องอาศัยฮอร์โมนที่ใช้ในการนำส่งน้ำตาลคือ ฮอร์โมนอินซูลิน เรียกว่าหลอดเลือดนำกลูโคสไปถึงหน้าบ้าน แต่อินซูลินทำหน้าที่โยนกลูโคสเข้าไปในบ้านคือในเซลนั่นเอง

เมื่อเรากินอาหารเข้าไป น้ำตาลก็จะถูกย่อยเข้าสู่กระแสเลือด ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น..ร่างกายไม่ทนนะครับ ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนอินซูลินออกมาเพื่อเก็บน้ำตาลไปที่เซลต่างๆ ถ้าเซลนั้นยังไม่ต้องการใช้เดี๋ยวนั้น ก็เก็บเป็นพลังงานสำรองในกล้ามเนื้อและไขมันไว้ก่อน น้ำตาลที่สูงนานๆในหลอดเลือดเป็นพิษครับ ถ้ากลไกนี้ทำงานได้ปกติเราก็เรียกว่าเราจัดการน้ำตาลได้ เราทนน้ำตาลได้ glucose tolerance
แต่ถ้าเราจัดการน้ำตาลไม่ได้ ระบบการจัดการบกพร่องไปจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ก็จะเกิดความผิดปกติน้ำตาลค้างอยู่ในหลอดเลือดนานเกิน (ปกติชั่วโมงกว่าๆเราก็จัดการน้ำตาลได้จนเป็นปกติแล้ว เอาเข้าไปในเซลไม่ได้) เซลที่ต้องการก็ใช้ไม่ได้ ส่วนเกินจะเก็บก็เก็บไม่ดี เรียกว่า glucose intolerance

ช่วงแรกๆของการจัดการไม่ดีก็เป็นช่วงหลังอาหาร หลังได้กลูโคส พอเป็นไปนานๆเข้าคราวนี้บกพร่องตลอดเวลาเลย แม้แต่ตอนที่อดอาหารนานๆ น้ำตาลก็ยังค้างอยู่ในหลอดเลือด เรียกว่า impaired fasting glucose (101-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) และนานเข้าก็กลายเป็น เบาหวาน คือน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหารมามากกว่า 6 ชั่วโมงมากกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
กว่าจะเกิดเบาหวานนั้น ร่างกายจัดการน้ำตาลไม่ได้มาสักพักแล้ว .. ดังนั้นในการวินิจฉัยโรคเบาหวานบางสถานการณ์ เช่น ตรวจเลือดสองครั้งก้ำกึ่ง ประวัติความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นเบาหวานก็อาจใช้วิธีที่ตรวจพบตั้งแต่ จัดการน้ำตาลไม่ได้ (glucose intolerance) หรือในภาวะตั้งครรภ์ที่น้ำตาลในร่างกายจะสูงขึ้น แล้วสงสัยว่าจะเป็นเบาหวานจากการตั้งครรภ์ไหม จึงต้องใช้วิธีที่สามารถตรวจ glucose tolerance นั่นเอง

การตรวจดูการจัดการของน้ำตาล ที่เรียกว่า oral glucose tolerance test คือให้งดอาหารมาให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดอาหาร (fasing) แล้วให้ดื่มสารละลายกลูโคส...สารละลาย glucose anhydrous 75 กรัม...ไม่ใช่น้ำตาลทรายนะครับและวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากเวลาผ่านไป 2 ชั่วโมง ว่าร่างกายจัดการน้ำตาลได้ไหม ถ้าค่าน้ำตาลในเลือดยังมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าเป็นเบาหวาน แต่ถ้าไม่ถึง 200 อยู่ในช่วง 140-199 ก็เรียกว่า impaired glucose tolerance ก็ยังไม่เป็นเบาหวานแต่เริ่มบริหารจัดการน้ำตาลได้ไม่ดีแล้ว ต้องระวังแล้วนะ

ส่วนการวินิจฉัยเบาหวานจากการตั้งครรภ์ มีลิงค์มาให้ครับ ผมเคยเขียนไว้แล้ว
http://medicine4layman.blogspot.com/2016/09/blog-post_14.html

คร่าวๆ รวบยอดง่ายๆ กับ glucose tolerance อ้างอิงจาก ADA 2017 และ joslin diabetic center

สรุปมีใครทน น้องน้ำตาลได้บ้าง..ยอมทนไม่ด้ายยย ยอมเป็นเบาหวานเลยทีเดียว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม