18 เมษายน 2560

decusstio pyramidum

เคยนึกสงสัยคำพูดของหมอไหมครับ .. หลอดเลือดแดงที่สมองด้านซ้ายตีบตัน ทำให้ร่างกาย "ซีกขวา" เป็นอัมพาต ทำไมถึงไขว้กัน

การเรียนการศึกษากายวิภาคของมนุษย์ทำให้เราทราบทางเดินกระแสประสาทว่ามีความซับซ้อนมาก สมองใหญ่ซีรีบรัม เป็นต้นทางของชุดคำสั่งการเคลื่อนที่ของร่างกาย เช่น เรากำลังจะไปถอนหมุดออกจากถนน ร่างกายจะผลิตชุดคำสั่งว่าจะต้องใช้กล้ามเนื้อมัดใด ออกแรงสลับกับมัดใด เพื่อให้เดินไปข้างหน้า แกว่งแขน บังคับทิศทาง รักษาสมดุล โดยยิงชุดคำสั่งออกมาเร็วมาก เร็วกว่าการทำงานของกล้ามเนื้อเป็นร้อยๆเท่า

ชุดคำสั่งนี้ เดินทางด้วยกระแสไฟฟ้า ไปสั่งงานกล้ามเนื้อ ผ่านจากผิวสมองใหญ่ ลงมาตามมัดเส้นประสาท (tract) ผ่านก้านสมองเพื่อจะลงไปสู่ไขสันหลัง ไปสั่งงานหน่วยปฏิบัติงานที่ไขสันหลัง ที่ใกล้และรู้ใจกล้ามเนื้อมากกว่าเบื้องบน ให้ทำงานตามสั่งต่อไป
ก่อนที่ชุดคำสั่งจะลงมายังไขสันหลัง ที่ก้านสมองส่วนสุดท้ายก่อนลงไปไขสันหลัง มัดเส้นประสาทจะมาไขว้กัน ซ้ายเปลี่ยนเลนมาขวา ขวาเปลี่ยนมาซ้าย เรียกบริเวณนี้ว่า motor decussation หรือชื่อเพราะๆมากๆว่า decusstio pyramidum

ทำให้เส้นใยควบคุมจากสมองซ้ายที่ลงมาทางซ้ายตลอด ย้ายไปอยู่ไขสันหลังซีกขวา ไปควบคุมหน่วยปฏิบัติงานกล้ามเนื้อซีกขวา และเป็นทิศทางตรงกันข้ามกับอีกฝั่งหนึ่ง
ไม่ใช่แค่การควบคุมการเคลื่อนที่นะครับ ยังมีอีกหลายส่วนที่ "ข้ามฝั่ง" เช่นการรับรู้การมองเห็น จำเส้นประสาทสมองคู่ที่สอง ที่คอยรับภาพได้ไหมครับ ก็ส่งเส้นใยส่วนใหญ่ข้ามฝั่งไปแปลภาพที่สมองซีกตรงข้าม การรับสัมผัสของร่างกายก็รับจากร่างกายซีกนั้น เข้ามาทางเส้นใยประสาทที่ไขสันหลัง แล้วก็ข้ามฝั่ง ทอดตัวในไขสันหลังฝั่งตรงข้ามไปสู่สมอง

คงถึงบางอ้อกันแล้วว่าทำไมหลอดเลือดแดงในสมองฝั่งซ้ายตีบ แต่ร่างกายซีกขวาจะอ่อนแรง (รายละเอียดทางเดินยิบย่อย ข้ามฝั่ง ไม่ข้ามฝั่ง วันหลังต้องเชิญ อ.ทัดดาวมาสอนครับ)
ว่าแต่ทำไมต้อง "ข้ามฝั่ง" ให้วุ่นวายด้วย มีสมมติฐานหลากหลายมากเลยครับ ผมพยายามตามค้น ว่าทำไม ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดๆ มีแต่ข้อสมมติฐานที่อ้างอิงทฤษฎีที่น่าสนใจ จากนักกายวิภาค หมอด้านประสาทวิทยา ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาททั้งหลาย มาเล่าให้ฟังครับ ท่านใดเคยได้ยินเรื่องราวอื่นๆ ก็มาบอกกันด้วยนะครับ

ทฤษฎีที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด (ในความเห็นส่วนตัว) คือ ทฤษฎีวิวัฒนาการ พบว่าสัตว์มีกระดูกสันหลังหลายชนิดที่มีการข้ามฝั่งแบบนี้ แล้วการประสานงานกันของหน้าที่การทำงานของสมองทั้งสองฝั่งเป็นไปได้ด้วยดี รวมทั้งในเรื่องที่ว่า ความสัมพันธ์ของการมองเห็นและการเคลื่อนที่ เพราะสัตว์จะมองเห็นและมีปฏิกิริยาโต้ตอบได้ดี จากการเห็นฝั่งตรงข้ามกับลูกตา สัตว์ที่เส้นประสาทตามีการไขว้กันตามวิวัฒนาการจึงอยู่รอดได้ดีกว่า และการข้ามฝากต่างๆก็อาศัยทฤษฎีนี้อธิบาย
ทฤษฎีย่อยๆอื่นที่พอเป็นไปได้คือ เวลาเราเจริญเติบโตในช่วงตัวอ่อน ร่างกายเรามีการหมุน บังเอิญว่าทิศการหมุนของสมองกับร่างกายมันไม่ไปทางเดียวกัน เลยมีการไขว้กันการข้ามฝากเกิดขึ้น
ทฤษฎีที่น่าคิดแม้จะดูตลกๆ คือ สมองสองซีกนั้นแยกกันเจริญ ทำคนละหน้าที่ ที่มีเส้นใยไขว้กัน ข้ามกัน ก็เพราะต้องการยึดติดกัน ไม่ให้ระบบประสาทสองซีกหลุดออกจากกัน !!!

แต่ยังไม่มีข้อใดสรุปได้ชัดๆนะครับ เราอธิบายตำแหน่งรอยโรคในสมองว่าทำไมตีบตรงนี้ อัมพาตตรงนั้นได้จากศึกษาทางเดินประสาท แต่คำตอบที่ว่า ทำไมต้องไขว้ ยังคงต้องค้นหากันต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม